ถุงร้อนหรือถุงเย็น เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

ถุงร้อนหรือถุงเย็น เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

16-12-2021
ถุงร้อนหรือถุงเย็น เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

        ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าถุงพลาสติกเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกที่สำคัญเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเดินไปที่ร้านขายถุงก็จะพบว่า มีถุงมากมายหลายแบบให้เลือก ทำให้เกิดความสับสนว่าแล้วจะเลือกใช้อย่างไรบ้าง แต่ละแบบเหมือนกันหรือไม่ โดยเฉพาะถุงที่ใช้สำหรับใส่อาหารที่ต้องคำนึงถึงความสะอาดและความปลอดภัยด้วย

        ส่วนใหญ่เรามักจะได้ยินผู้ใหญ่เรียกถุงชนิดต่างๆว่า ถุงร้อนกับถุงเย็น ทำให้เกิดความสงสัยว่าจริงๆ แล้ว ถุง 2 ชนิดนี้การใช้งานแตกต่างกันหรือไม่
ถุงร้อน คือ ถุงที่ใส่ของร้อนใช่หรือไม่ แล้วร้อนแค่ไหน ร้อนแบบน้ำเดือด หรือแค่อุ่นๆ แล้วใส่ของเย็นได้หรือไม่ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าใช้ถุงร้อนใส่ของเย็น 
ถุงเย็น คือ ถุงที่ใส่ของเย็น แล้วใส่ของร้อนได้หรือไม่ ใส่แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
        เกิดคำถามมากมายสำหรับการเลือกซื้อถุง สำหรับผู้บริโภคอย่างเรา ถ้าไม่ทราบก็จะถามผู้ขายว่าจะใช้แบบไหนดี แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าเราสามารถเลือกซื้อถุงพลาสติกชนิดต่างๆ ให้เหมาะแก่การใช้งานและปลอดภัยได้ด้วยตนเอง

เรามาเลือกถุงพลาสติกให้ถูกประเภทกันเถอะ

       พลาสติก เป็นผลิตภัณฑ์จากกระบวนการปิโตรเลียม โดยคุณสมบัติของพลาสติกจะแตกต่างกันตามตัวตั้งต้น เช่น พอลิเอทิลีน พอลิโพรพิลีน จึงทำให้ถุงพลาสติกมีคุณสมบัติแตกต่างกันด้วย

       ถุงเย็น ถ้าอ่านที่ฉลากจะเห็นคำว่า LDPE ชื่อเต็มคือ Low Density Polyethylene ซึ่งก็คือ พลาสติกพอลิเอทิลีนแบบความหนาแน่นต่ำ พลาสติกชนิดนี้จะใสแต่ไม่มีความมันวาว นิ่ม เหนียวและยืดหยุ่น ทนอุณหภูมิต่ำได้เป็นอย่างดี เราจึงเรียก ถุงที่ผลิตจากพลาสติกชนิดนี้ว่า ถุงเย็น โดยถุงเย็นจะสามารถทนอุณหภูมิต่ำได้มากถึง -40 องศาเซลเซียส ทำให้ถุงชนิดนี้ไม่กรอบและแตกเมื่อแช่ในช่องแช่แข็งปกติทั่วไป (ประมาณ – 18 องศาเซลเซียส) แต่ทนความร้อนได้เพียง 80 องศาเซลเซียสเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถใส่ของที่ร้อนแบบเดือดๆ หรือของที่ทอดใหม่ๆได้ ถ้าใส่จะทำให้พลาสติกเสียรูปและเป็นอันตรายได้

ถุงร้อน มี 2 แบบ คือ ถุงร้อนแบบใส และถุงร้อนแบบขุ่น 
        ถุงร้อนแบบใส ถ้าอ่านที่ฉลากจะเห็นคำว่า PP ชื่อเต็มคือ Polypropylene ลักษณะ ใสเหมือนแก้ว มันวาว พลาสติกชนิดนี้ทนความร้อนได้สูงมากกว่า 100 องศาเซลเซียส คือสามารถใส่น้ำเดือด หรืออาหารที่ร้อนจัดได้อย่างดี แต่ถุงชนิดนี้ไม่สามารถทนความเย็นได้ เมื่อแช่ช่องแข็งจะกรอบเปราะแตกได้ง่าย

         ถุงร้อนแบบขุ่น ในท้องตลาดจะเรียกทั้ง ถุงไฮเดน หรือถุงขุ่น ถ้าอ่านที่ฉลากจะเห็นคำว่า HDPE ชื่อเต็มคือ high density polyethylene เป็นพลาสติก พอลิเอทิลีนแบบความหนาแน่นสูง พลาสติกชนิดนี้จะ สีขุ่นขาว ไม่มีความมันวาว ถุงชนิดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจาก แข็งแรง น้ำหนักเบาและมีราคาถูก สามารถใช้งานได้หลากหลาย เพราะสามารถทนความร้อนได้ถึง 100 องศาเซลเซียส และทนความเย็นได้ถึง 0 องศาเซลเซียส จึงสามารถใส่อาหารที่ร้อนและเย็นได้ แต่ก็มีข้อควรระวังคือ ไม่สามารถใส่อาหารที่ร้อนถึงจุดเดือดได้และแช่ในช่องแข็งไม่ได้จะกรอบและแตกง่าย

สรุป

ชื่อในท้องตลาด สีฉลาก ชนิดพลาสติก ลักษณะ

ทนความเย็น
(อุณหภูมิต่ำ)

ทนความร้อน
(อุณหภูมิสูง)

ถุงเย็น

ฟ้า

LDPE ใส ไม่มันวาว เหนียว

แช่ช่องแข็งได้ ใช้ใส่ น้ำแข็ง 
อาหารแช่แข็ง หรือเก็บผักผลไม้ ได้

ร้อนเกิน 80 องศาเซลเซียส
จะเสียรูป อันตราย
ถุงร้อนแบบใส แดง PP ใส มันวาว ใส่ของเย็นได้แต่แช่ช่องแข็งไม่ได้
จะกรอบ แตก เปราะ
ใส่ของร้อนจัดได้อุณหภูมิ
มากกว่า 100 องศาเซลเซียส 
เช่น น้ำเดือด ของทอด

ถุงร้อนแบบขุ่น
ถุงไฮเดน
ถุงขุ่น

เขียว

HDPE

สีขาวขุ่น ไม่มันวาว ใส่ของเย็นได้แต่แช่ช่องแข็งไม่ได้จะกรอบ แตก 
เปราะเช่น ถุงน้ำหวาน ถุงหิ้วใส่น้ำแข็ง
และน้ำอัดลม เป็นต้น
ใส่ของร้อนได้ประมาณ 100 องศาเซลเซียส 
เช่น นมร้อน น้ำเต้าหู้ เป็นต้น

รู้เช่นนี้แล้ว ต่อไปเราก็สามารถเลือกซื้อถุงพลาสติกให้เหมาะสมกับการใช้งาน ทั้งสะดวกและปลอดภัย นะคะ

แหล่งอ้างอิง : Plastic Story พลาสติกแสนดีมีอยู่รอบตัว, http://thaiplastics.org/document_page.php?id=475 

เรียบเรียงโดย: นางสาวเกศวดี อัชะวิสิทธิ์

ข่าวสารที่่คล้ายกัน