ภาพจาก: http://www.abc.net.au/news/2016-02-19/mosquito-feeding/7181026
นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างยุงสายพันธุ์ใหม่ ที่จะช่วยในการต่อสู้กับโรคร้ายที่มียุงเป็นพาหะ ทั้งไข้เลือดออกและซิกา (zika)
สำนักข่าว ABC รายงานผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Peter Doherty แห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์ยุงลาย (Aedes aegypti) ภายในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการทำให้ยุงลายติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่ม Wolbachia สองชนิด ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออกสู่มนุษย์ได้
ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นถึงความสามารถในการเป็นตัวควบคุมทางชีวภาพของแบคทีเรีย Wolbachia ที่มียุงลายชนิดนี้เป็นพาหะ ต่อเชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ รวมถึงเชื้อไวรัสซิกา เชื้อไวรัสชิคุนกุนยา และเชื้อไวรัสไข้เหลือง ซึ่งจากการศึกษาในปีที่ผ่านมาพบว่ายุงลายที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia สายพันธุ์ wMel สามารถจำกัดการเพิ่มจำนวนของไวรัสก่อโรคในตัวยุงได้
จากการศึกษากับเชื้อไวรัสไข้เลือดออก แสดงให้เห็นว่า เมื่อ “ยุงติดเชื้อ” ไปกัดคนที่เป็นโรคไข้เลือดออก ความสามารถแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในเนื้อเยื่อ “ยุงติดเชื้อ” จะถูกจำกัด ด้วยเหตุนี้ ถ้าไม่มีเชื้อไวรัสไข้เลือดออกอยู่ที่ต่อมน้ำลายของยุง ยุงก็ไม่สามารถส่งผ่านเชื้อไวรัสไปสู่มนุษย์ได้ อีกทั้งแบคทีเรีย Wolbachia จะถ่ายทอดไปยังยุงตัวเมียรุ่นต่อไป ซึ่งนั่นหมายความว่าการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถแพร่กระจายไปยังประชากรยุงได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสพัฒนาความสามารถในการต้านทานต่อแบคทีเรีย Wolbachia ทีมนักวิจัยจึงได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ของยุงลายที่ติดเชื้อด้วยแบคทีเรีย Wolbachia ทั้งสายพันธุ์ wMel และ wAlbB ซึ่งผลจากห้องทดลองชี้ให้เห็นว่า สามารถลดการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสไข้เลือดออกในยุงได้เช่นกัน อีกทั้ง “ยุงติดเชื้อ” เหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้ดีกว่ายุงที่ติดเชื้อแบคทีเรียเพียงสายพันธุ์เดียว
Link ที่เกี่ยวข้อง
http://www.abc.net.au/news/2016-02-19/superinfected-mosquitoes-to-fight-dengue-zika-viruses/7180960