ทำไมต้อง 5G

ทำไมต้อง 5G

19-12-2021
ทำไมต้อง 5G

ปัจจุบันเราอาจได้ยินคำว่า 4G หรือ 5G กันมาบ้างแล้ว ซึ่งมักจะมาพร้อมกับการพูดถึงโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ต แต่ความจริงแล้ว 5G คืออะไรกันแน่ มีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตของเราอย่างไร แล้วทำไมต้องเป็น 5G บทความนี้อาจช่วยไขข้อสงสัยของคุณได้ไม่มากก็น้อย

5G คืออะไร?

หากสืบค้นข้อมูลมีผู้ให้นิยามของคำว่า 5G ไว้เยอะแยะมากมาย เราอาจสรุปความหมายของ 5G แบบสั้น ๆ เข้าใจง่ายได้ดังนี้ 5G หรือ 5th Generation คือ ยุคของเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายยุคที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพและความเร็วมากขึ้น ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายได้ เพื่อการใช้งานที่สะดวก ทุกที่ทุกเวลาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ก่อนจะมาเป็น 5G

วิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเครือข่ายไร้สายนั้นเริ่มขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2523 และถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ โดยแบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆ ดังนี้

• 1G ประมาณ พ.ศ. 2523 เป็นยุคที่ใช้การส่งสัญาณแบบแอนะล๊อก การสื่อสารไร้สายในยุคแรกเกิดจากการเชื่อมต่ออุปกรณ์รับและส่งสัญญานผ่านอากาศ เราสามารถส่งได้แต่เสียงเท่านั้น เราจึงใช้เทคโนโลยีนี้กับโทรศัพท์ไร้สายเป็นส่วนใหญ่

• 2G ประมาณ พ.ศ. 2533 ในยุคที่สอง เป็นยุคที่เริ่มใช้การบีบอัดข้อมูลแบบดิจิทัล และใช้คลื่นไมโครเวฟในการส่งสัญญาณ หากเราต้องการส่งข้อมูล ก็ต้องทำการร้องขอการเชื่อมต่อเป็นครั้ง ๆ ไป อีกทั้งโทรศัพท์ถูกพัฒนาให้มีหน้าจอที่สามารถแสดงผลข้อความ จึงทำให้เราสามารถส่งข้อความได้เพิ่มขึ้น เช่น การรับ - ส่ง SMS และ MMS เป็นต้น โดยในยุคนี้เรายังมีอุปกรณ์อีกอุปกรณ์หนึ่งเพิ่มเติมเข้ามานั่นคือ วิทยุติดตามตัว หรือ เพจเจอร์ (Pager) นั่นเอง

• 3G ประมาณ พ.ศ. 2544 ในยุคที่สาม เป็นยุคที่มีการบีบอัดข้อมูลและสามารถรับส่งได้ด้วยความเร็วที่สูงขึ้น จึงเป็นยุคเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตไร้สายในโทรศัพท์ คุณสมบัติเด่นที่แตกต่างจากยุค 2G ก็คือ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ Always On คือ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับโทรศัพท์ของเราแบบตลอดเวลา เราจึงสามารถส่งได้ทั้งเสียง ข้อความ ภาพ และวีดีโอสั้น ๆ สิ่งที่เราคุ้นเคยในยุคนี้ก็คือ การท่องอินเทอร์เน็ตแบบ WAP และ การ Video Call นั่นเอง

• 4G ประมาณ พ.ศ. 2552 ในยุคที่สี่ เป็นยุคที่มีการพัฒนาคุณสมบัติของอุปกรณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์รับ - ส่งข้อมูลที่บีบอัดได้เร็วขึ้น หน่วยประมวลผลที่ทำงานเร็วขึ้น แม้กระทั่งหน้าจอทัชสกรีนที่ทำให้การทำงานของโทรศัพท์มีความหลากหลายมากขึ้น เป็นยุคทองของอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน (Smart Phone) เราสามารถส่งได้ทั้งเสียง ข้อความ ภาพ วีดีโอ และไฟล์งานต่าง ๆ เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในการทำงานของเรา เช่น การรับ – ส่งอีเมล การเก็บไฟล์งานบนคลาวด์ (Cloud) อย่างเช่น Google Drive เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นยุคเริ่มต้นของโซเชียลมีเดีย (Social Media) อีกด้วย

• 5G ประมาณ พ.ศ. 2563 ในยุคที่ห้าเป็นยุคของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง กล่าวได้ว่าเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของทุกคนไปแล้ว อีกทั้งเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงโทรศัพท์อีกแล้ว ยังถูกใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ หรือที่เราคุ้นหูกันดีในชื่อ IoT (Internet of Things) หรือ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง นั่นเอง01

ทำไมต้องเป็น 5G?

ด้วยความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ความเร็วเพิ่มขึ้น การตอบสนองที่ไวขึ้น ทำให้คุณสมบัติของ 5G สามารถสนองความต้องการเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น อดีตเราพกสมาร์ทโฟนแค่เครื่องเดียวในการใช้งาน ปัจจุบันบางท่านอาจมีอุปกรณ์อื่นเพิ่มเติมเช่น แท็บเล็ต หรือเราอาจต้องเชื่อมต่อโทรทัศน์ ตู้เย็น หลอดไฟ กล้องวงจรปิด แอร์ ประตูบ้าน หรือแม้กระทั่งรถยนต์เข้ากับอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ทำให้เทคโนโลยี 4G ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อให้เห็นภาพรวม เราอาจต้องเปรียบเทียบคุณสมบัติระหว่าง 4G กับ 5G ดังรูป02

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี 5G มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นหลายด้านโดยอาจแยกเป็นหัวข้อได้ ดังนี้

• Latency
การตอบสนองไวขึ้น สามารถสั่งงาน และควบคุมสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือเรียกว่าแทบจะทันที เนื่องจากมีความหน่วงที่ต่ำ ตอบสนองได้ไวถึง 1 ส่วนพันวินาที

• Data Traffic
รองรับการ รับ-ส่ง ข้อมูลได้มากกว่า ถ้าเป็น 4G จะสามารถ รับ - ส่ง ข้อมูลได้ราว 7.2 Exabytes ต่อเดือน แต่สำหรับ 5G จะเพิ่มขึ้นราว 7 เท่า หรือ 50 Exabytes ต่อเดือน

• Peak Data Rates
เร็วแรงกว่าเดิม 5G มีความเร็วมากกว่า 4G ถึง 20 เท่า ซึ่งเร็วมากพอที่จะดูวิดีโอ 8K ออนไลน์แบบ 3 มิติ หรือดาวน์โหลดภาพยนตร์ 3 มิติ ได้ในภาย 6 วินาที

• Available Spectrum
ความถี่ให้เลือกใช้มากกว่า โดย 5G จะสามารถใช้งานคลื่นความถี่ได้จนถึง 30GHz ซึ่งเป็นความถี่ย่านใหม่ที่ไม่เคยมีการใช้งานมาก่อน

• Connection Density
รองรับการใช้งานที่มากกว่า รองรับจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากที่สามารถรับคนได้ราว 1 แสนคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. กลายเป็น 1 ล้านคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม.

เกี่ยวอะไรกับเรา?

แน่นอนว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งเทคโนโลยี 5G ก็เช่นกัน เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่มีประสิทธิภาพจะเป็นตัวกระตุ้น และเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานของเทคโนโลยีอื่น ๆ เราอาจเห็น 5G เข้าไปมีบทบาทในหลายด้าน เช่น

• เกษตรกรรม เราจะใช้เครือข่ายในการควบคุมโรงเรือนเพาะปลูก การให้น้ำ หรือแม้กระทั่งการเฝ้าระวังโรคที่จะเกิดขึ้นกับพืชของเรา Smart Farm จะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และทำให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

• ด้านธุรกิจ เราสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้า คู่ค้า และสามารถวิเคราะห์ตลาดได้เร็วขึ้น ทำให้คนทั่วไปมีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจได้มากขึ้น การสั่งสินค้าทางอินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นพฤติกรรมทั่วไป

• ด้านสุขภาพ เราจะสามารถเข้าถึงบริการทางสุขภาพจากผู้เชี่ยวชาญได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยผ่านการ Video Call หรือการรักษาผ่านอุปกรณ์พิเศษ อาทิการผ่าตัดทางไกล

• ด้านการศึกษา เราจะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลทางการศึกษาที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จากการสืบค้น หรือสื่อรูปแบบต่าง ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต การเรียน การสอน หรือการอบรมสัมมนา จะถูกจัดในรูปแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น

• ด้านความปลอดภัย กล้องวงจรปิดและอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ จะถูกเชื่อมต่อกับศูนย์กลางผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการวิเคราะห์พฤติกรรมอันตราย และแจ้งเตือนก่อนที่เหตุจะเกิดขึ้น

• ด้านคมนาคม ระบบอัตโนมัติต่าง ๆ จะถูกใส่เป็นระบบพื้นฐานของรถยนต์และขนส่งมวลชน รถส่วนบุคคลจะมีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ขนส่งมวลชนจะสามารถวิเคราะห์ปริมาณคนและปริมาณรถ รวมถึงระยะเวลาได้แบบ Realtime ทำให้ตรงเวลาและเพียงพอมากยิ่งขึ้น

• ด้านความบันเทิง เราจะใช้สื่อ มัลติมีเดียต่าง ๆ ผ่านระบบ Streaming และ Cloud Computing กล่าวคือ เราไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเล่นหรือคอมพิวเตอร์คุณภาพสูงอีกต่อไป เพียงใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เราก็จะดูสื่อความบันเทิงเหล่านี้ได้

• ด้านการใช้งานส่วนบุคคล เราจะใช้สมาร์ทโฟนในการควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในบ้าน การรับ - ส่งไฟล์ในการทำงาน การซื้อของออนไลน์ การดูการถ่ายทอดสด การทำธุรกรรมทางการเงิน เป็นต้น

เทคโนโลยีการสื่อสารยังคงถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง เครื่องมือและการบริการอื่น ๆ ยังถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ หากแต่เราอาจต้องปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี เพื่อทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายมากขึ้น และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันยุคทันสมัย เราอาจได้คุยกับเพื่อนแบบโฮโลแกรมสามมิติ หรือเราอาจมีแม่บ้าน AI คอยเป็นเลขาส่วนตัวของเราตลอดเวลาก็เป็นได้ หลังจากนี้เทคโนโลยีการสื่อสารจะหน้าตาเป็นอย่างไร เป็นความท้าทายเหนือจินตนาการยากจะตอบได้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะยังคงถูกพัฒนาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

 

ที่มารูปภาพ:

[1] https://twitter.com/InfoTechradix/status/1402872011521626115/photo/1
[2] https://policyforum.att.com/wp-content/uploads/2018/11/5G_Competition_Based_Model_1.pdf

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

[1] From 1G to 5G: A Brief History of the Evolution of Mobile Standards [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 18 ก.ค. 64) เข้าได้จาก https://www.brainbridge.be/en/blog/1g-5g-brief-history-evolution-mobile-standards
[2] 5G คืออะไร? เข้าใจ 5G ง่ายๆไม่ถึง 5 นาที [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 18 ก.ค. 64) เข้าได้จาก https://www.marketingoops.com/reports/understand-what-is-5g/
[3] 5G POLICY PRIMER: THE U.S. COMPETITION-BASED INDUSTRY MODEL IS WINNING THE GLOBAL “RACE” TO 5G [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 18 ก.ค. 64) เข้าได้จาก https://policyforum.att.com/wp-content/uploads/2018/11/5G_Competition_Based_Model_1.pdf

เรียงเรียง: ธานี หลินลาโพธิ์
ตรวจทาน: วรรณวจี สุจริตธรรม
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาต

ข่าวสารที่่คล้ายกัน