สภาพอากาศสุดขั้วที่ชาวโลกต้องพบเจอ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่พายุเฮอริเคน น้ำท่วมใหญ่ ไปจนถึงคลื่นความร้อนและภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศต่างๆ รู้หรือไม่ว่าปรากฏการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สภาพอากาศ VS. สภาพภูมิอากาศ
ก่อนที่เราจะทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราอาจต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างคำว่า “สภาพอากาศ” กับ “ภูมิอากาศ” เสียก่อน ทั้งนี้ โครงการพัฒนาโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ให้นิยามความหมายของทั้งสองคำไว้ดังนี้
“สภาพอากาศ (weather) หมายถึง สภาวะของชั้นบรรยากาศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ณ สถานที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งหมายรวมถึงอุณหภูมิ ความชื้น หยาดน้ำฟ้า ปริมาณเมฆ ลม และทัศนวิสัย สภาพอากาศไม่ได้เกิดขึ้นแยกกันหรือเป็นอิสระ แต่มีผลกระทบสืบเนื่องกัน สภาพอากาศในภูมิภาคหนึ่งจะส่งผลต่อสภาพอากาศที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตร” ในขณะเดียวกัน “ภูมิอากาศ (climate) หมายถึง ค่าเฉลี่ยของรูปแบบสภาพอากาศ (weather pattern) ในพื้นที่หนึ่งๆ ในระยะเวลาที่ยาวนาน โดยปกติคือ 30 ปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งแสดงถึงสภาพโดยรวมของระบบภูมิอากาศ”
เมื่อดูจากนิยามของทั้งสองคำดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ง่ายกว่าสภาพอากาศ เนื่องจากเป็นค่าเฉลี่ยระยะยาว ตัวอย่างเช่น เราสามารถบอกได้ว่าเกาะกรีนแลนด์มีอากาศหนาวเย็นกว่าประเทศไทยตลอดทั้งปี แตกต่างจากการที่เราจะบอกว่าพรุ่งนี้ฝนจะตกหรือไม่ มากน้อยเพียงใด
ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เมื่อเราพูดว่าสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว (extreme weather) เมื่อนั้นเรากำลังหมายถึง สภาพอากาศที่แตกต่างจากที่เรามักจะคาดหวังในสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในช่วงเวลานั้นๆ ของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสภาพอากาศที่ไม่ปกตินั้นกินเวลานาน อาจเป็นเวลาหลายวันหรือหลายเดือน และส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในวงกว้าง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้รูปแบบสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป การที่โลกร้อนขึ้นเป็นสาเหตุให้มหาสมุทรอุ่นขึ้นและน้ำมีอัตราการระเหยสูงขึ้น ซึ่งกลายเป็นพลังงานเสริมแรงให้กับพายุเฮอริเคน พายุไซโคลน และพายุไต้ฝุ่น ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศในชั้นบรรยากาศอาจนำไปสู่การเกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นในบางภูมิภาค ในขณะที่ในบางภูมิภาคกลับมีฝนตกหนักและน้ำท่วมครั้งใหญ่
คลื่นความร้อนและภัยแล้ง
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้ภัยแล้งทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก เนื่องจากเกิดคลื่นความร้อนรุนแรงและถี่ขึ้น คลื่นความร้อนที่รุนแรงและอุณหภูมิซึ่งสูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยอย่างมากจะเร่งกระบวนการให้น้ำระเหยเร็วขึ้น ทำให้ความชื้นถูกดึงออกจากผืนดินมากขึ้น สภาพแห้งแล้งจึงทวีความรุนแรงกลายเป็นภัยแล้งในที่สุด ยิ่งคลื่นความร้อนเกิดขึ้นในพื้นที่หนึ่งๆ เป็นระยะเวลานานมากขึ้นเท่าใด ภัยแล้งก็จะกินเวลายาวนานและขยายพื้นที่เป็นวงกว้างมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังรบกวนรูปแบบปริมาณน้ำฝนตามปกติ ทำให้มีฝนตกน้อยลงในหลายพื้นที่ ส่วนในพื้นที่ที่ต้องรอน้ำจากก้อนหิมะที่ละลาย อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น ส่งผลให้พื้นที่นั้นๆ มีฤดูแล้งที่รุนแรงและยาวนานกว่าเดิม รูปแบบของหยาดน้ำฟ้าที่เปลี่ยนไปและการระเหยที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้น้ำใต้ดินลดน้อยลงเพราะไม่มีน้ำจากฝนมาเติมน้ำใต้ดินที่มีอยู่ ภูมิภาคที่พึ่งพาน้ำใต้ดินเป็นหลักจึงได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ คลื่นความร้อนและภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงก่อให้เกิดปัญหาเรื่องปริมาณน้ำกินน้ำใช้ การเกษตร ระบบนิเวศ และสุขภาพของมนุษย์
ไฟป่า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีอิทธิพลอย่างมากต่อความถี่ ความรุนแรง และขอบเขตทางภูมิศาสตร์ของไฟป่าทั่วโลก เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น สภาวะต่างๆ จึงเอื้ออต่อการเกิดไฟป่า เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและปริมาณน้ำฝนที่ลดลงอาจทำให้ดินและพืชพรรณแห้งแล้งจนกลายเป็นเชื้อไฟที่สามารถติดไฟได้ง่าย คลื่นความร้อนที่ยาวนานและรุนแรงอันเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็มีส่วนทำให้เกิดสภาวะแห้งแล้งที่เอื้อให้เกิดไฟป่านี้เช่นกัน นอกจากนี้ รูปแบบสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอาจทำให้เกิดพายุรุนแรงบ่อยขึ้น ซึ่งการเกิดฟ้าผ่าก็อาจทำให้เกิดไฟป่าได้ สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นยังหมายถึงฤดูไฟป่าที่เริ่มต้นเร็วขึ้นและสิ้นสุดช้าลง ส่งผลให้ระยะเวลาที่อาจเกิดไฟป่ายาวนานขึ้น ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ส่งผลให้ไฟป่าเพิ่มจำนวนขึ้นและสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้มากกว่าในอดีต วัฏจักรการเกิดไฟป่านี้ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง กล่าวคือ ไฟป่าทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก เนื่องจากป่าไม้ได้กักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในระหว่างกระบวนการสังเคราะห์แสง และเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เลวร้ายลง ไฟป่าจึงภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ ความปลอดภัยของมนุษย์ สุขภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
พายุ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้ชั้นบรรยากาศและมหาสมุทรเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีอิทธิพลต่อการเกิดพายุทั่วโลก กล่าวคือเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น อุณหภูมิผิวน้ำทะเลก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เกิดพลังงานที่ขับเคลื่อนการก่อตัวและความรุนแรงของพายุ อีกทั้งเมื่อน้ำระเหยในอัตรารวดเร็วขึ้น ชั้นบรรยากาศของโลกจึงเต็มไปด้วยความชื้น ส่งผลให้ฝนตกหนักขึ้นและบ่อยขึ้นพร้อมกับการเกิดขึ้นของพายุต่างๆ นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังทำให้คลื่นพายุซัดฝั่ง (storm surge) รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีพายุไซโคลนและพายุเฮอริเคน จึงเกิดน้ำท่วมบริเวณชายฝั่ง จึงมีแนวโน้มว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้พายุทวีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้น พายุเหล่านี้ตามมาด้วยน้ำท่วม ไฟฟ้าดับ และโครงสร้างพื้นฐานได้รับความเสียหาย ยิ่งไปกว่านั้น ยังสร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลและคร่าชีวิตผู้คนมากมาย
ฝนตกหนักและน้ำท่วม
เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น ความสามารถในการกักเก็บความชื้นของชั้นบรรยากาศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งทำให้ฝนตกหนักขึ้น และบ่อยครั้งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ประกอบกับภาวะโลกร้อนเร่งให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย จนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จึงเป็นการเพิ่มโอกาสที่น้ำจะท่วมบริเวณชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เกิดพายุในพื้นที่นั้นๆ น้ำแข็งที่ละลายยังอาจทำให้แม่น้ำล้นตลิ่งจนเกิดน้ำท่วมได้อีกด้วย ในทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ ตัวอย่างเช่น ในปี 2565 พื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของปากีสถานจมอยู่ใต้น้ำ เพราะมีฝนตกชุกที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 ประชาชน 33 ล้านคนได้รับผลกระทบ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด น้ำท่วมครั้งนี้ถือว่าเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของปากีสถาน ซึ่งในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันนี้ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เกิดฝนตกหนักซึ่งมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในรอบ 80 ปี ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่
โดยสรุป ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งขับเคลื่อนโดยภาวะโลกร้อนกำลังทำให้เกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วบ่อยครั้งขึ้น การดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการพัฒนากลยุทธ์ในการปรับตัวที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการป้องกันเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วในอนาคต และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดกับสังคมมนุษย์และระบบนิเวศทั่วโลก
รายการอ้างอิง
ภาษาไทย
National Geographic. (2565). “คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge).” ออนไลน์. เข้าถึงได้จาก https://ngthai.com/science/40782/storm-surge/
ภาษาอังกฤษ
Romm, J. (2018). “Climate change: What everyone needs to know.” Oxford University Press.
Wikipedia. “2022 Pakistan floods.” Online. Retrieve from https://en.wikipedia.org/wiki/2022_Pakistan_floods#Army_helicopter_crash
Wilson, J. (2023). “Climate action: what's new and what's next in 2023.” Published online at WFP.org. Retrieve from https://www.wfp.org/stories/climate-action-whats-new-and-whats- next-2023
Igini, M. (2022). “3 Things to Know About Australia Wildfires and Bushfires.” Published online at Earth.org. Retrieve from https://earth.org/australia-wildfires-and-bushfires/
UNDP. (2023). “The Climate Dictionary: An everyday guide to climate change.” Online. Retrieved from https://climatepromise.undp.org/news-and-stories/climate-dictionary-everyday-guide- climate-change