“เทคโนโลยี” คำที่คุ้นเคยและมักจะเป็นคำตามหลัง “วิทยาศาสตร์” เป็น “วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี” ซึ่งหลายๆคนคิดว่าเป็นคำเดียวกัน แต่ถ้าได้พิจารณารายละเอียดแล้ว สองคำนี้มีความสัมพันธ์กัน แต่ความหมายแตกต่างกัน และเข้าใจว่า เทคโนโลยี คือสิ่งที่ทันสมัย มีระบบไฟฟ้าและกลไกการทำงานที่ซับซ้อน
“วิทยาศาสตร์” เป็นกระบวนการหาคำตอบและผลของการได้คำตอบนั้นเป็นความจริง พิสูจน์ได้ ซึ่งก็คือ “ความรู้”นั่นเอง ส่วนกระบวนการหาคำตอบก็คือ การวิจัย และเรียกคำตอบว่าเป็น “การค้นพบ” (Discovery)
การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็คือการค้นพบสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น การค้นพบไนโตรเจน ออกซิเจน หรือพืช-สัตว์ ชนิดใหม่ ซึ่งอยู่ในธรรมชาติ รวมทั้งการค้นพบ DNA การค้นพบโครงสร้างอะตอมของธาตุต่างๆ เป็นต้น
ในขณะที่ในแต่ละวันแต่ละชั่วโมง ไม่ว่าจะนั่งอยู่ที่ไหน ในห้องเรียน ห้องทำงาน ในบ้าน ก็จะเห็นว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเราล้วนแต่เป็นสิ่งของที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น แม้แต่อากาศในเครื่องปรับอากาศก็ถูกปรับอุณหภูมิโดยเครื่องปรับอากาศที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา
ดังนั้นแต่ละวันเราใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่สร้างมากกว่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และทุกสิ่งที่สร้างขึ้นมาก็ล้วนมีวัตถุประสงค์หรือมีเหตุผลในการสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น เหตุผลสำคัญของการสร้างสิ่งของขึ้นมาใช้ คือ การนำมาแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เมื่อมีสิ่งของเหล่านั้นก็ทำให้เกิดความสะดวกสบายขึ้น
การสร้างสิ่งของขึ้นมาเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มีการสร้างเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต เช่น มีด ขวาน และเลือกวัสดุที่มีอยู่ตามศักยภาพในขณะนั้น เช่น หินหรือโลหะทำให้นักประวัติศาสตร์แบ่งยุคของมนุษย์เป็นยุคหิน ยุคโลหะ และเมื่อมีการปลูกเลี้ยงสัตว์ ก็เข้าสู่ยุคเกษตรกรรม เมื่อการผลิตสินค้าครั้งละมากๆ โดยมีเครื่องจักรกลอยู่ในกระบวนการผลิตแล้วจึงเปลี่ยนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม แต่ละยุคก็เกิดจากการสร้างการคิดของมนุษย์ทั้งสิ้น
การพัฒนาสิ่งของ การพัฒนากระบวนการทำงาน มักจะเริ่มต้นคิดจากภายใน ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่มักจะคิดและตั้งคำถามกับตัวเองที่จะทำอะไรให้ได้มาเพื่อแก้ปัญหาให้กับตัวเอง หรือจินตนาการเพื่อให้สร้างสิ่งของสนองความต้องการ ซึ่งต้องอาศัยขั้นตอนการวางแผน หาวัสดุที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งาน การสร้างชิ้นส่วนแต่ละชิ้นมาทำหน้าที่แต่ละอย่าง แล้วประกอบเป็นสิ่งของสิ่งหนึ่งและทำการทดลองปรับปรุงจนใช้งานได้
กระบวนการสร้างสิ่งของดังกล่าวข้างต้น นักวิชาการได้ศึกษาและจัดเป็นระบบเรียกว่า “กระบวนการออกแบบทางวิศวกรรม” หรือ Engineering Design Process: EDP ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ เช่น การตั้งคำถาม จินตนาการ การสืบเสาะหาข้อมูล การออกแบบ การวางแผน การสร้าง การทดสอบ การปรับปรุง เป็นต้น และสิ่งของที่สร้างขึ้นมาเราเรียกว่า “เทคโนโลยี” ดังนั้น เทคโนโลยีจึงมิใช่จำกัดอยู่ที่สิ่งของทันสมัย การทำงานซับซ้อน หรือระบบปฏิบัติการที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ หรือกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่เป็นทุกสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการและการที่สร้างสิ่งของขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา เราเรียกคนเหล่านั้นว่า “วิศวกร” และวิศวกรก็ไม่จำกัดอยู่ที่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ทุกคนเป็นวิศวกรได้
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงมีความแตกต่างกัน แต่มีความสัมพันธ์กันตรงที่วิศวกรนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้กับเทคโนโลยีก็สามารถขยายความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ หรือเกิดการค้นพบมากขึ้น เช่น กล้องจุลทรรศน์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทำให้เรารู้จักองค์ประกอบของ cell รู้จักโครโมโซม รังสีเอ็กซ์ (x-rays) ทำให้รู้จัก DNA และเข้าใจด้านพันธุกรรมมากขึ้น และนำความรู้เรื่อง DNA มาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ผู้เขียน นายธนากร พละชัย