อุโมงค์นิรภัยเมล็ดพันธุ์พืชโลกสฟาลบาร์: ความหวังวันสิ้นโลก

อุโมงค์นิรภัยเมล็ดพันธุ์พืชโลกสฟาลบาร์: ความหวังวันสิ้นโลก

21-06-2022
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/longyearbyen-svalbard-norway-december-24-2017-785382310

ตามตำนานวันสิ้นโลก (Doomsday) ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ อิสลาม และยูดาห์ ได้เล่าถึงเรือโนอาห์ (Noah’s Ark) ซึ่งสร้างขึ้นตามประสงค์ของพระเจ้าเพื่อบรรทุกโนอาห์ และครอบครัวซึ่งเป็นคนสุจริต พร้อมด้วยอาหาร และสัตว์เพศผู้-เมียชนิดละ 1 คู่ เพื่อให้รอดพ้นจากเหตุการณ์ฝนตกหนัก 40 วัน 40 คืน จนเกิดน้ำท่วมล้างโลก 150 วัน และใช้ชีวิตในโลกใหม่ แต่เรือโนอาห์ที่เราจะพาผู้อ่านไปรู้จักในบทความนี้ ไม่ใช่เรือโนอาห์ในพระคัมภีร์ที่สร้างตามประสงค์ของพระเจ้า แต่สร้างด้วยความตั้งใจของมนุษย์ 

อุโมงค์นิรภัยเมล็ดพันธุ์พืชโลกสฟาลบาร์ (Svalbard Global Seed Vault) เปรือบเสมือนเรือโนอาห์ที่เก็บรักษาหัวและเมล็ดพันธุ์พืช เพื่อสำรองเก็บไว้ใช้ในอนาคต หากโลกเข้าสู่ภาวะวิกฤติทางธรรมชาติที่ทำให้พืชพรรณทั้งหมดเสียหาย จนถึงขั้นสูญพันธุ์ เกิดจากความร่วมมือและร่วมทุนของรัฐบาลนอร์เวย์ เมื่อปี ค.ศ. 2004 ภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (The International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agriculture หรือ ITPGRFA) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ต้องการรักษาทรัพยากรพืชจากภัยธรรมชาติและมนุษย์  

แผนที่เกาะสปิตส์เบอร์เกน (https://www.shutterstock.com/th/image-vector/svalbard-political-map-capital-longyearbyen-norwegian-272005031)

ภาพ แผนที่เกาะสปิตส์เบอร์เกน หมุ่เกาะสฟาล์บาร์ ประเทศนอร์เวย์

อุโมงค์นิรภัยสำหรับเก็บรักษาพันธุ์พืชนี้ ถูกสร้างขึ้นท่ามกลางพื้นที่หนาวเย็นของทวีปอาร์คติก ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 130 เมตร ในเมืองลองเยียร์เบียน (Longyearbyen) บนเกาะสปิตส์เบอร์เกน (Spitsbergen) ซึ่งเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดและมีผู้คนอาศัยอยู่เพียงเกาะเดียวในหมู่เกาะสฟาล์บาร์ (Svalbard)  ประเทศนอร์เวย์ เปิดให้ใช้งานอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 มีลักษณะเป็นอุโมงค์ทรงสี่เหลี่ยมเจาะลงไปในภูเขาหินทรายใต้ชั้นดินลึกราว 120 เมตร ตลอดอุโมงค์ประกอบด้วยผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งท่อความร้อน และท่ออากาศสำหรับผู้ปฏิบัติงาน พร้อมทั้งประตูเหล็กหนาหลายชั้น และระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์

ภาพผนังเสนิมคอนกรีต ท่อความร้อน และท่ออากาศ (https://www.seedvault.no/about/the-facility/)

ภาพ ผนังโถงทางเดินในอุโมงค์นิรภัยพันธุ์พืชโลกสฟาลบาร์

อุโมงค์นิรภัยเมล็ดพันธุ์พืชโลกสฟาลบาร์ เก็บรักษาเมล็ด และหัวพันธุ์พืชมากถึง 1,125,419 ตัวอย่าง ของพืช 5,481 สายพันธุ์จากทั่วโลก พันธุ์พืชทั้งหมดจะถูกบรรจุในหีบห่อที่ได้รับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมและวัสดุศาสตร์ ช่วยให้เมล็ดพืชเผาผลาญอาหารต่ำ ยืดอายุการเก็บรักษาได้นานกว่าการเก็บพันธุ์พืชด้วยบรรจุภัณฑ์ทั่วไป จากนั้นจึงผนึกไว้ในกล่อง เก็บไว้บนชั้นในห้องนิรภัยความชื้นต่ำ ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ด้วยระบบประหยัดพลังงาน ทั้งนี้หัวและเมล็ดพันธุ์พืชที่ถูกเก็บไว้ในกล่อง เป็นสมบัติของประเทศที่ส่งพันธุ์พืชมาเก็บรักษาไว้ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอุโมงค์นิรภัยเมล็ดพันธุ์พืช ทั้งนี้จะมีการระบุชื่อ หน่วยงาน และประเทศของผู้ฝาก และหากจะทำการถอนนำหัวและเมล็ดพันธุ์นั้นมาใช้ ก็ต้องกระทำโดยผู้ที่มีข้อมูลระบุอยู่บนกล่องเช่นกัน

สำหรับส่วนของการจัดเก็บข้อมูลของหัวและเมล็ดพันธุ์ที่ถูกเก็บรักษาไว้ภายในอุโมงค์นิรภัย จะอยู่ในฐานข้อมูลออนไลน์ของศูนย์ทรัพยากรพันธุกรรมพืชนอร์ดิก (Nordic Genetic Resource Center หรือ NordGen) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแล และสนับสนุนของรัฐบาลประเทศนอร์เวย์ นอกจากนี้ยังมีการนำฐานข้อมูลของพืชต่าง ๆ เก็บรักษาไว้บนแผ่นนาโนฟิล์ม (Nanofilm) ที่ทนต่ออุณหภูมิเย็นจัด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนามาจากไมโครฟิล์ม (Microfilm) แนบติดอยู่บนกล่องเก็บพันธุ์พืช และสามารถนำออกมาดูด้วยเครื่องฉายภาพจากแผ่นฟิล์ม และแว่นขยาย เพื่อป้องกันข้อมูลสูญหาย หากฐานข้อมูลแบบออนไลน์ถูกทำลาย

Sandra Borch รัฐมนตรีกระทรวงการเกษตรและอาหาร ประเทศนอร์เวย ในวันที่มีการติดตั้งนาโนฟิล์มเก็บข้อมูล (https://www.seedvault.no/news/nanofilm-will-safeguard-identity-of-the-more-than-1-mill-seed-samples-in-the-seed-vault/)

ภาพ แซนดร้า บอรช (Sandra Borch) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและอาหาร ประเทศนาร์เวย์ ในวันที่มีการติดตั้งนาโนฟิล์มเก็บข้อมูล เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2022

ปัจจุบันสามารถเยี่ยมชมอุโมงค์นิรภัยเมล็ดพันธุ์พืชโลกสฟาลบาร์ในรูปแบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ https://tour.croptrust.org/  โดยสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทั้งวิธีการปกติ และผ่านระบบ VR (Virtual Reality) เห็นภาพได้แบบ 360 องศา และมีเสียงบรรยายภาษาอังกฤษอธิบายเกี่ยวกับส่วนต่าง ๆ ของอุโมงค์นิรภัยเมล็ดพันธุ์พืชโลก รวมทั้งจำลองเสียงบรรยากาศรอบข้าง เช่น เสียงพายุหิมะบนเกาะ เสียงลมในอุโมงค์ เป็นต้น ทำให้เห็นภาพบรรยากาศ การทำงานของเจ้าหน้าที่ และเพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีการสร้างนิรภัยเมล็ดพันธุ์พืชโลกสฟาลบาร์ เพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม   

 

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference):

INSIDE THE ‘DOOMSDAY’ VAULT. [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://time.com/doomsday-vault/  [31 พฤษภาคม 2565]

Svalbard Global Seed Vault: agricultural project, Norway. [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://www.britannica.com/topic/Svalbard-Global-Seed-Vault  [31 พฤษภาคม 2565]

SVALBARD GLOBAL SEED VAULT. [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://www.seedvault.no/   [31 พฤษภาคม 2565]

SVALBARD GLOBAL SEED VAULT. [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://www.croptrust.org/our-work/svalbard-global-seed-vault/  [31 พฤษภาคม 2565]

https://www.britannica.com/topic/Svalbard-Global-Seed-Vault  [31 พฤษภาคม 2565]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน