ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
เดือนธันวาคม ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศยืนยันการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน และในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ก็เริ่มมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อด้วยอาการโรคปอดอักเสบคล้ายกับโรคซาร์ส ต่อมามีการรายงานอย่างเป็นทางการว่าโรคปอดอักเสบที่ระบาดนั้น มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก เพราะนั่นหมายถึงสัญญาณการระบาดของโรคอุบัติใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 33,249,563 คน เสียชีวิต 1,000,040 คน มีพื้นที่การระบาดมากใน 235 ประเทศ (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก : WHO ณ วันที่ 29 กันยายน 2563)
ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีชื่อเรียกในระยะแรก คือ 2019-nCoV (2019 Novel Coronavirus) จากนั้น คณะกรรมมาธิการอนุกรมวิธานไวรัสนานาชาติ (International Committee on Taxonomy of Viruses หรือ ICTV) ได้กำหนดชื่ออย่างเป็นทางการ คือ SARS-CoV-2 (Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2) เนื่องจาก ไวรัสชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรมใกล้เคียงกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส (SARS) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดชื่อสำหรับเรียกโรคระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสชนิดนี้ว่า Coronavirus Disease 2019 หรือ COVID-19 โดย CO มาจากคำว่า Corona VI มาจาก Virus D มาจาก Disease ที่แปลว่า โรค และ 19 แทน ปี ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นปีที่มีการรายงานการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้เป็นครั้งแรก ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ตั้งชื่อนี้ขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดรอยมลทินกับประเทศจุดกำเนิดและการระบาดของโรคนี้ ต่อมากระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยเรียกโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากการศึกษารหัสพันธุกรรมและข้อมูลลำดับนิวคลีโอไทด์ทั้งหมดในจีโนมของเชื้อไวรัส พบว่าเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มีลำดับนิวคลีโอไทด์ประมาณ 29,903 คู่เบส ซึ่งมีความใกล้เคียงกับเชื้อไวรัสซาร์สในค้างคาว (Bat SARS-like coronavirus ZC45) ที่พบในประเทศจีน ร้อยละ 89 และคล้ายคลึงกับไวรัสซาร์สที่พบในคน (SARS-CoV) ร้อยละ 79 รวมถึงไวรัสเมอร์ส (MERS-CoV) ร้อยละ 50 จึงจัดให้ไวรัส SARS-CoV-2 อยู่ในกลุ่ม Betacoronavirus
SARS-CoV-2 จัดเป็นไวรัสแบบโพลิมอร์ฟิก (Polymorphic) หมายถึง ขนาดของอนุภาคไวรัสแต่ละอนุภาคจะมีขนาดที่แตกต่างกันออกไป คือ มีขนาดตั้งแต่ 50 นาโนเมตร ไปจนถึง 150 นาโนเมตร อนุภาคของไวรัสจะประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เปลือกหุ้มของไวรัส (Envelope) ซึ่งอยู่ส่วนนอกสุด และนิวคลีโอแคปซิด (Nucleocapsid) ที่อยู่ด้านใน โดยโครงสร้างจะประกอบด้วย โปรตีน 4 ชนิด คือ
1.โปรตีนหนาม หรือ spike (S protein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ยื่นออกมาจากเปลือกหุ้ม (Envelope) ของอนุภาคไวรัส ทำให้ไวรัสมีลักษณะคล้ายมงกุฎเมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน และมีความสำคัญในการจับกับตัวรับจำเพาะบนผิวเซลล์ของเจ้าบ้าน (Host) ทำให้เกิดการติดเชื้อ
2.โปรตีนเยื่อหุ้มไวรัส (M protein) เป็นส่วนประกอบบนเยื่อหุ้มของไวรัส
3.โปรตีนที่ผิวไวรัส (E protein) เป็นส่วนประกอบบนเปลือกนอก (Envelope) ประกอบไปด้วยไขมันและโปรตีน ทำหน้าที่ห่อหุ้มจีโนมของไวรัส
4.โปรตีนนิวคลีโอแคปซิด (N protein) เป็นโปรตีนที่จับกับ RNA ของไวรัส ทำให้เกิดแคปซิด (Capsid) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ล้อมรอบจีโนมของไวรัสและมีสมมาตรแบบเกลียว (Helix) ทำหน้าที่ช่วยปกป้อง RNA ของไวรัสจากสิ่งแวดล้อม
นับตั้งแต่ที่เกิดการระบาดครั้งแรกในประเทศจีน ไวรัส SARS-CoV-2 ได้มีการกลายพันธุ์ โดยแยกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์เอส S (Serine) และสายพันธุ์ L (Leucine) โดยสายพันธุ์ L สามารถแพร่กระจายได้มากกว่าสายพันธุ์ S และพบมากในแถบยุโรป ต่อมาสายพันธุ์ L ได้มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G (Glycine) และสายพันธุ์ V (Valine) โดยเฉพาะสายพันธุ์ G เป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายจึงระบาดไปทั่วโลก ต่อมาสายพันธุ์ G ได้กลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์ GR (Arginine) และ GH (Histidine) แต่การระบาดของสายพันธุ์ G ที่เกิดขึ้นได้ง่ายและแพร่กระจายได้เร็วนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของโรคและระบบภูมิต้านทาน เพียงแต่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น จึงทำให้อัตราการติดเชื้อส่วนใหญ่ทั่วโลกในขณะนี้เป็นสายพันธุ์ G
ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ยังขาดภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์นี้ ประกอบกับเชื้อไวรัสนี้สามารถแพร่ได้หลายช่องทาง จึงเป็นเหตุให้เกิดการระบาดไปทั่วโลก และขณะที่ยังไม่มียาและวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 การป้องกันตัวเองที่ดีที่สุดจากโรคโควิด 19 (COVID-19) ควรเริ่มต้นจากการป้องกันตัวเอง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยสวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด ควรเว้นระยะห่างระหว่างตนเองกับผู้อื่น อย่างน้อย 1 - 2 เมตร รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ รวมถึงหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือความเข้มข้น 70% ประมาณ 20 วินาที เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
ที่มาข้อมูล :
SARS-CoV-2. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://mgronline.com/science/detail/9630000032360 [24 กันยายน 2563]
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อ COVID-19 จากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://tmc.or.th/covid19/download/pdf/tmc-covid19-19.pdf [24 กันยายน 2563]
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019, 2019-nCoV). [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1410 [24 กันยายน 2563]
ความรู้พื้นฐาน COVID-19 ตอนที่ ๑. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.niems.go.th/1/UploadAttachFile/2020/EBook/49793_20200325095718.pdf [24 กันยายน 2563]
วิวัฒนาการของ SARS-CoV-2 (ไวรัสที่ทำให้เกิดโรค COVID-19). [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา http://doh.hpc.go.th/bs/topicDisplay.php?id=378 [24 กันยายน 2563]
คำค้น : ไวรัสโคโรนา (Coronavirus), SARS-CoV-2, โรคโควิด 19 (COVID-19)
ผู้เขียน : ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.