ศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ในยุคที่อินเตอร์เน็ตมีอิทธิพลอย่างมากในสังคม แทบจะทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้โดยง่าย นอกจากนั้น ยังสามารถสร้างองค์ความรู้ในรูปแบบสื่อต่าง ๆ ได้บนโลกอินเตอร์เน็ต ทำให้อินเตอร์เน็ตมีความสำคัญมากขึ้น และเมื่อสังคมกำลังเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด ผู้คนต่างมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง ตามแนวทางเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จึงมีการติดต่อกันผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น มีการใช้อินเตอร์เน็ตในการติดตามข่าวสารและองค์ความรู้เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
ในสภาวะที่คนส่วนใหญ่เลือกใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) ในการรับข้อมูลข่าวสาร และบางกลุ่มใช้เป็นช่องทางให้ข้อมูลที่มีประโยชน์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นในการดูแลตัวเองในสภาวะการระบาดครั้งใหญ่ (Pandemic) นี้ แต่ข้อมูลที่มากเกินไปอาจส่งผลต่อสุขภาพและจิต ดร. ดีน แอสลิเนีย (Dr.Dean Aslinia) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต กล่าวว่า “สำหรับผู้ที่วิตกกังวลหรือตื่นตระหนกมากเกินไปกับการแพร่ระบาดของไวรัส ควรจำกัดการรับข่าวสาร และงดการโต้ตอบกับเพื่อนและครอบครัวที่มีแนวโน้มที่จะตื่นตระหนกเหมือนกัน และควรพยายามผ่อนคลาย ค้นหาข้อมูลเมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม จากข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากรัฐหรือผู้เชี่ยวชาญ” ในภาวะเช่นนี้ทุกคนควรใช้สื่อออนไลน์อย่างมีสติ
เมื่อต้องลดการเจอและสัมผัสกัน คำที่มักได้ยินกันบ่อย ๆ ในช่วงนี้ คือ Social Distancing และโซเชียลมีเดียถือเป็นสิ่งเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการติดต่อสื่อสารของมนุษย์ได้ในช่วงนี้ หากแต่มองให้ลึกลงไป ภาวะแบบนี้ ย่อมสร้างความเหงาและโดดเดี่ยวให้กับคนในสังคมเพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อถูกจำกัดบริเวณ ย่อมเกิดความเครียด และส่งผลถึงภาวะจิตใจได้
การรับมือกับความเหงาและความรู้สึกโดดเดี่ยวในช่วงนี้ ดร.จามิล ซากิ (Dr. Jamil Zaki) อาจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีคำแนะนำ “แม้คุณและครอบครัวของคุณจะถูกจำกัดบริเวณ แต่เรายังสามารถติดต่อกันได้ ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น Facetime และ ZOOM ได้”
ดร.เอลิสซา คอซลอฟ (Dr. Elissa Kozlov) นักจิตวิทยาจากวิทยาลัยสาธารณสุขศาสตร์รัทเจอร์ (Rutgers School of Public Health) รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา มีเคล็ดลับแนะนำอีกว่า “หากคุณต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ให้คุณวางแผนตารางชีวิตคุณให้ชัดเจน หรือถ้าคุณมีเด็ก ๆ พยายามจัดตารางให้เป็นเหมือนที่โรงเรียนเท่าที่จะเป็นไปได้ ใช้ช่วงเวลานี้ในการจัดการบ้านของคุณ ลองสิ่งใหม่ ๆ ที่คุณไม่เคยทำ หรือหากิจกรรมสนุก ๆ ผ่านโลกอินเตอร์เน็ต แบ่งบันรูปภาพและเรื่องราวต่าง ๆ ให้กับคนที่มีความสนใจเดียวกับคุณ ให้คุณได้รู้สึกมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น”
ลองจินตนาการถึงช่วงเวลาที่ทำให้คุณได้หยุดคิด ผ่อนคลาย ปล่อยวาง หากิจกรรมเสริมที่สามารถทำในบ้านหรือพื้นที่ที่จำกัดได้ เมื่อช่วงเวลานี้ผ่านไป กลับมาสู่สภาวะปกติ คุณจะกลับมาพร้อมกับความสดใสเหมือนได้ไปพักร้อนในสถานที่ที่คุณอยากไป หรือถ้าใครอยู่แต่ในห้อง ไม่ได้ออกไปไหนอยากให้ออกไปยืนรับแสงอาทิตย์ยามเช้าบ้าง ร่างกายของเรายังต้องการวิตามินดีจากแสงอาทิตย์เพราะการขาดวิตามินดีมีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าด้วย
ที่มา : 1. STANFORD UNIVERSITY. INSTEAD OF SOCIAL DISTANCING, TRY DISTANT SOCIALIZING. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://www.futurity.org/distant-socializing-social-distancing-covid-19-2312002/ [25 มีนาคม 2563]
2. Joanne Richard. Socializing during COVID-19: Keep your distance to save your life. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://torontosun.com/life/relationships/0322-lifenational [29 มีนาคม 2563]
คำค้น : Internet, Social Media, Social Distancing, โรคระบาด, ความเครียด
ผู้เขียน : นางสาวศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.