Every Breath You Take: ทุกลมหายใจ

Every Breath You Take: ทุกลมหายใจ

18-12-2021
Every Breath You Take: ทุกลมหายใจ

  สาหร่าย หรือ Algae (เอกพจน์ Alga) หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่มีคลอโรฟิลล์เป็นองค์ประกอบ ไม่มีราก ลำต้น หรือใบที่แท้จริง มีขนาดตั้งแต่เล็กมากประกอบด้วยเซลล์เพียงเซลล์เดียวที่เรียกกันว่า สาหร่ายขนาดเล็ก หรือ ไมโครแอลจี หรือแพลงก์ตอนพืช (Microalgae หรือ Phytoplankton) ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่เรียกว่า สาหร่ายขนาดใหญ่ หรือแมโครแอลจี (Macroalgae) ที่ประกอบขึ้นจากเซลล์จำนวนมาก อาจเป็นเส้นสายหรือมีรูปร่างลักษณะคล้ายพืชโดยมีส่วนคล้ายราก ลำต้นและใบรวมเรียกว่าทัลลัส (Thallus) โดยสาหร่ายขนาดใหญ่ หรือแมโครแอลจี ที่พบในทะเลหรือน้ำเค็มมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า สาหร่ายทะเล หรือ Seaweed สำหรับคำว่า “สาหร่าย” ในภาษาไทยนั้นหมายถึง พืชที่ขึ้นอยู่ในน้ำ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่เป็น Algae อาจเรียกว่า “สาหร่ายที่แท้จริง” และกลุ่มที่เป็นพืชดอก (Angiosperms หรือ Flowering plants) ที่ขึ้นเจริญเติบโตอยู่ในน้ำหรือพืชน้ำ เช่น สาหร่ายหางกระรอก (Hydrilla verticillata (L. f.) Royle และสาหร่ายข้าวเหนียว (Utricularia aurea Lour.) เนื่องจากสาหร่ายที่แท้จริงมีสมาชิกอยู่เป็นจำนวนมากและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จำแนกสาหร่ายออกเป็นกลุ่มๆ มีทั้งกลุ่มที่อยู่ในอาณาจักรพืช (Kingdom Plantae) และอาณาจักรโปรติสตา (Kingdom Protista)

          ถึงแม้สาหร่ายจะมีโครงสร้างที่ซับซ้อนน้อยกว่าพืชมาก แต่ก็มีวิวัฒนาการใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะกลุ่มสาหร่ายสีเขียว (Chlorophyta) ที่มีข้อมูลชีววิทยาโมเลกุลสนับสนุนความใกล้ชิดดังกล่าว นอกจากนี้สาหร่ายและพืชยังมีความเหมือนกันคือเป็นผู้ผลิตเบื้องต้น (Primary producer) ในห่วงโซ่อาหารเนื่องจากมีเครื่องมือสำคัญในการสังเคราะห์แสงซึ่งก็คือคลอโรฟิลล์นั่นเอง ในระบบนิเวศในน้ำ สาหร่ายดึงพลังงานจากแสงอาทิตย์ ประกอบกับน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สังเคราะห์เป็นอาหารเก็บไว้ในรูปแบบต่างๆและถ่ายทอดพลังงานสู่ผู้บริโภคในลำดับถัดไปอันได้แก่แพลงก์ตอนสัตว์ สัตว์น้ำขนาดเล็ก สัตว์น้ำขนาดใหญ่ รวมทั้งมนุษย์ที่บริโภคทั้งสาหร่ายและสัตว์น้ำต่างๆเป็นอาหาร เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับพืชและระบบนิเวศบนบก และที่สำคัญ เนื่องจากสาหร่ายส่วนใหญ่อาศัยในแหล่งน้ำ ซึ่งพื้นที่ 3 ใน 4 ของโลกคือทะเลและมหาสมุทร สาหร่ายจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในวัฏจักรคาร์บอน โดยทำหน้าที่คล้ายฟองน้ำในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศมาไว้ในทะเล ในขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงก๊าซออกซิเจนซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการสังเคราะห์แสง โดยทั่วไปเรามักจะนึกถึงต้นไม้และป่าไม้เป็นลำดับแรกในการเป็นเป็นผู้ผลิตก๊าซออกซิเจน ทั้งที่ความจริงแล้ว พืชบกผลิตก๊าซออกซิเจนเพียงประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น ในขณะที่กว่าร้อยละ 70 ของปริมาณออกซิเจนในชั้นบรรยากาศมาจากผู้ผลิตจากทะเลหรือสาหร่ายนั่นเอง

          การตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สาหร่ายโดยเฉพาะการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยของสาหร่ายอย่างระบบนิเวศในน้ำมีความจำเป็นเช่นเดียวกับการอนุรักษ์พืช ป่าไม้และระบบนิเวศบนบกอื่นๆ เพราะสาหร่ายมีความสำคัญต่อมนุษย์มากกว่าการเป็นอาหารทางเลือกประเภทหนึ่งเท่านั้น คำพูดที่ว่า สาหร่ายเกี่ยวข้องกับมนุษย์ทั้งลมหายใจเข้าและออก ไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงแต่อย่างใด

ผู้เรียบเรียง: สุทธิกาญจน์  สุทธิ

ที่มาของภาพ: https://catchymemes.com/post/189375861891 [Sad phytoplankton noises meme, 9 เมษายน 2563]

ที่มาของแหล่งข้อมูล:

         https://marinebio.org/creatures/forests

         https://link.springer.com/content/pdf/10.1007/s11027-010-9255-9.pdf 

         http://science.crru.ac.th/biology/images/PDF/Phyco/Phyco-02.pdf 

         https://ocean.si.edu/ocean-life/plankton/every-breath-you-take-thank-ocean

         https://www.noaa.gov/education/resource-collections/marine-life-education-resources/aquatic-food-webs 

         https://earthobservatory.nasa.gov/features/Phytoplankton 

ข่าวสารที่่คล้ายกัน