รู้หรือไม่ว่า ความร้อนที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ประมาณ 90% จะถูกกักเก็บไว้ในมหาสมุทร โลกของเราประกอบด้วยมหาสมุทรเป็นส่วนใหญ่ มหาสมุทรจึงทำหน้าที่เหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงโลกและมีบทบาทสำคัญในการควบคุมสภาพอากาศ แต่ในปัจจุบัน มหาสมุทรกำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพราะผลกระทบที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทความนี้จึงจะชวนสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับมหาสมุทร การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทร รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศทางทะเลและมนุษย์
ประโยชน์สุดลูกหูลูกตาของมหาสมุทร
หากเราถูกปล่อยไว้กลางมหาสมุทร สายตาของเราจะรับภาพความเวิ้งว้างของทะเลสุดลูกหูลูกตา ความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรอาจเปรียบได้ถึงประโยชน์ของมหาสมุทรในมุมที่คนทั่วไปคิดไม่ถึงเช่นกัน
มหาสมุทรเป็นตัวดูดซับความร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยความร้อนส่วนเกินที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประมาณ 90% จะถูกกักเก็บไว้ในมหาสมุทร เนื่องจากน้ำมีความสามารถในการกักเก็บความร้อนสูง ส่วนชั้นบรรยากาศโลกเก็บกักความร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นเพียง 1% โดยประมาณเท่านั้น ในขณะที่พื้นผิวโลกกักเก็บความร้อนไว้เพียงประมาณ 2% ของความร้อนทั้งหมดที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ นอกจากนี้ มหาสมุทรยังเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพมาก โดยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นถึง 23% แม้กระทั่งระบบนิเวศริมชายฝั่งอย่างเช่นป่าชายเลน ก็มีความสามารถกักเก็บคาร์บอนต่อหน่วยพื้นที่ได้มากกว่าป่าทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีอนุภาคคาร์บอนเล็กบางส่วนที่ถูกกักเก็บอยู่ที่พื้นท้องมหาสมุทรเป็นเวลาหลายพันปีอีกด้วย มหาสมุทรที่สมบูรณ์จึงมีประโยชน์อย่างมากต่อระบบภูมิอากาศของโลก
1. ดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน – มหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งหมดที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กใต้ทะเลที่เรียกว่า “แพลงก์ตอนพืช (phytoplankton)” จะใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสงและเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจน เมื่อแพลงก์ตอนพืชเหล่านี้ตายลงก็จะจมลงสู่ก้นทะเล พร้อมกักเก็บคาร์บอนที่ดูดซับไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ควบคุมความร้อน - มหาสมุทรเก็บกักความร้อนไว้มากกว่า 90% ของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งช่วยควบคุมอุณหภูมิและสภาพอากาศของโลกให้อยู่ในระดับเหมาะสม
3. รูปแบบสภาพอากาศ - มหาสมุทรส่งผลต่อรูปแบบสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่และสร้างสภาพอากาศที่มนุษย์ สัตว์ และพืชสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ มหาสมุทรจะกระจายความร้อนไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกผ่านกระแสน้ำ กล่าวคือ กระแสน้ำอุ่นจากเส้นศูนย์สูตรจะเคลื่อนตัวไปยังบริเวณขั้วโลก ในขณะที่น้ำเย็นจากบริเวณขั้วโลกจะไหลไปสู่เส้นศูนย์สูตร การไหลเวียนเช่นนี้มีความสำคัญต่อรูปแบบสภาพอากาศอย่างยิ่ง
4. ผลิตออกซิเจน - ออกซิเจนที่มนุษย์ใช้หายใจไม่ได้มาจากพืชบนบกเท่านั้น แต่ยังมาจากพืชทะเลที่เรียกว่าแพลงก์ตอนพืชซึ่งอาศัยอยู่ใกล้ผิวน้ำทะเล แพลงก์ตอนพืชจะทำการสังเคราะห์แสงและผลิตออกซิเจน ซึ่งออกซิเจนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกมาจากมหาสมุทร
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อมหาสมุทร และส่งผลต่อโลก
อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจก รังสีจากดวงอาทิตย์และความร้อนถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศของโลกมากขึ้น ชั้นบรรยากาศจะร้อนกว่านี้มากหากไม่มีมหาสมุทร แต่เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ก็ยิ่งยากขึ้นที่มหาสมุทรจะช่วยรักษาชั้นบรรยากาศให้เย็นลงได้
เมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรสูงขึ้น ธารน้ำแข็งที่ประกอบเป็นชั้นน้ำแข็งขั้วโลกจะละลายเร็วขึ้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า น้ำแข็งขั้วโลกละลายในอัตราที่รวดเร็วมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับอัตราการละลายในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา เมื่อธารน้ำแข็งละลายไหลลงมหาสมุทร ระดับน้ำทะเลจึงสูงขึ้น นำไปสู่การผลกระทบต่อเนื่องในวงกว้าง เช่น พายุโซนร้อนรุนแรงขึ้น กระแสน้ำในมหาสมุทรเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
อุณหภูมิมหาสมุทรสูงขึ้น ใคร ได้รับผลกระทบ
อุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล อีกทั้งการที่มหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ไว้ปริมาณมาก ส่งผลให้มหาสมุทรมีความเป็นกรด (ocean acidification) เมื่อมหาสมุทรมีความเป็นกรด สิ่งมีชีวิตในทะเลและระบบนิเวศจะได้รับผลกระทบ เพราะเป็นภาวะที่อันตรายต่อสัตว์น้ำ ซึ่งหมายรวมถึงสัตว์ประมงและสัตว์ทะเลตามธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการป้องกันชายฝั่ง เช่น ทำให้แนวปะการังอ่อนแอ ในปี 2553 มีงานวิจัยเปิดเผยว่า ในปัจจุบันมหาสมุทรมีอัตราเกิดความเป็นกรดที่รวดเร็วกว่าเมื่อ 55 ล้านปีที่แล้วถึง 10 เท่า ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว สิ่งมีชีวิตในทะเลเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
เมื่ออุณหภูมิและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มหาสมุทรมีความเป็นกรดสูง และกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลง จะทำลายความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล สิ่งมีชีวิตในทะเลหลายชนิดกำลังเผชิญอันตรายจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- แนวปะการัง : อุณหภูมิของมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นและความเป็นกรดเป็นอันตรายต่อแนวปะการังเป็นอย่างมาก นำไปสู่ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) ซึ่งทำให้สาหร่ายซูซึ่งเป็นอาหารของปะการังอพยพออกจากเนื้อเยื่อของปะการัง จนเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาว ซึ่งเมื่อแนวปะการังไม่มีอาหาร จึงส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลมากมายซึ่งใช้แนวปะการังเป็นแหล่งพักอาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งอนุบาล ในประเทศไทย ปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่โดยภาพรวมเหลือเพียงร้อยละ 23 ขณะที่เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) แนวปะการังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของประเทศออสเตรเลีย เหลือปะการังที่ยังมีชีวิตอยู่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ทั้งนี้ แนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ เคยเผชิญกับภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เช่นกัน
ภาพปะการังฟอกขายในออสเตรเลีย
ที่มา: Brett Monroe Garner via Getty Images
- หมีขั้วโลก : หมีขั้วโลกอาศัยน้ำแข็งในทะเลในการล่าแมวน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลัก แต่อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำให้น้ำแข็งในทะเลละลายเร็วขึ้น ส่งผลกระทบต่อฤดูกาลที่หมีขั้วโลกสามารถล่าแมวน้ำหรืออาหารได้ สถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้หมีขั้วโลกเข้าถึงอาหารได้น้อยลงและอยู่ในสภาพหิวโหย สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature (IUCN)) ได้จัดให้หมีขั้วโลกอยู่ในกลุ่มสัตว์สายพันธุ์ “เปราะบาง” ซึ่งหมายความว่ากำลังเผชิญกับความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์
- ป่าสาหร่ายทะเล : เคลป์ (Kelp) สาหร่ายทะเลเป็นสาหร่ายสีน้ำตาลขนาดใหญ่ที่ก่อตัวเป็นป่าใต้น้ำในบริเวณที่เป็นน้ำเย็น ป่าเคลป์เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารที่สำคัญของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด นอกจากนั้น ยังมีความสามารถในกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ทะเล ซึ่งจะช่วยลดความเป็นกรดในทะเลได้ด้วย อย่างไรก็ตาม สาหร่ายเคลป์มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำ แสง และสารอาหาร ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ส่งผลให้ป่าเคลป์ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
นอกจากสัตว์และพืชที่อาศัยอยู่ในทะเลแล้วนั้น มนุษย์ก็ได้รับผลกระทบจากการที่อุณหภูมิของมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การสูญเสียที่อยู่อาศัยเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงทำให้เกิดอุทกภัยหรือสูญเสียที่ดิน การขาดความมั่นคงทางอาหารอันเกิดจากการที่สัตว์ทะเลลดจำนวนลงอย่างมาก การเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วรุนแรง โดยเฉพาะในรูปแบบของพายุต่างๆ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมที่ทำให้เห็นว่า มหาสมุทรของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ การตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงผลกระทบเหล่านี้เป็นขั้นตอนแรกที่จะนำไปสู่การดำเนินการเพื่อหยุดยั้งหรือบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวที่มีประสิทธิภาพ
รายการอ้างอิง
ภาษาไทย
National Geographic. (2562) “ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching).” ออนไลน์. เข้าถึงได้จาก https://ngthai.com/science/26012/coral-bleaching/
ภาษาอังกฤษ
Black C. (2019). “What is Ocean Warming and Why Does It Matter?” Published online at Letstalkscience.ca. Retrieve from https://letstalkscience.ca/educational-resources/stem-in- context/what-ocean-warming-and-why-does-it-matter
NOAA National Ocean Service. “How much oxygen comes from the ocean?” Online. Retrieve from https://oceanservice.noaa.gov/facts/ocean-oxygen.html
NOAA National Ocean Service. “What is Ocean Acidification?” Online. Retrieve from https://oceanservice.noaa.gov/facts/acidification.html
Quaile, I. (2013). “Polar melt.” Published online at DW.com. Retrieve from https://www.dw.com/en/polar-ice-sheets-melting-faster-than-ever/a-16432199
Romm, J. (2018). “Climate change: What everyone needs to know.” Oxford University Press.
World Economic Forum. (2022). “Polar bears and climate change: What does the science say?” Online. Retrieve from https://www.weforum.org/agenda/2022/12/polar-bears-and-climate-change-what-does-the-science-say/