พืชก็มีความเคลียด

พืชก็มีความเคลียด

16-12-2021
พืชก็มีความเคลียด

        หลายคนคงทราบกันดีว่า “ความเครียด” เป็นภาวะหนึ่งของอารมณ์หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในร่างกาย เมื่อเราต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ คับข้องใจหรือถูกบีบคั้น กดดันจนทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ใจ สับสน โกรธหรือเสียใจ ซึ่งคนเราเมื่อเกิดความเครียดก็จะสูญเสียสภาวะสมดุลของร่างกายและจิตใจไป ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลนั้น ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ รวมถึงพฤติกรรม ความเครียดแบบนี้หลายคนคงคุ้นเคยกันดีเนื่องจากเป็นความเครียดที่เกิดขึ้นทั่วไปในมนุษย์เรา แต่จะมีใครรู้อีกบ้างว่านอกจากมนุษย์เราแล้ว ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่สามารถเกิดความเครียดได้เช่นกัน

       พืชเป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่ยังต้องพึ่งพาอาศัยปัจจัยสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโต กระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในต้นพืชถูกควบคุมโดยปัจจัยภายในต้นพืชเองคือพันธุกรรม และปัจจัยภายนอก ได้แก่ แสงแดด น้ำ อากาศ อุณหภูมิ แร่ธาตุอาหาร และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมกับพืช ปัจจัยเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการกำหนดการเจริญเติบโตของพืช หากเรานำพืชที่มีพันธุกรรมดีมาปลูกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม พืชก็จะสามารถให้ผลผลิตสูงสุดเต็มขีดความสามารถของพืช แต่ถ้าสภาพแวดล้อมเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป อาจส่งผลทำให้พืชเกิดความเครียดได้

        ภาวะเครียดในพืชมีสาเหตุได้หลายประการ ไม่ว่าจะเครียดจากสภาพดินฟ้าอากาศ เช่น ปริมาณน้ำ แสงแดด ค่าความเค็ม ค่าความเป็นกรดด่าง อุณหภูมิ ปริมาณโลหะหนัก ปริมาณธาตุอาหารและมลภาวะต่าง ๆ หรือ ความเครียดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น ความเสียหายของต้นพืช ได้รับพิษจากสารกำจัดศัตรูพืช เชื้อโรค หนอนหรือแมลงทำร้ายต้นพืช ความเครียดเหล่านี้ส่งผลต่อการเติบโต ซึ่งพืชแต่ละชนิดจะมีกลไกในการตอบสนองต่อความเครียดที่แตกต่างกัน ภาวะเครียดในพืชบางชนิดอาจมีผลทำให้กระบวนการเมแทบอลิซึม (metabolism) ผิดปกติ อัตราการเติบโตด้านต่าง ๆ ลดลง จนไม่สามารถอยู่รอดได้และตายไปในที่สุด เช่น ถ้าเรารดน้ำพืชบ่อย ๆ อาจทำให้มีปริมาณน้ำในดินมากเกินไป ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในดินลดลง และกลายเป็นสภาพที่เอื้อต่อการเกิดเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งเป็นอันตรายต่อรากพืช อาจทำให้รากเน่าและตายได้ แต่พืชบางชนิดอาจเจริญอยู่ได้ภายใต้สภาวะเครียด เนื่องจากมีความสามารถปรับตัวในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลของพืช เช่น พืชที่ปลูกในดินที่มีเกลือสะสมอยู่มากหรือดินเค็ม จะทำให้รากพืชดูดน้ำไปใช้ได้ยากขึ้น พืชจึงปรับตัวโดยการสะสมสารบางอย่างไว้ เพื่อให้รากพืชสามารถดูดน้ำในดินไปใช้ได้นั่นเอง 

        ดังนั้นคงจะเป็นการดีไม่น้อย หากเราศึกษาและมีความเข้าใจกระบวนการทำงานต่าง ๆ ภายในต้นพืชเป็นอย่างดี ก็จะช่วยให้มนุษย์เราใช้ประโยชน์จากพืชได้มากขึ้น สามารถพัฒนาพีืชที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ ที่ตรงกับความต้องการของมนุษย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอยู่ในขณะนี้ 

เรียบเรียงโดย น.ส.ภัทราพร ทองเกษร 

ที่มาภาพ http://www.nibb.ac.jp/conf55/review/panel7.html

แหล่งอ้างอิง :
http://ag2.kku.ac.th/kaj/PDF.cfm?filename=04-Aed.pdf&id=560&keeptrack=14
http://natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/physio/lecture/document/2.doc
http://sci.bsru.ac.th/sciweb/e-magazine/10-2/chapter-4.pdf

ข่าวสารที่่คล้ายกัน