https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cactusbuffet&month=07-11-2017&group=1&gblog=7
ต้นไม้ในโลกนี้มีหลากหลายชนิด หลากหลายสายพันธุ์ และถ้าพูดถึงองค์ประกอบหลักที่คนเราเห็นต้นไม้ จะต้องมี ราก ลำต้น และใบ แต่ถ้าพูดถึงต้นไม้ ชนิดหนึ่งที่มีราก ลำต้น และ หนาม เราจะรู้เลยว่ามันคือ ต้นกระบองเพชร และเราหลายคนคงสงสัยว่าต้นกระบอกเพชรมีใบหรือไม่มี?
ลักษณะต้นกระบองเพชรส่วนใหญ่มีลำต้นเตี้ย และอวบน้ำ มีลักษณะเด่นคือหนามรอบต้น รูปร่างลักษณะก็แตกต่างกันไปซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ต้นกระบองเพชรมีถิ่นกำเนิดแถบทวีปอเมริกา อีกชื่อที่คนไทยใช้เรียกต้นกระบองเพชร คือ แคคตัส (cactus) ซึ่งเป็นภาษากรีกแปลว่า ต้นไม้ที่มีหนาม โดยปกติแล้วใบไม้ของพืชทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสง แลกเปลี่ยนแก๊ส และคายน้ำ(transpiration) การคายน้ำของพืชจะอยู่ในรูปของไอน้ำผ่านทางปากใบ (stomata) การคายน้ำของพืชช่วยในการลำเลียงน้ำและธาตุอาหารจากสารละลายในดินผ่านเนื้อเยื่อลำเลียงจากรากสู่ใบ ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการคายน้ำ คือ ความชื้นในบรรยากาศ เมื่ออากาศร้อน และความชื้นในบรรยากาศต่ำ พืชจะมีอัตราการคายน้ำสูง ดังนั้นต้นกระบองเพชรซึ่งมีถิ่นอาศัยส่วนใหญ่อยู่ในสภาพร้อน แห้งแล้งอย่างในทะเลทราย จึงจำเป็นต้องลดอัตราการคายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้สูญเสียน้ำมากเกินไป ด้วยการวิวัฒนาการลดรูปใบเปลี่ยนเป็นหนามนั่นเอง
แล้วกระบองเพชรสังเคราะห์ด้วยแสงได้อย่างไรเมื่อไม่มีใบ
ต้นไม้ทั่วไป จะมีใบไม้สีเขียว ซึ่งมีส่วนประกอบที่เรียกว่า คลอโรพลาสต์ (chloroplast) ภายใน จะมีรงควัตถุที่มีขนาดเล็กและสีเขียว เรียก คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) โดยคลอโรพลาสต์ จะช่วยในการสังเคราะห์แสง เพื่อสร้างอาหารหรือน้ำตาล ที่เป็นแหล่งพลังงานให้แก่พืชในการดำรงชีวิต หากเราสังเกตจะเห็นว่าแม้กระบอกเพชรจะไม่มีใบสีเขียว แต่บริเวณลำต้นมีสีเขียว ซึ่งเป็นที่อยู่ของคลอโรพลาสต์ ที่ทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสงเหมือนกับใบไม้ เพื่อช่วยสร้างอาหารแทนนั่นเอง
คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll)
https://www.thaibiotech.info/what-is-chlorophyll.php
ที่มาข้อมูล:
https://sites.google.com/site/cactusmhascrry/krabxng-phechr-hrux-khae-khtas-cactus
https://scimath.org/article-biology/item/1312-where-are-the-leaves-of-cactus
ผู้เรียบเรียง นายวันชนะ ทองพูน นักวิชาการ กองพัฒนากิจกรรม สำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์