คำอธิบายภาพ: เล่นอย่างสนุกสนาเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ต่างให้การยอมรับว่า การเล่นอย่างสนุกสนานเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็กในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ร่างกาย สติปัญญา
สังคมและอารมณ์ รวมถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เมื่อเด็ก ๆ เล่นอย่างสนุกสนานพร้อมกับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยทำให้พวกเขามีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น
ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นสนุกกับการเรียนรู้และความจำของเด็ก ยังเผชิญกับข้อจำกัดในเรื่องจริยธรรมวิจัย นักวิทยาศาสตร์จึงอาศัยการศึกษาเทียบเคียงกับการเล่นสนุกของสัตว์
และพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของสัตว์แทน เช่น Dewar (2017) ได้กล่าวถึงการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ เมื่อ ค.ศ. 1964 ทำการทดลองเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการจดจำและการเจริญเติบโต
ของเปลือกสมองสัมพันธ์กับการเล่นสนุกสนานของหนู พบว่า หนูที่ถูกเลี้ยงด้วยการขังเดี่ยวในสภาพแวดล้อมที่น่าเบื่อ หากเปรียบเทียบกับหนูที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยของเล่น
พบว่าหนูที่ถูกเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยของเล่นมีอัตราการเจริญเติบโตของเปลือกสมองเพิ่มมากกว่า และสามารถหาทางออกจากเขาวงกตได้เร็วกว่าหนูที่ถูกขังเดี่ยว
การเล่นสนุกจึงมีส่วนทำให้ระดับของ Brain-derived neurotrophic factor (BDNF) เพิ่มสูงขึ้น หรือกล่าวได้ว่า โปรตีนที่เป็นอาหารของเซลล์ประสาทสมอง มีส่วนช่วยกระตุ้นเซลล์ดังกล่าวให้
เกิดการแตกแขนง จึงเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทอย่างมากมาย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มีความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้และการจดจำ (Szwast, 2020) ฉะนั้น การเพิ่มขึ้นของ BDNF มีส่วนสำคัญใน
การกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การเรียนรู้เพิ่มสูงขึ้น
ในงานของ Pellegrini และ Holmes (2006) ยังชี้ด้วยว่าการเล่นสนุกสนานโดยไม่มีพ่อแม่กำหนดรูปแบบหรือแนวทางการเล่น จะทำให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนรู้ดีกว่า เช่นเดียวกันกับการเล่น
สนุกสนานและออกกำลังในเวลาว่างส่งผลดีต่อการเรียนรู้ ลักษณะดังกล่าวแตกต่างจากการออกกำลังกายในชั่วโมงพลศึกษา การเล่นสนุกของเด็กในเวลาว่างประมาณ 10-20 นาทีมีส่วนส่งเสริม
พัฒนาการเรียนรู้ที่ดี แต่ถ้าหากปล่อยให้เด็กพักและเล่นนานกว่า 30 นาที อาจทำให้เด็ก ๆ หันกลับมาเรียนต่อได้ยากกว่า ดังนั้น การให้เด็กได้มีช่วงพักและเล่นสนุกบ้างระหว่างเวลาเรียนในระยะเวลา
ที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้นให้พวกเขาสนใจเรียนได้มากกว่าการเรียนเพียงอย่างเดียว
ในปัจจุบัน การเตรียมความพร้อมของบุตรหลานเพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองหลายคนให้ความสนใจ
การมุ่งเน้นความสามารถทางวิชาการนับตั้งแต่วัยเยาว์ กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ปกครองในวัฒนธรรมเอเชีย เพราะมองถึงอนาคตที่ดีของเด็ก ๆ ในทางกลับกัน ผู้ปกครองฝั่งตะวันตกกลับให้ความ
สำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย การเล่นสนุกกับบุตรหลานจึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่กลับส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาความคิด และทักษะที่จำเป็นในด้านต่างๆ
ในงานของรมร แย้มประทุม (2559) ที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย อ้างถึงการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัยของนักวิชาการ Piaget (1962) ที่ได้เสนอว่า การเล่น
ของเด็กจะเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญาในแต่ล่วงวัย เด็กที่มีในสองขวบปีแรกใช้ประสาทสัมผัส และเรียนรู้ด้วยการทำซ้ำ เช่น กระโดดอยู่กับที่ การรับและปล่อยลูกบอล เรียกว่า
การเล่นแบบลงมือปฏิบัติ (Practice Play) สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 18 เดือนขึ้นไป จะเริ่มมีการเล่นสมมติ (Pretend Play) หรือสวมบทบาท (Socio-dramatic Play) หรือการเล่นแบบใช้
สัญลักษณ์แทน (Symbolic Play) เช่น การใช้ไม้กวาดเป็นกีตาร์ เชือกเป็นงู หรือการเล่นร่วมกับผู้อื่นและสวมบทบาทเป็นตัวละคร โดยมีกฎกติกาที่ผู้เล่นต้องปฏิบัติตาม หรือการเล่นโดยใช้
สัญลักษณ์แทนสิ่งของที่กำหนด เช่น ปรบมือสองครั้งเมื่อได้ยินชื่อสัตว์ที่บินได้จากคุณครู ซึ่งการเล่นแบบต่างๆเหล่านี้ ช่วยทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษา การเข้าใจผู้อื่น
และมีกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล และเกิดจินตนาการเนื่องจากการเล่นบทบาทสมมติ
คำอธิบายภาพ: เล่นสมมติบทบาทเพื่อส่งเสริมการสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
จากนั้น เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป การเล่นเกมที่มีกฎกติกาเพิ่มมากขึ้น เช่น การใบ้คำ การทายปัญหา การเล่นซ่อนหา หรือการเล่นเกมที่มีข้อกำหนดที่ผู้เล่นทุกคนต้องปฏิบัติ ทำให้เด็กได้เรียนรู้
เข้าใจ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ส่งผลต่อพัฒนาการการใช้เหตุผลในการเล่นมากขึ้น รวมถึงความสามารถในการควบคุมตนเองตามกติกาได้ดียิ่งขึ้น นอกจากการเล่นสนุกตามพัฒนาการตามช่วงวัยแล้ว
การสนับสนุนให้เด็กได้ทดลองหรือเล่นของเล่นประเภทการต่อชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีรูปทรงเป็นบล็อค ที่สามารถต่อกันได้หลากหลายรูปแบบ ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการแก้ปัญหาได้
หลากหลายวิธี เมื่อเปรียบเทียบกับการต่อรูปภาพที่มีผลลัพธ์เพียงทางเดียว เช่น การต่อภาพจิกซอร์
คำอธิบายภาพ: การต่อชิ้นส่วนของเล่นในรูปทรงที่เด็กต้องการ ช่วยฝึกจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหา
การเล่นสนุกสนานจึงแฝงไปด้วยคุณประโยชน์ที่ส่งเสริมการพัฒนาของเด็ก การปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นอย่างสนุกสนานและเหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย มีส่วนส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้ดียิ่งขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผู้ปกครองได้ใช้เวลาเล่นสนุกกับบุตรหลาน ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและให้ความอบอุ่นทางจิตใจให้กับเด็ก พวกเขาสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป
ผู้เขียน วิลาสินี ไตรยราช
แหล่งอ้างอิง
Dewar, G. (2017). The cognitive benefits of play: effects on the learning brain. มาจาก: https://www.parentingscience.com/benefits-of-play.html [เข้าถึงข้อมูลวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564]
Pellegrini, A. D., & Holmes, R. M. (2006). The role of recess in primary school. Play= learning: How play motivates and enhances children’s cognitive and social-emotional growth. Oxford, UK: Oxford.
Piaget, J. (1962). The relation of affectivity to intelligence in the mental development of the child. Bulletin of the Menninger clinic, 26(3), 129.
Szwast, M. (2020). BDNF Builds Better Brains. How to boost your child’s learning abilities. มาจาก: https://marlaszwast.medium.com/bdnf-builds-better-brains-23df752fac13 [เข้าถึงข้อมูลวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564]
รมร แย้มประทุม (2559). บทความฟื้นฟูวิชาการความสำคัญของการเล่นต่อพัฒนาการในเด็ก. วารสารสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย. 6(3), น. 275-278.