บทสนทนาสองทศวรรษครึ่ง – ย้อนดูเส้นทางระบบปฏิบัติการเปลี่ยนโลก

บทสนทนาสองทศวรรษครึ่ง – ย้อนดูเส้นทางระบบปฏิบัติการเปลี่ยนโลก

17-12-2021

ลินุส โตร์วัลดส์ (Linus Torvalds) อาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูสำหรับคนทั่วไป แต่คนในวงการคอมพิวเตอร์ผู้เคยสัมผัสระบบปฏิบัติการชนิดต่างๆ ในตระกูล ลินุกซ์ (Linux) น่าจะพอคุ้นเคยกับชื่อนี้มาบ้างในฐานะของผู้ให้กำเนิด ลินุกซ์เคอร์เนิล (Linux Kernel) หรือระบบฐานรากที่ถูกพัฒนาต่อมาเป็นระบบปฏิบัติการ Linux หลากหลายชนิด ไปจนถึงระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มีผู้ใช้หลายร้อยล้านคนในปัจจุบัน

ลินุสได้เผยแพร่ลินุกซ์เคอร์เนิลสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1991 ด้วยรูปแบบที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อน นั่นคือการนำโค้ดโปรแกรมทั้งหมดที่เขาเขียนขึ้นระหว่างเป็นนักศึกษา ออกมาให้นักพัฒนาอิสระสามารถดาวน์โหลดไปทดลองใช้งาน และส่งคำแนะนำหรือโปรแกรมส่วนขยายกลับมาให้เขารวบรวมเป็นเวอร์ชั่นสมบูรณ์ในแต่ละครั้ง นับเป็นครั้งแรกๆ ที่โลกได้รู้จักกับแนวคิด Free Software ที่ถูกต่อยอดจนปัจจุบันกลายมาเป็นแนวคิด Open-Source หรือซอฟต์แวร์ที่อนุญาตให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถนำโค้ดโปรแกรมไปดัดแปลงแก้ไขตามความพอใจของตัวเองได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ทรงพลังมากในยุคของธุรกิจเทคโนโลยีที่มีมูลค่ามหาศาล

สามปีหลังจากจุดกำเนิดของลินุกซ์เคอร์เนิล กลุ่มผู้ใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์เพิ่มจำนวนขึ้นนับหมื่นคนทั่วโลก จนมีผู้ที่สนใจทำนิตยสาร Linux Journal เพื่อเผยแพร่ข่าวสารในวงการลินุกซ์ขึ้น ในปี ค.ศ. 1994 นิตยสารฉบับแรกที่ตีพิมพ์และออกจำหน่ายในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1994 นั้นมีบทสัมภาษณ์ระหว่างลินุส กับ โรเบิร์ต (บ๊อบ) ยัง (Robert Young) ผู้ก่อตั้งระบบปฏิบัติการลินุกซ์ตระกูล Red Hat รวมอยู่ด้วย นับจนถึงปัจจุบัน (ปี ค.ศ. 2019) ก็เป็นกว่าเวลา 25 ปี นิตยสาร Linux Journal จึงถือโอกาสนี้ จัดให้ โรเบิร์ตและลินุส กลับมาพูดคุยกันอีกครั้งเพื่อระลึกความหลัง และมองย้อนไปบนเส้นทางสายซอฟต์แวร์ที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างสิ้นเชิง

[เนื้อหาต่อไปนี้เป็นเพียงบางส่วนจากบทสัมภาษณ์เต็ม (https://www.linuxjournal.com/content/25-years-later-interview-linus-torvalds) และมีการแทรกคำอธิบายเพิ่มเติมบางส่วนโดยผู้แปล]

………

บ๊อบ: จากที่เราคุยกันเมื่อปี 1994 คุณเคยมีความคิดหรือไม่ว่าจะยังคงดูแลลินุกซ์เคอร์เนิลอยู่จนถึงปัจจุบัน

ลินุส:  ตอนนั้นผมแค่ประหลาดใจที่โปรเจ็คตัวนี้ (ลินุกซ์เคอร์เนิล) ยังคงทำงานอยู่ เพราะว่าโดยปกติแล้วผมจะเลิกสนใจโปรเจ็คส่วนใหญ่เมื่อรู้สึกว่าได้ผลลัพธ์ตามที่ผมพอใจ แล้วก็เปลี่ยนไปทำเรื่องอื่นแทน แต่ในจุดนั้นตัวลิลุกซ์เคอร์เนิลดำเนินไปประมาณสองถึงสามปี แล้วมันก็เหมือนจะมีชีวิตของตัวเองขึ้นมา

ถ้าจำไม่ผิด ตอนนั้นผมคงไม่ได้คาดหวังว่าจะยังคงทำงานนี้ต่อมาอีกสิบกว่าปี แต่ก็มีความรู้สึกลึกๆ ว่าตัวโปรเจ็คนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมไปแล้ว ผมไม่เคยวางแผนระยะยาวให้กับลินุกซ์ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นคือผลของการแก้ปัญหาวันต่อวันมากกว่าการคิดไปถึงอนาคตห้าปีหรือสิบปี

บ๊อบ: คุณเคยมีมุกตลกประจำตัวเวลาที่ถูกถามถึงเป้าหมายของลินุกซ์ ว่าสักวันหนึ่งมันจะกลายเป็น “ผู้นำของโลกซอฟต์แวร์” ในวันนี้เรื่องตลกนั้นกลายเป็นเรื่องจริงแล้ว เป้าหมายต่อไปคืออะไร

ลินุส: ที่จริงผมเลิกเล่นมุกนี้ไปนานแล้ว เพราะพอผ่านไปนานๆ เข้ามันก็เริ่มไม่ค่อยน่าขำเท่าไหร่ แต่ยังไงมันก็คงเป็นแค่มุกตลกอยู่วันยังค่ำ เพราะความสำเร็จของลินุกซ์ไม่ได้เกี่ยวกับสิ่งที่เรา (นักพัฒนา Open-source และตัวลินุสเอง) ทำเลย เราแค่สนุกกับการสร้างเทคโนโลยีที่ดีขึ้นและรับความท้าทายใหม่ๆ แค่นั้นเอง ถ้าลองคิดดูแล้วจะเห็นว่าเบื้องลึกเบื้องหลังของเนื้องานที่เราทำกันจริงๆ นั้นไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย ที่เปลี่ยนไปคือรายละเอียดปยิบย่อย ทั้งเรื่องฮาร์ดแวร์ เรื่องปัญหาที่เราต้องแก้ ไปจนถึงบทบาทของตัวผมเอง อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่อง “การทำงานให้ดีขึ้นและมองหาความท้าทายใหม่ๆ” นั้นยังคงเดิม

ขอยกตัวอย่างประกอบให้เห็นภาพ ในปี ค.ศ. 1994 งานส่วนใหญ่ของผมคือ การเป็นนักพัฒนาโปรแกรม ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรวบรวมโค้ดจากนักพัฒนาคนอื่นๆ เข้าไปในลินุกซ์เคอร์เนิล และเขียนโค้ดของตัวเอง  แต่ทุกวันนี้ผมไม่ค่อยได้เขียนโค้ดสักเท่าไหร่ หากต้องเขียนก็จะเขียนเป็น Pseudocode (รหัสโปรแกรมเทียม) หรือตัวอย่างโค้ด แล้วส่งอีเมลไปให้นักพัฒนาตัวจริงช่วยเขียนให้เสียมากกว่า แต่ผมก็ไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นผู้จัดการ เพราะผมไม่ค่อยชอบดูแลเรื่องงบประมาณหรือเรื่องการขึ้นเงินเดือนประจำปี ดังนั้นสำหรับช่วงหลายปีมานี้ผมน่าจะต้องเรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้ควบคุมทางเทคนิค” (Technical Lead) เสียมากกว่า

 บ๊อบ: อีก 25 ปีข้างหน้า ตัวคุณและลินุกซ์เคอร์เนิลจะไปอยู่ตรงจุดไหน

ลินุส:  ถึงตอนนั้นผมจะอายุ 75 ปี และคงไม่ได้เข้าไปทำงานวันต่อวันเหมือนเดิมอีกแล้ว แต่คิดอีกที... หลังจากที่ทำงานแบบนั้นมาร่วม 30 ปี ผมอาจยังสนใจทำโปรเจ็คนี้ต่อไปก็ได้นะ

ข่าวดีก็คือทุกวันนี้เรามีกลุ่มนักพัฒนาที่แข็งแกร่งมากอยู่ในมือ ผมเลยไม่เคยกังวลถึงปัญหาว่าผมยังจำเป็นกับโปรเจ็คนี้อยู่หรือเปล่าเพราะพวกเขาทำหน้าที่ได้ดีมากอยู่แล้ว นักพัฒนาพวกนี้คงจะยังทำงานอยู่และแก่ตัวไปพร้อมๆ กับโปรเจ็ค แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่รับคนเพิ่มนะ สาเหตุที่คนจะอยู่กับโปรเจ็คต่อไปอีกนาน เพราะพวกเขายังคงมีความสุขกับงานที่ทำนั่นเอง

ผมเคยมีความคิดเล็กๆ ว่าสักวันหนึ่งจะมีระบบปฏิบัติการใหม่ที่เจ๋งๆ สักตัวนึงจะเข้ามาแทนที่ลินุกซ์ (ช่วงปี 1994 ผมยังคิดอยู่ว่าเฮิร์ด (ระบบปฏิบัติการ Hurd อาจทำสำเร็จ) ) แต่เรื่องนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง ผมคิดว่าไม่ใช่เพราะเรายังคงทำงานกันได้ดี แต่เป็นเพราะปัจจุบันนี้การสร้างระบบปฏิบัติการใหม่ขึ้นจากศูนย์เป็นเรื่องที่ยากเกินไป เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากคนจำนวนมาก และนั่นคือจุดแข็งของสังคม Open-source ที่เรามีอยู่ ทำให้การพัฒนาต่อจากของเดิมที่มีอยู่แล้วเลยเป็นเรื่องที่เหมาะสมกว่าการสร้างใหม่ด้วยประการทั้งปวง

ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เราคาดไม่ถึง ผมคิดว่าลินุกซ์จะยังอยู่ไปอีก 25 ปีอย่างไม่ยากเย็นนัก ไม่ใช่เพราะลักษณะพิเศษอะไรของตัวระบบแต่เป็นพราะรูปแบบการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ตอบปัญหาการใช้งานของผู้ใช้เสียมากกว่า

 บ๊อบ: คุณพอใจกับการปรับปรุงลินุกซ์เคอร์เนลในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้หรือไม่ และเคยมีเหตุให้ต้องเขียนบางส่วนของโค้ดที่ถูกใช้งานมาตลอด 25 ปี ใหม่บ้างไหม อย่างเช่นการเปลี่ยนไปใช้ภาษาอื่นที่ใหม่กว่าภาษาซี อะไรแบบนี้

ลินุส:  เคยมีการเขียนส่วนย่อยภายในระบบใหญ่ (Subsystem) ใหม่อยู่หลายครั้ง แน่นอนว่าเราไม่ได้ทำทั้งหมดนั้นในทีเดียว โค้ดหลายส่วนกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครกลับไปแก้ไขซ้ำอีก ส่วนใหญ่เป็นพวกโปรแกรมที่เชื่อมต่อ Hardware เข้ากับ Software หรือ Driver สำหรับอุปกรณ์รุ่นโบราณที่แทบไม่มีคนใช้แล้ว ข้อดีของการมีโค้ดโปรแกรมชุดใหญ่ไว้ด้วยกัน (Unified source base) คือเรายังสามารถแก้ไขโค้ดทั้งหมดได้ตลอดเวลา ถ้าจำเป็น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีโค้ดโปรแกรมส่วนเล็กๆ บางส่วนที่ไม่สำคัญต่อการพัฒนาในภาพรวม ซึ่งไม่ถูกนำมารวมอยู่ในชุดโปรแกรมใหญ่อยู่บ้างเหมือนกัน

ประเด็นเรื่องการใช้ภาษาซีนั้น พวกเรามองว่ายังไม่มีอะไรที่ดีกว่ามาแทนที่มันได้เลย ตลอดเวลาที่เราพัฒนาเคอร์เนิล ภาษาซีก็ถูกพัฒนาขึ้นมาตลอดด้วยเช่นกัน พวกเราได้เพิ่มความสามารถบางอย่างให้ตัวภาษาซีที่เราใช้ เช่น การตรวจสอบประเภทข้อมูล (Type-Checking) การตรวจสอบระหว่างการทำงาน (Runtime Verification) ระบบความปลอดภัย (Hardening) แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังเป็นภาษาซีคนดีคนเดิม

เท่าที่ดูมันจะยังคงเป็นแบบนั้นต่อไปอีกสักพักนึง ภาษาโปรแกรมมิ่งที่ยังมีการพัฒนาส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ภาษาระดับ low-level (ภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาเครื่อง ตรงข้ามกับภาษาระดับสูงที่ใกล้เคียงภาษามนุษย์) ซึ่งเข้ามาอำนวยความสะดวกในการพัฒนาโปรแกรมในยุคใหม่ๆ เช่น การทำ Graphic User Interface ที่สวยงาม มากกว่าจะทำงานที่จำเป็นสำหรับเคอร์เนิล เช่น การจัดการหน่วยความจำ

จริงๆ แล้วในลินุกซ์เคอร์เนิลนั้นก็มีภาษาโปรแกรมมิ่งอื่นที่เราสร้างขึ้นเพื่อใช้เฉพาะจุด อย่างเช่น การตั้งค่าเล็กๆ น้อยๆ  หรือการสร้างชุดคำสั่งที่ใช้บ่อย ดังนั้นเราก็คงพูดไม่ได้เต็มปากว่าภาษาซีเป็นเพียงภาษาเดียวในการพัฒนาลินุกซ์เคอร์เนิล แต่อย่างไรก็ตามอัตราส่วนของภาษาซีก็ยังนับว่ามากที่สุดอยู่ดี

 บ๊อบ: ในฐานะที่เป็นผู้สร้างลินุกซ์ คุณมีคำแนะนำสำหรับการเลือกอุปกรณ์ที่ดีที่สุดสำหรับลินุกซ์บ้างหรือไม่ จะเป็นคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค หรือ สมาร์ทโฟนก็ได้

ลินุส:  คอมพิวเตอร์เครื่องหลักของผมเป็นแค่เวิร์กสเตชั่นธรรมดา ชิ้นส่วนของมันถูกเปลี่ยนไปมาตลอดหลายปี ไม่มีอะไรเป็นพิเศษเลย ที่จริงครั้งสุดท้ายที่ผมอัพเกรดมันคือเมื่อประมาณสองปีก่อน แปลว่าตอนนี้มันน่าจะตกรุ่นไปเรียบร้อยแล้ว เรื่องเดียวที่ผมค่อนข้างใส่ใจกับคอมพิวเตอร์ที่บ้านคือมันต้องทำงานได้เงียบที่สุด นอกจากพัดลมสองตัวที่ไม่ได้ทำงานตลอดเวลาแล้วก็ไม่มีส่วนอื่นที่ขยับเขยื้อนได้เลย แน่นอนว่าไม่มีแผ่นดิสก์ที่หมุนได้อยู่ในนั้น

     สำหรับการทำงานนอกสถานที่ (ซึ่งก็ไม่ค่อยบ่อยเท่าไหร่) ผมใส่ใจแค่เรื่องหน้าจอและน้ำหนัก เป้าหมายที่ผมยังทำไม่สำเร็จคือการหาโน๊ตบุ๊คที่มีน้ำหนักรวมสายชาร์จไม่เกิน 1 กิโลกรัม ทุกวันนี้ผมเลยต้องใช้ Dell XPS13 ซึ่งใกล้เคียงที่สุดไปก่อน

 

Image Apr 1 1

ลินุส โตร์วัลดส์  

Image Apr 1 2

โรเบิร์ต ยัง 

บ๊อบ: ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าความสำเร็จส่วนใหญ่ของลินุกซ์ไม่ได้เกิดจากจำนวนผู้ใช้ในคอมพิวเตอร์ แต่เกิดจากอุปกรณ์พกพาที่ใช้ระบบแอนดรอยด์ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

ลินุส:  เป็นที่ชัดเจนว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะไม่ได้เป็นผู้นำตลาดเหมือนที่เคยเป็น ถึงแม้หลายๆ คนจะเป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้งานเพียงแค่เว็บบราวเซอร์และโปรแกรมอื่นๆ ไม่กี่โปรแกรมเท่านั้น มีแค่ผู้ใช้เฉพาะทางจำนวนไม่มากซึ่งใช้เวิร์กสเตชั่น ที่เป็นกลุ่มที่ผมสนใจเป็นการส่วนตัว แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยเกินกว่าจะสามารถทำให้ตลาดกลับมาคึกคักได้เหมือนเมื่อก่อน คอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่มีประสิทธิภาพสูงกลายเป็นเครื่องมือของคนฉพาะกลุ่ม เช่นพวกนักพัฒนา นักเล่นเกม หรือคนที่ทำงานตัดต่อ คนทั่วไปที่ใช้งานแค่การเล่นอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้คอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพธรรมดาๆ หรือพวกอุปกรณ์พกพาก็มีประสิทธิภาพก็เพียงพอแล้ว ถ้าสนใจแค่ตัวเลขจำนวนผู้ใช้ก็คงต้องยอมรับว่าแอนดรอยด์กลายเป็นจ้าวตลาดไปแล้วจริงๆ

[ข้อมูลเพิ่มเติมจากบ๊อบ: แม้ว่ายอดการซื้อคอมพิวเตอร์จะลดลงในช่วงสองถึงสามปีให้หลัง แต่อัตราการเติบโตสะสมของตลาดคอมพิวเตอร์ระหว่างปี 1994-2014 ก็แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันจำนวนคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าสี่ถึงห้าเท่าทุกปี เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1994]

 ………

 บ๊อบ: นิตยสาร Linux Journal ฉบับที่บทสัมภาษณ์ของเราจะถูกตีพิมพ์นี้ พูดเรื่องเยาวชนและลินุกซ์เป็นเนื้อหาหลัก คุณพอจะมีคำแนะนำให้กับโปรแกรมเมอร์รุ่นเยาว์หรือนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์บ้างหรือเปล่า

ลินุส:  สำหรับเรื่องนี้ผมคงจะเป็นคนที่ให้คำตอบได้แย่ที่สุด ตอนเด็กๆ ผมแค่รู้ว่าผมชอบคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ แล้วผมก็ศึกษาเรื่องพวกนั้นด้วยตัวเองจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เกือบทุกอย่างที่ผมทำเกิดจากแรงขับเคลื่อนของตัวผมเอง ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยเข้าใจความยากลำบากที่หลายคนต้องเจอ เวลาที่ต้องเลือกเป้าหมายในชีวิตเพราะปัญหานั้นไม่เคยเกิดขึ้นกับผมเลย

………

 บ๊อบ: ตอนที่เราคุยกันครั้งก่อน ผมเคยถามคุณเกี่ยวกับวิธีจัดการอีเมลจำนวนมากหลังจากต้องออกไปทำงานนอกออฟฟิศเป็นเวลานานๆ คำตอบของคุณที่ว่าคุณจะ “ลบอีเมลที่ยังไม่ได้อ่านทั้งหมดทิ้งไปเลย เพราะถ้าอีเมลนั้นเป็นเรื่องสำคัญ คนที่ส่งอีเมลนั้นมาก็จะส่งมันกลับมาอีกครั้ง” ยังคงประทับใจผมจนถึงตอนนี้ อยากรู้ว่าทุกวันนี้คุณยังทำแบบนั้นอยู่รึเปล่า (* การรับ-ส่งอีเมลในสมัยนั้นยังใช้ระบบกล่องจดหมายในคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องดาวน์โหลดอีเมลทั้งหมดเข้ามาที่เครื่องส่วนตัวทุกครั้งก่อนเปิดอ่าน ทำให้ไม่สามารถเช็คอีเมลจากคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ได้เหมือนปัจจุบัน – ผู้แปล)

ลินุส: คำตอบนั้นยังคงเป็นจริงอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ในอีกด้านนั้นผมก็ปรับรูปแบบการทำงานของตัวเองไปพอสมควร ทำให้การหายจากออฟฟิศไปเป็นเวลานานๆ ไม่ค่อยส่งผลกระทบกับการรับส่งอีเมลมากนัก ยกเว้นกรณีที่จำเป็นต้องเดินทางไปในที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตเกินหนึ่งหรือสองวัน (เช่น เวลาที่ผมไปออกทริปดำน้ำลึก) ผมก็จะแจ้งให้ทุกคนทราบล่วงหน้าก่อน แต่นั่นก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อย  

เพราะทุกวันนี้ผมใช้อีเมลบนระบบคลาวด์ ผมเลยสามารถเช็คอีเมลได้จากคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คในทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ต สะดวกขึ้นกว่าสมัยก่อนมากทีเดียว

แล้วก็ไม่ใช่แค่อีเมล การพัฒนาเคอร์เนิลทุกวันนี้ใช้ระบบ GIT (ระบบการจัดการ Version Control รูปแบบหนึ่งที่ใช้เพื่อควบคุมการพัฒนาซอฟต์แวร์ระหว่างทีมที่มีนักพัฒนาหลายคน โดยทุกคนสามารถดาวน์โหลดโค้ดโปรแกรมไปแก้ไขในเครื่องของตัวเอง และส่งกลับมารวมกับคนอื่นได้ผ่านอินเทอร์เน็ต – ผู้แปล) ทำให้ผมสามารถใช้คอมพิวเตอร์เครื่องไหนทำงานก็ได้ ต่างจากเมื่อก่อนที่ผมต้องรวบรวมโค้ดโปรแกรมจากโปรแกรมเมอร์แต่ละคนทางอีเมลด้วยตัวเอง

แต่ผมก็ยังเชื่อว่า “ถ้ามันสำคัญ เดี๋ยวคนส่งก็ส่งมาใหม่” คนส่วนมากรู้ว่าผมออนไลน์เกือบตลอดเวลา ดังนั้นถ้าผมไม่ได้ตอบอีเมลหรือคำขอต่างๆ ในวันสองวันก็แปลว่าอีเมลพวกนั้นน่าจะหายไปในกองอีเมลจำนวนมหาศาล แล้วพวกเขาก็จะส่งอีเมลฉบับใหม่มาเอง

จริงๆ แล้วพอลองคิดดู สมัยปี ค.ศ. 1994 ผมก็ไม่ได้ทำงานเยอะเท่าไหร่นัก ผมสามารถหายตัวไปหนึ่งสัปดาห์เต็มๆ โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่มันแย่ลงเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีถัดมา จุดที่แย่สุดเกิดขึ้นตอนที่เราเลือกข้ามการสร้างแพตช์ (การนำโค้ดโปรแกรมที่มีผู้ส่งเข้ามาเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างมารวมกับโค้ดโปรแกรมหลักของลินุกซ์เคอร์เนิล – ผู้แปล) บางตัว เพราะผมได้รับอีเมลเยอะเกินไปจนไม่มีเวลาทำงานทั้งหมด และรู้ว่าเดี๋ยวผู้ที่ส่งเข้ามาจะส่งมาใหม่

ช่วงเวลาของความโกลาหลนั้นหายไปพร้อมกับการเข้ามาของเครื่องมืออย่าง BitKeeper (ระบบจัดการ Version Control ชนิดหนึ่ง – ผู้แปล) และ Git หลังจากนั้นผมก็ไม่ต้องรอรับอีเมลนับพันฉบับจนล้นกล่องจดหมายอีกต่อไป

กฎอีกข้อสำหรับผมที่อาจสำคัญกว่า “ถ้ามันสำคัญ เดี๋ยวคนส่งก็ส่งมาใหม่” ก็คือ “ถ้าผมไม่จำเป็นต้องตอบอีเมลฉบับไหน ผมก็จะไม่ตอบ” ถ้าผมรู้สึกว่าอีเมลฉบับไหนสามารถถูกตอบได้โดยคนอื่น ผมก็จะไม่สนใจมันเลย บางคนอาจตั้งระบบตอบรับอัตโนมัติเมื่อได้รับอีเมล แต่ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าถ้ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ผมจำเป็นต้องสนใจ ผมก็จะไม่สนใจมันโดยสิ้นเชิง

ผมได้รับอีเมลจำนวนมากทุกวัน และผมก็ไม่ได้ตอบอีเมลส่วนใหญ่ เพราะในความเป็นจริงแล้วงานของผมคือการอยู่ในจุดที่ต้องรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง นั่นทำให้ผมต้องอ่านอีเมลเยอะ แต่ผมไม่ค่อยเขียนเยอะหรอกนะ

 ………

 บ๊อบ: พวกเราหลายคนชื่นชมในความตรงไปตรงมาของคุณ โดยเฉพาะในเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางต่างๆ ของเทคโนโลยีลินุกซ์ แม้ว่าการตอบคำถามของคุณหลายๆ ครั้งในอดีตจะกระทบจิตใจคนอื่นไปบ้าง คุณคิดว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายปีนี้แนวทางการเจรจาของคุณเปลี่ยนไปในทิศทางที่นุ่มนวลขึ้นบ้างหรือเปล่า

ลินุส:  ถ้าพอจะมีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง ผมคิดว่าที่ผ่านมาผมสงบปากสงบคำมากขึ้น ไม่ใช่นุ่มนวล แต่ค่อนข้างระมัดระวังและไม่แข็งกร้าวแบบที่เคยเป็น

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมเป็นแบบนี้ เพราะว่าคนส่วนมากมองผมต่างไปจากในอดีต พวกเราเคยเป็นกลุ่มนักพัฒนาที่เป็นพวกคงแก่เรียนที่ต้องการทำอะไรสนุกๆ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ต้องมีการควบคุม แต่ทุกวันนี้หลายๆ อย่างเปลี่ยนไปแล้ว เรามีสังคมเครือข่ายนักพัฒนาโปรแกรมนับพันคนที่ทำงานอยู่ด้วยกัน เอาแค่เฉพาะคนที่ส่งแพตช์มาให้เราไม่รวมถึงคนที่ทำงานอื่นๆ

ที่ผมพูดว่า “ปัจจุบันผมถูกมองต่างไปจากอดีต” หมายความว่าคำพูดทุกคำของผมจะถูกเอาไปวิเคราะห์อย่างจริงจัง ต่างไปจากที่เคยเป็นในสมัยก่อน  และนั่นทำให้ผมไม่สามารถออกความเห็นแบบขวานผ่าซากได้อีกแล้ว

โดยส่วนตัวแล้วผมยังคงออกมาบ่นออกสื่อ เวลามีคนหรือบริษัททำอะไรเพี้ยนๆ อยู่เหมือนเดิม แต่ผมก็ต้องระลึกไว้ว่าการบ่นของผมจะถูกคนพูดถึงไปอีกเป็นสิบปี ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่ค่อยคุ้มกันเท่าไหร่...

 ………

     บทสัมภาษณ์นี้ถือเป็นการเปิดเผยแนวคิดและตัวตนของผู้ทรงอิทธิพลในโลกเทคโนโลยี ผู้ซึ่งไม่นิยมสื่อสังคมออนไลน์ และไม่มีช่องทางการสื่อสารใดๆ กับสาธารณะชน รวมถึงไม่ค่อยปรากฎตัวในสื่อต่างๆ บ่อยนัก และเป็นที่น่าสนใจว่าทิศทางของการพัฒนาซอฟต์แวร์ลินุกซ์ในอีก 25 ปีข้างหน้าจะเป็นไปตามที่ลินุสคาดการณ์ไว้หรือไม่นั้น ก็คงเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกต้องคอยติดตามชมต่อไป

 

แหล่งข้อมูลค้นคว้าและภาพจาก:

[1] https://www.linuxjournal.com/content/25-years-later-interview-linus-torvalds

[2] https://www.linuxjournal.com/article/2736

[3] http://www.facesofopensource.com/linus-torvalds/

[4] http://freesoftwaremagazine.com/articles/interview_with_bob_young/

 

ผู้เขียนและเรียบเรียง: นายวชิรพันธ์ เจริญเวช นักวิชาการ5 กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ

 

ข่าวสารที่่คล้ายกัน