ร่างกายมนุษย์ มีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าอาศัยอยู่จำนวนหลายล้านตัว ที่เรารู้จักกันในนาม จุลินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็น แบคทีเรีย รา ไวรัส ซึ่งมีทั้งก่อโรค คือส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้มีอาการเจ็บป่วย และไม่ก่อโรคซึ่งอาจจะไม่มีผลต่อสุขภาพ แต่ในทางกลับกันอาจมีประโยชน์อีกด้วย โดยจุลินทรีย์ที่มีชีวิตบางชนิดหากอยู่ในบริเวณที่เหมาะสมในร่างกายและปริมาณที่เหมาะสม ก็จะส่งผลดีต่อร่างกายมนุษย์ จุลินทรีย์เหล่านี้เรารู้จักกันในชื่อของ จุลินทรีย์โพรไบโอติก (Probiotics)
จุลินทรีย์โพรไบโอติกส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของแบคทีเรีย โดยเฉพาะแบคทีเรียกรดแลคติก (Lactic Acid Bacteria) จะพบได้บริเวณระบบทางเดินอาหาร มีมากบริเวณลำไส้ เพราะเป็นบริเวณที่มีค่า pH ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียเหล่านี้ ซึ่งแบคทีเรียกลุ่มนี้สามารถผลิตกรดแลคติกออกมาเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย นอกจากในระบบทางเดินอาหารในร่างกายของเราแล้ว เรายังพบแบคทีเรียกลุ่มนี้ได้ในอาหารหมักดอง ต่าง ๆ นมเปรี้ยว ผัก ผลไม้ เป็นต้น ซึ่งการบริโภคอาหารเหล่านี้ จะเป็นการเพิ่มแบคทีเรียกลุ่มนี้เข้าสู่ร่างกายเราได้อีกด้วย แต่หากบริโภคมากเกินไป ก็อาจส่งผลร้ายมากกว่าดี แบคทีเรียกรดแลคติกมีหลากหลายสายพันธุ์ ที่พบมากที่สุดคือกลุ่มของ แลคโตบาซิลัส (Lactobacillus), บิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacterium), เอนเทอโรคอคคัส (Enterococcus) ด้วยประโยชน์ที่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้น เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และอื่น ๆ ทำให้แบคทีเรียกลุ่มนี้ เป็นที่สนใจในการนำมาศึกษาหาคุณสมบัติ หรือสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติในด้านต่าง ๆ รวมถึงมีบางงานวิจัย ที่เริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของแบคทีเรียกรดแลคติก (Lactic Acid Bacteria) ที่สามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่ภายในร่างกาย โดยร่างกายใช้ คอเลสเตอรอล เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสารต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ฮอร์โมน กรดน้ำดี เป็นต้น ซึ่งหากร่างกายมีปริมาณคอเลสเตอรอลที่มากเกินไป จะส่งผลต่อร่างกายได้ โดยเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น หลอดเลือดอุดตัน หลอดเลือกสมอง โรคหัวใจ เป็นต้น ซึ่งการรับประทานยาต่าง ๆ ก็อาจจะเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมา ดังนั้นจึงได้มีการวิจัยเพื่อที่จะนำเอาจุลินทรีย์โพรไบโอติกมาใช้ในการลดคอเลสเตอรอลในร่างกาย โดยพบว่าแบคทีเรียกรดแลคติกบางชนิด สามารถสร้างเอนไซม์ Bile salt hydrolase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยย่อยเกลือน้ำดีให้อยู่ในรูปที่สามารถขับออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระได้ เพื่อมาทดแทนเกลือน้ำดีที่ถูกขับออกไป ร่างกายก็จะดึงเอาคอเลสเตอรอลที่เก็บสะสมไว้มาใช้มากขึ้น เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการสร้างเกลือน้ำดีใหม่ ส่งผลให้คอเลสเตอรอลในร่างกายถูกนำมาใช้มากขึ้น ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลงนั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์ยังคงให้ความสนใจและคัดเลือกสายพันธุ์แบคทีเรียกรดแลคติกที่มีคุณสมบัติที่มีประสิทธิภาพในการลดคอเลสเตอรอลมากที่สุด ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาพยาบาลแบบลดการใช้ยาหรือสารเคมี ซึ่งอาจมีผลต่อข้างเคียงการร่างกายได้ ซึ่งในอนาคตอาจจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงอาจจะพัฒนาไปสู่ระดับอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริมต่าง ๆ ต่อไป
ผู้เขียน ณัฐชา ศิริโชตินันท์
ที่มาของแหล่งข้อมูล
1. Izadi, Z., Nasirpour, A., Izadi, M. and Izadi, T.. (2012). MiniReview Reducing blood cholesterol by a healthy diet. International Food Research Journal, 19(1), 29-37.
http://www.ifrj.upm.edu.my/19%20(01)%202011/(4)IFRJ-2011-032%20Ali.pdf/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 27 มกราคม 2564
2. F Guarner, G.J Schaafsma, (1998). Probiotics, International Journal of Food Microbiology, 39(3), 237-238, https://doi.org/10.1016/S0168-1605(97)00136-0. เข้าถึงข้อมูล
วันที่ 27 มกราคม 2564
3. Jain, S., Yadav, H. and Sinha, P.R. (2009). Antioxidant and cholesterol assimilation activities of selected lactobacilli and lactococci cultures. J Dairy Res. 76, 385-391.
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19638266/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 27 มกราคม 2564
4. Young Tae Ahn, Geun Bae Kim, Kwang Sei Lim, Young Jin Baek, Hyun Uk Kim. (2003), Deconjugation of bile salts by Lactobacillus acidophilus isolates, International
Dairy Journal, 13(4), 303-311, https://doi.org/10.1016/S0958-6946(02)00174-7. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 27 มกราคม 2564
5. Nutcha Sirichotinun, Ulisa Pachekrepapol, Kwannan Nantavisai, Malai Taweechotipatr, Sirinun Nilwarangkoon. (2020), Probiotic characterization and in vitro cholesterol
lowering effects oflactic acid bacteria isolated from healthy Thai infants. Songklanakarin Journal of Science and Technology,42,671-677.
https://doi.nrct.go.th//ListDoi/listDetail?Resolve_DOI=10.14456/sjst-psu.2020.85. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 27 มกราคม 2564
6. Analie Lourens-Hattingh, Bennie C Viljoen. (2001), Yogurt as probiotic carrier food, International Dairy Journal, Volume 11, Issues 1–2, , Pages 1-17 ,
https://doi.org/10.1016/S0958-6946(01)00036-X. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 27 มกราคม 2564
7. สำนักโภชนาการกรมอนามัย. (2557), คอเลสเตอรอลและกรดไขมันในอาหารไทย. จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/images/files/cholesterol_n.pdf.
เข้าถึงข้อมูลวันที่ 28 มกราคม 2564
8. Jeerasak Yartrak1 , Wichayaporn Yuenyang1 , Weeraya Pengchuay1 and Monthon Lertcanawanichakul. 2014, An In-Vitro Study of Cholesterol Reduction in Man
Rogosa Sharpe Broth by Lactic Acid Bacteria. Thaksin.J., 17 (1). https://tci-thaijo.org/index.php/tsujournal/article/viewFile/43455/35907. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 28 มกราคม 2564