"หมีน้ำ" สัตว์ตัวจิ๋วที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ก็มีจุดอ่อนที่ไม่มีคาดคิด

"หมีน้ำ" สัตว์ตัวจิ๋วที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ก็มีจุดอ่อนที่ไม่มีคาดคิด

18-12-2021
"หมีน้ำ" สัตว์ตัวจิ๋วที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ก็มีจุดอ่อนที่ไม่มีคาดคิด

ทาร์ดิเกรดเป็นสัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ทนทานต่อทุกสภาวะแม้ไร้อากาศ ไร้น้ำ

ทาร์ดิเกรด (Tardigrade) หรือ "หมีน้ำ" เป็นสัตว์ในไฟลัมทราดิกราดา (Tradigrada) ที่อยู่ในกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง หมีน้ำถูกค้นพบครั้งแรกโดย โยฮานน์ ออกุสต์ อิปพาเรียม เกิทเซอ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน และคำว่า "Tardigrade" มีความหมายว่า "ตัวเดินช้า" (Slow walker)

"หมีน้ำ" นั้นได้ชื่อมาจากท่าทางการเดินของพวกมัน หมีน้ำมีรูปร่างเหมือนหนอนตัวอ้วน ๆ มีรูปร่างเป็นปล้อง มีขนาดเล็กจนแทบมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเมื่อโตเต็มที่มีขนาดเพียง 1.5 มิลลิเมตร และมีขา 8 ขา มีเล็บที่แหลมคม มีสีสันที่หลากหลาย โดยหมีน้ำนี้ส่วนมากมักจะเป็นสัตว์จำพวกกินพืชสามารถพบได้ทั่วโลก แม้ว่าหมีน้ำเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กจิ๋ว แต่ก็ทนทรหดต่อสภาพอากาศที่โหดร้ายที่สุดสำหรับสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ว่าจะเป็นสภาวะไร้ออกซิเจน,ภาวะอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งหรือสูงกว่าจุดเดือด. , สภาพสุญญากาศ, สภาพที่มีรังสีที่อันตรายเข้มข้นสูง สามารถอยู่ในสภาพจำศีลแน่นิ่งที่ไม่มีน้ำได้เป็นเวลานานหลายสิบปี ทั้งสามารถฟื้นกลับคืนมาเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวาได้อีกครั้งเมื่อได้รับน้ำ
 

waterbears

ผลวิจัยล่าสุดชี้ว่าหมีน้ำอาจไม่ได้แข็งแกร่งขั้นสุดยอดอย่างที่เข้าใจกันมา มันสามารถจะถูกภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศทำร้ายเอาได้ง่าย ๆ เหมือนกับสัตว์โลกทั่วไป ทีมนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องนี้ลงในวารสาร Scientific Reports โดยระบุว่าได้ทำการทดลองกับหมีน้ำจำนวนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ เพื่อทดสอบถึงความสามารถในการทนต่ออุณหภูมิที่สูงเป็นเวลายาวนานของหมีน้ำ โดยการทดลองพบว่าหมีน้ำไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างฉับพลันได้เป็นเวลานานอย่างที่เคยคิดกัน โดยพวกมันมีอัตราการตายสูง
ถึง 50% เมื่อต้องอาศัยในภาวะที่มีอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา24 ชั่วโมง เมื่อทดลองในสภาวะจำศีลซึ่งถือว่าเป็นสภาวะที่แข็งแกร่งที่สุด หมีน้ำก็ยังมีอัตราการตาย 50% ที่อุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียส ในเวลา 24 ชั่วโมง ต่อมาได้มีการทดลองให้หมีน้ำที่อาศัยในสภาวะปกติ ได้ปรับตัวกับสภาพที่อุณหภูมิค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยเริ่มจาก 30 องศาเซลเซียส เป็น 35 และ 37.6 องศาเซลเซียส ตามลำดับ พบว่าพวกมันมีอัตราการอยู่รอดเพิ่มสูงขึ้นมาก จากผลการศึกษานี้ทำให้เราได้ทราบว่า ปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการมีชีวิตรอดของหมีน้ำคืออุณหภูมิที่มันเผชิญอยู่และระยะเวลาที่มันต้องอาศัยอยู่ในอุณหภูมินั้น ยิ่งมันต้องอาศัยอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงนานเท่าไหร่ โอกาสรอดชีวิตของมันจะลดต่ำลง

แม้สัตว์ที่ได้ชื่อว่าแข็งเกร็ง และทนทานต่อทุกสภาวะแล้ว วันหนึ่งเมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิไปในทิศทางที่สูงขึ้น หรือสภาพอากาศที่ย่ำแย่มากกว่าที่เป็นในปัจจุบัน ปัจจัยเหล่านั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของหมีน้ำได้ด้วยเช่นกัน
 

 

ผู้เขียน: ชวกร กัณหดิลก
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.

ที่มาแหล่งข่าว
https://www.bbc.com/thai/features-51113381

ที่มาแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม 
https://th.wikipedia.org/wiki/หมีน้ำ
http://siamensis.org/article/7003
https://www.nationalgeographic.com/news/2018/03/tardigrade-water-bear-parking-lot-japan-spd/

ที่มาภาพ
https://www.bbc.com/thai/features-51113381
https://hilight.kapook.com/view/131778

ข่าวสารที่่คล้ายกัน