โรคพยาธิยังคงเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของไทย เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การบริโภคอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะผู้คนในแถบภาคอีสานที่มักจะใช้เนื้อ หรือเลือดวัวดิบประกอบอาหาร รวมถึงการรับประทานผักและผลไม้สด โดยไม่ล้างทำความสะอาด ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษแล้ว ยังอาจทำให้ร่างกายของเราติดพยาธิได้อีกด้วย
พยาธิ คือ สิ่งมีชีวิตที่เป็นปรสิต (Parasite) อาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ ดำรงชีวิตด้วยการแย่งและดูดสารอาหารจากร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่เข้าไปอาศัยอยู่ พยาธิมีหลายชนิด โดยสามารถพบระยะต่าง ๆ ของพยาธิปะปนอยู่ในธรรมชาติที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต เช่น ในดิน ในน้ำ พื้นหญ้า เนื้อสัตว์ พืช ผัก ผลไม้ น้ำดื่ม และในแมลงพาหะนำโรคหลายชนิด พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้หลายทาง เช่น ทางปาก ได้แก่ พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวตืดชนิดต่าง ๆ พยาธิใบไม้ตับ พยาธิใบไม้ลำไส้ พยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ปอด และพยาธิหอยโข่ง ทางผิวหนัง ได้แก่ พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย ทางสายรกในครรภ์ ได้แก่ พยาธิตัวจี๊ด เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการรู้สึกหิวบ่อย รับประทานอาหารมากแต่น้ำหนักลดลง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย เจ็บและบวมตามผิวหนัง เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด มีผื่นคันหรือเป็นแนวแดง มีตุ่มนูนจำนวนมากขึ้นตามผิวหนัง มีไข้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ร่างกายทรุดโทรมหรือเกิดอาการแพ้สารที่ขับออกมาจากตัวพยาธิ และหากเข้าสู่สมองก็อาจเสี่ยงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ ซึ่งอาการของโรคที่เกิดจากพยาธินั้น ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด จำนวนและตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่ รวมถึงระยะเวลาในการเกิดโรค ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา และไม่ควรซื้อยาถ่ายพยาธิมารับประทานเอง เนื่องจากพยาธิมีหลายชนิด ซึ่งชนิดของยาและปริมาณที่ใช้ในการรักษาจะแตกต่างกันออกไป
เราสามารถป้องกันโรคพยาธิได้ โดยการรับประทานอาหารหรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ดื่มน้ำที่สะอาด ขับถ่ายในห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะ หมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนควรระมัดระวังเรื่องการรับประทานผักผลไม้ เพราะหากล้างผักหรือผลไม้ไม่สะอาด อาจมีไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิปนเปื้อนอยู่แล้วสู่ร่างกายได้ หากมีน้ำขังควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำ หรือสวมรองเท้าบูทป้องกันเพื่อป้องกันพยาธิชอนไชเข้าสู่ผิวหนัง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงและปกป้องตัวเราจากการติดเชื้อโรคพยาธิได้
ที่มาข้อมูล :
สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับโรคพยาธิ. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.tm.mahidol.ac.th/hospital/hospital-parasite-th.php [18 มิถุนายน 2563]
สธ. เตือนกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เสี่ยงโรคพยาธิ. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://gnews.apps.go.th/news?news=61853 [18 มิถุนายน 2563]
คำค้น : พยาธิ, ปรสิต (Parasite), ฤดูฝน
ผู้เขียน : ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.