ความลับในสมองของฆาตกรฆ่าคน

ความลับในสมองของฆาตกรฆ่าคน

04-10-2023
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/horror-murderer-dangerous-man-behind-frosted-504515860

อานุภาพ สกุลงาม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
แปลจาก Secrets in the Brains of People Who Have Committed Murder โดย Nicoletta Lanese
จาก
www.the-scientist.com/

ผลการสแกน MRI สมองนักโทษที่ถูกขังคุกกว่า 800 คน พบว่าโครงสร้างทางสมองของนักโทษที่ติดคุกจาก
คดีฆ่าคนมีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากนักโทษที่ต้องคดีอื่นๆ

KKiehl
เคนท์ คีล นักประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก และผู้อำนวยการเครือข่าย Mind Research Network (MRN)

เคนท์ คีล (Kent Kiehl) และทีมวิจัยของเขา เดินทางด้วยรถเทรเลอร์สีขาวไปทั่วเรือนจำที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยสูงสุดทั่วสหรัฐอเมริกา ภายในรถเทรเลอร์มีเครื่องสแกนสมอง MRI ขนาดใหญ่แบบเคลื่อนที่ เพื่อใช้สแกนสมองนักโทษจากเรือนจำต่างๆ ที่เขาเข้าไปรวบรวมภาพจากการสแกนสมองนักโทษหลายพันคน เพื่อพิจารณาว่ามีคุณลักษณะใดบ้างที่มีความแตกต่างจากสมองคนปกติทั่วไป อันนำไปสู่การหาคำตอบว่า “อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งเป็นฆาตกร”

คีล เป็นนักประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก และเป็นผู้อำนวยการเครือข่าย Mind Research Network (MRN) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรเพื่อการออกแบบระบบเครื่องสแกน MRI และเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง “เสียงกระซิบจากคนโรคจิต : วิทยาศาสตร์ของคนไร้สำนึก (The Psychopath Whisperer : The Science of Those Without a Conscience) กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่นักโทษจะรู้สึกว่า ‘ผมมีความแตกต่างจากคนอื่น คุณบอกผมได้ไหมว่า ทำไมผมถึงแตกต่าง’”   

คีล เพิ่งจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงชุดข้อมูลภาพสแกนสมองจำนวนมากของนักโทษชายกว่า 800 คน ที่ถูกจองจำในรัฐนิวเม็กซิโก และวิสคอนซิน เพื่อพยายามแยกแยะสมองของฆาตกรฆ่าคนกับนักโทษที่ทำความผิดอื่นๆ

ขั้นตอนแรกของการวิจัย คือการคัดแยกนักโทษออกเป็นสามกลุ่มตามความผิดที่ทำ คือ กลุ่มนักโทษที่ทำฆาตกรรมสำเร็จ กลุ่มนักโทษที่กระทำรุนแรงแต่ไม่ได้ทำฆาตกรรม และกลุ่มนักโทษไม่มีความรุนแรงหรือรุนแรงน้อยที่สุด  โดยทีมงานผู้ทำวิจัยจะทำการสัมภาษณ์ลับและพูดคุยกับนักโทษจากคดีที่ตนเองเคยทำข่าวและเคยรายงานข่าวมาก่อนแล้ว เพื่อพยายามตัดสินว่า ใครที่จะพยายามก่อเหตุคดีฆาตกรรม โดยทำในชุดข้อมูลที่มีการติดป้าย “ฆาตกรรม” ในชุดข้อมูลนั้นด้วย

www.the-scientist.com
ภาพสมองของฆาตกรที่มีความหนาแน่นของสารสีเทาลดลง เมื่อใช้สารเคมีในการควบคุมความรุนแรง โดยแสดงให้เห็นด้วยปริมาณพื้นที่สีฟ้าและสีเขียว


ทีมงานใช้ข้อมูลของนักโทษได้แก่ เวลาที่ต้องจองจำ อายุ ไอคิว (IQ) และข้อมูลภาพสแกนจาก MRI มาวิเคราะห์กับกลุ่มนักโทษ 200 คนที่ทำฆาตกรรมสำเร็จที่ได้รับการควบคุมความรุนแรงโดยใช้สารเคมีพบว่า สารสีเทาในภาพสแกนสมอง MRI ในกลุ่มฆาตกรรมสำเร็จนี้ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งพื้นที่สมองเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมและการรับรู้ทางสังคม

ฮานน์ส โวเกล
ฮานน์ส โวเกล นักประสาทวิทยา ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ฮานน์ส โวเกล (Hannes Vogel) นักประสาทวิทยาแห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ แต่ให้ความเห็นต่อการค้นพบครั้งนี้ว่า “อย่างแรกมันน่าสนใจที่พวกเขาพบความแตกต่างของสมองจากกลุ่มนักโทษที่แตกต่างกัน และสองมันแสดงถึงความสัมพันธ์ของศูนย์กลางสมองที่ควบคุมพฤติกรรมและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม”

ลอรา โคป
ลอรา โคป นักประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกน

ขณะที่ ลอรา โคป (Lora Cope) นักประสาทวิทยา ผู้ศึกษาความผิดปกติของสารเคมีในสมองจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เขียนบันทึกจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ให้กับทีมงาน MRN ว่า การวิจัยของทีม MRN ที่นำเครื่อง MRI ไปสแกนสมองนักโทษที่เรือนจำในรัฐนิวเม็กซิโก และวิสคอนซินว่า “เป็นปฏิบัติการที่ปฏิวัติการวิจัยอย่างแท้จริง” โคปไม่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการของคีล แต่เธอเคยร่วมงานกับคีลขณะเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลันนิวเม็กซิโก โดยในช่วงนั้น โคปเคยพูดคุยกับสมาชิกของ มูลนิธิเอวิล (Avielle Foundation) ซึ่งเป็นชื่อของหนูน้อยวัยหกขวบที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์กราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุก (Sandy Hook)[1] ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งก่อเหตุโดยวัยรุ่นชายวัย 20 ปี โดยในตอนนั้นทั้งคีลและโคป คือสองนักวิจัยที่ศึกษาภาพสแกนสมอง MRI ของนักโทษวัยรุ่นชายที่ถูกจองจำกว่า 150 คน โดย 20 คน ในจำนวนนั้นถูกตัดสินลงโทษในคดีฆาตกรรม พบว่า ผู้ทำผิดคดีฆาตกรรมมีปริมาณสีเทาบริเวณกลีบขมับในสมอง (Temporal lobes)[2] น้อยกว่านักโทษวัยรุ่นชายที่ถูกจองจำด้วยคดีอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ คีล เปรียบเทียบข้อมูลตอนงานวิจัยที่ แซนดี ฮุก กับงานวิจัยในปัจจุบัน เขาพบว่ามีการทับซ้อนในระดับสูง โดยผลจากเด็กวัยรุ่นชาย เหมือนกับผลจากนักโทษชายที่เขาทำวิจัยในปัจจุบัน และเป็นไปในทางเดียวกัน 

www.neuroskills.com
สมองส่วนกลีบขมับ

ผลจากการศึกษาภาพสแกนสมอง MRI ทำให้สามารถแยกแยะผู้กระทำความผิดในคดีฆาตกรรมแบบรุนแรง และแบบไม่รุนแรง รวมถึงสามารถแยกแยะคดีฆาตกรรมพิเศษอื่นๆได้อีกด้วย ฮาร์โรลด์ เคอร์นิกสเบิร์ก (Harold Koenigsberg) จิตแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ เมาท์ ซีไนน์ (School of Medicine at Mount Sinai) บอกว่า “ผมคิดว่ามีการทับซ้อนกันระหว่าง ผู้ทำฆาตกรรมแบบรุนแรงกับผู้ทำความผิดแบบไม่รุนแรง และน่าประหลาดใจมากที่มันเฉพาะเจาะจงเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำฆาตกรรมรุนแรง”

ฮาร์โรลด์ เคอร์นิกสเบิร์ก
ฮาร์โรลด์ เคอร์นิกสเบิร์ก จิตแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ เมาท์ ซีไนน์
อมิกกะดาลา
แสดงส่วนของสมองที่เรียกว่า อมิกกะดาลา

เคอร์นิกสเบิร์ก ตั้งข้อสังเกตว่า ความรุนแรง (Violence) ในคดีฆาตกรรมแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ ความรุนแรงแบบหุนหันพลันแล่น (Impulsive violence) เกิดจากอารมณ์ขัดขืน ดื้อด้าน และปฏิกิริยาตอบกลับที่มากเกินไป ลักษณะของพฤติกรรมนี้เชื่อมโยงกับการทำงานของกลีบสมองส่วนหน้า และระดับสารเซโรโทนิน[3]ที่ผิดปกติ  ในทางกลับกัน ความรุนแรงโดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือ (Instrumental violence) เป็นความรุนแรงที่ไตร่ตรองไว้ก่อนและมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสมองอื่นๆ เช่น การทำงานของสมองส่วนอมิกกะดาลา (Amygdala)[4] ลดลงขณะมีการประมวลผลทางความรู้สึก เขาสรุปว่า ชุดข้อมูลของคีล สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้โดยการเพิ่มสารสื่อประสาทในสมอง ร่วมกับการรักษาด้วยไฟฟ้า โดยทั้งหมดดำเนินการภายใต้ชุดข้อมูลของนักจิตวิทยาต่อพฤติกรรมที่แตกต่างเหล่านี้

ทั้ง เคอร์นิกสเบิร์ก โวเกล และ คีล ทราบกันดีว่า ชุดข้อมูลจากการวิจัยครั้งนี้ไม่สามารถใช้ในการคาดการณ์ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นฆาตกรได้ แต่งานวิจัยนี้อาจนำไปสู่การเป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณาคดีได้ โดยหากทนายความพยายามปกป้องลูกความที่เป็นฆาตกรโดยใช้เหตุผลเรื่องความผิดปกติของสมอง ทางพนักงานอัยการอาจใช้ข้อมูลการยืนยันจากงานวิจัยจากภาพสแกนสมองด้วย MRI ของ เคอร์นิกสเบิร์ก โวเกล และ คีล เป็นหลักฐานได้ว่าจำเลยทำผิดคดีฆาตกรรมจริง 
 

คีล ตั้งข้อสังเกตปิดท้ายว่า งานวิจัยของเขาอาจมีส่วนช่วยวัดความเสี่ยงในการก่อคดีฆาตกรรม ซึ่งอาจใช้เป็นมาตรการวัดความรุนแรงผ่านทางแบบสอบถามทางจิตวิทยา ทำให้ทราบถึงตัวผู้ต้องสงสัยที่แสดงให้เห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นฆาตกร และการพยายามทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมรุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการทางจิตวิทยาและการรักษาด้วยยา ก็จะเป็นแนวทางการป้องกันอาชญากรรมรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

[1] เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นกรดอะมิโนตัวหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น เป็นสารสื่อประสาทและฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งการควบคุมอารมณ์ การย่อยอาหาร ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การนอนหลับ และมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชหลายโรค

[2] อมิกกะดาลา (Amygdala) รูปร่างคล้ายกับเมล็ดอัลมอนด์ฝังลึกอยู่ในสมองกลีบขมับส่วนกลาง (Medial temporal lobe) ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกทางอารมณ์ โดยทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ เก็บบันทึกความทรงจำที่ประกอบด้วยอารมณ์และความรู้สึก รวมถึงการตอบสนองทางอารมณ์ต่างๆ และ การปรับสภาวะให้เกิดความกลัว (Fear conditioning) ตามสัญชาตญาณรับรู้อันตรายของมนุษย์  ซึ่งเป็นรูปแบบทางพฤติกรรมที่ทำให้เรามีความระมัดระวัง มีความคิดเชิงวิเคราะห์ คาดคะเนต่อเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่

 

[3] เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นกรดอะมิโนตัวหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น เป็นสารสื่อประสาทและฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งการควบคุมอารมณ์ การย่อยอาหาร ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การนอนหลับ และมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชหลายโรค

[4] อมิกกะดาลา (Amygdala) รูปร่างคล้ายกับเมล็ดอัลมอนด์ฝังลึกอยู่ในสมองกลีบขมับส่วนกลาง (Medial temporal lobe) ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกทางอารมณ์ โดยทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ เก็บบันทึกความทรงจำที่ประกอบด้วยอารมณ์และความรู้สึก รวมถึงการตอบสนองทางอารมณ์ต่างๆ และ การปรับสภาวะให้เกิดความกลัว (Fear conditioning) ตามสัญชาตญาณรับรู้อันตรายของมนุษย์  ซึ่งเป็นรูปแบบทางพฤติกรรมที่ทำให้เรามีความระมัดระวัง มีความคิดเชิงวิเคราะห์ คาดคะเนต่อเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่

 

 

ข่าวสารที่่คล้ายกัน