อนาคตของการทำงานในความจริงเสมือน (Working in VR)

อนาคตของการทำงานในความจริงเสมือน (Working in VR)

18-12-2021
อนาคตของการทำงานในความจริงเสมือน (Working in VR)

ในสภาวะที่เกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่าง COViD-19 ไปทั่วโลก เทคโนโลยีหลากหลายอย่างถูกนำมาตอบโจทย์ในชีวิตที่ถูกลดทอนความคล่องตัวในการเดินทางพบปะผู้คน Virtual Reality (VR) หรือ ความจริงเสมือนเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกนำมาพัฒนาเพื่อปลดพันธะนาการเหล่านี้ มากไปกว่านั้นเทคโนโลยีนี้ยังสามารถทำให้เราก้าวข้ามข้อจำกัดอื่นไม่ว่าจะเป็น สถานที่ อุปกรณ์สำนักงาน และ ความสับสนอลม่านที่อาจเกิดขึ้นในภาวะที่ไม่อาจเลี่ยงได้อย่าง เสียงหมาข้างบ้านเห่าเป็นอาทิ

ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบกับ VR headset จาก HTC Oculus Sony หรือผู้ผลิตรายอื่นที่ไม่ได้กล่าวถึง เราสามารถหลบไปสร้างสำนักงานใหม่ของเราบน VR แทนได้ด้วยโปรแกรมที่ส่งหน้าจอคอมของเราขึ้นไปอยู่ใน VR อย่าง Virtual Desktop เป็นต้น ซึ่งได้ทำลายขอจำกัดหลายอย่างของการทำงานลงพร้อมกัน ตัวอย่างเช่น เราจะมีจอคอมกี่จอก็ได้ในขนาดเท่าไรก็ได้ด้วยรูปแบบการจัดวางตามประสงค์ตราบเท่าที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของเรายังสามารถประมวลผลได้ โดยคุณภาพของหน้าจอขึ้นอยุ่กับคุณภาพของ VR headset นั้นเอง โต๊ะทำงานเสมือนของเราก็จะไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่แคบ ๆ ที่เรามีอีกต่อไป ทั้งเรายังสามารถเปลี่ยนแปลงได้เกือบตามใจปรารถนาตลอดเวลาด้วยงบประมาณเพียงเศษเสี้ยวของราคาอุปกรณ์จริง และแน่นอนปัญหาอย่างแสงสะท้อนจอที่เป็นหนามยอกอกห้องทำงานที่เรามักจะเลือกไม่ค่อยได้ก็ได้มลายสิ้นไปด้วยกัน ที่ทำงานเสมือนนี้ถ้าประกอบกับหูฟังตัดเสียงรบกวนยังอาจช่วยให้เรารู้สึกตัดขาดจากโลกความเป็นจริงที่เราอยุ่พอสมควรอีกด้วย

ถึงจะมีข้อดีมากมายขนาดนี้แต่แล้วทำไมห้องทำงานเสมือนเหล่านี้ยังไม่ค่อยถูกใช้มากนักละ ปัญหายอดนิยมของการทำงานในโลกเสมือนเหล่านี้มีอยู่ด้วยกันหลายข้อ บ้างก็มีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบรรเทาความทุกข์ทนแล้วบ้างก็ยังต้องรอเทคโนโลยีในอนาคตต่อไป ตัวอย่างเช่น ความล้าจากการใส่ Headset ที่มีน้ำหนักอยู่ในช่วง 380-644g ทำให้การทำงานแบบ 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น เป็นเรื่องทรมานพอสมควรแม้ว่าการพัฒนาด้านการยศาสตร์(ergonomics) จะก้าวหน้าไปมากจนทำให้การทำงานด้วย VR ติดต่อกันราว 2-3 ชั่วโมงสำหรับคนบางกลุ่มไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปแล้วก็ตาม หรือแม้แต่การมองเห็นแป้นพิมพ์ที่ได้มีโปรแกรมเข้ามาช่วยบ้างแล้วด้วยการสร้างแป้นพิมพ์เสมือนขึ้นในตำแหน่งที่มีแป้นพิมพ์อยู่จริงแต่สำหรับคนที่ไม่สามารถพิมพ์สัมผัสได้นั้นก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ถ่วงความเร็วในการทำงานอยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังมีปัญหาเชิงสภาวะจิตใจที่น่าสนใจอีกด้วยเนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมการใช้ VR อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดความสับสนระหว่างความจริงและความจริงเสมือน

คงเหมือนกับทุกอย่างที่มีข้อดีเสียและเหมาะกับคนแต่ละหมู่เหล่าไม่เสมอกัน ไม่แน่ว่าที่ทำงานที่ใหม่ของเราหลายคนต่อไปอาจเป็นเพียงที่ทำงานเสมือนที่ซ้อนอยู่ในบ้านหรือที่ทำงานจริงของเราอีกทีก็เป็นได้

 

ที่มารูปภาพ :

[1] Home | Virtual Desktop (vrdesktop.net)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

[1] The Ultimate VR Headset Comparison Table: Every VR Headset Compared - 360 Camera Reviews and Guides (threesixtycameras.com)

[2] Home | Virtual Desktop (vrdesktop.net)

[3] I spent two weeks working in VR and now I’m not sure what’s real | WIRED UK

เรียบเรียง: ฐิติ สิริธนากร
ตรวจทาน: ธานี หลินลาโพธิ์
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศษสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน