ภาพจาก https://hilight.kapook.com/view/111619
ภายใต้ท้องทะเลที่ลึกลงไปจากพื้นผิวน้ำ ลึกมากจนแสงอาทิตย์ไม่สามารถที่จะส่องถึงได้ จะมีใครรู้บ้างว่ามีสิ่งมีชีวิตที่ทั้งประหลาดและมหัศจรรย์อาศัยอยู่ นั่นก็คือ ปลาแองเกลอร์ (Angler fish) ด้วยลักษณะที่แปลกประหลาด ทำให้ปลาชนิดนี้มีความน่าสนใจว่าทำไมปลาจึงมีลักษณะเช่นนั้น และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในทะเลลึกที่มืดมิดได้อย่างไร
ปลาแองเกลอร์ เป็นปลาที่มีมากกว่า 200 ชนิด อาศัยอยู่ในน้ำลึกมากกว่า 200 เมตร ส่วนใหญ่พบในบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก และแอนตาร์กติก ปลาชนิดนี้มีลักษณะหัวใหญ่ ฟันคม ลำตัวมีสีเทาเข้มจนถึงน้ำตาลเข้ม เราสามารถแยกเพศของปลาชนิดนี้ได้ไม่ยากนัก เพราะมีเพียงปลาเพศเมียเท่านั้น ที่มีลักษณะหน้าตาน่ากลัวเช่นนี้ จุดเด่นของปลาเพศเมียอีกส่วนหนึ่งคือบริเวณส่วนหัวเหนือปากจะมีชิ้นส่วนของกระดูกสันหลังยื่นออกมาเหมือนเบ็ดตกปลา เรียกส่วนนี้ว่าเอสคา (esca) นอกจากนี้ปลายเบ็ดสามารถเรืองแสงได้ด้วยแบคทีเรียที่ชื่อว่า วิบริโอฟิสเชอรี (Vibrio fischeri) ใช้ในการล่อเหยื่อให้มาติดกับดัก เมื่อเหยื่อว่ายน้ำมาใกล้ ๆ ก็จะกินเหยื่อเป็นอาหารทันทีซึ่งเป็นที่มาของชื่อ Angler ซึ่งหมายถึงคนตกปลา กระดูกของปลาแองเกลอร์มีความยืดหยุ่นสูง จึงสามารถขยายขนาดของกรามและกระเพาะอาหารได้ ปลาแองเกลอร์จึงสามารถกินอาหารที่ใหญ่กว่าตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีฟันหน้าที่แทงกลับหลังเข้าไปภายในปาก และยังมีฟันอีกชุดหนึ่งอยู่ในลำคอ เพื่อป้องกันไม่ให้เหยื่อ (ที่หายาก) หลบหนีไปได้ ปลาแองเกลอร์เพศผู้ จะมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับเพศเมีย ปลาเพศผู้จะมีดวงตาที่โต และโพรงจมูกที่ไวต่อกลิ่นมาก ทำให้ได้กลิ่นของเพศเมียได้ง่าย เมื่อปลาแองเกลอร์เพศผู้พร้อมผสมพันธุ์จะใช้ฟันเกาะติดเพศเมีย แล้วผสานเข้ากับร่างกายของเพศเมีย โดยจะสลายดวงตาและอวัยวะภายในจนเหลือแต่อวัยวะสืบพันธุ์ และหลอดเลือดทุกอย่างในตัวจะผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเพศเมีย และเมื่อเพศเมียวางไข่ เพศผู้ก็จะฉีดน้ำเชื้อเข้าไปผสมทันที สำหรับปลาแองเกลอร์ บางชนิดหากเพศผู้หาเพศเมียไม่พบ ปลาจะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นเพศเมียแทน และเริ่มขยายขนาดร่างกายให้ใหญ่ขึ้นจะเห็นได้ว่า ปลาแอลงเกลอร์นี้มีทั้งหน้าตาและลักษณะที่แปลกประหลาด แต่ในขณะเดียวกันก็มีความมหัศจรรย์ที่น่าสนใจซ่อนอยู่ และภายใต้ท้องทะเลที่มืดและลึกนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดที่น่าสนใจรอการค้นหาอยู่อีกมาก
ภาพจาก https://www.pinterest.com/andreaseeholzer/tiefseefische/
ที่มา
http://oknation.nationtv.tv/blog/olympus27/2014/05/21/entry-1
http://chppfy.blogspot.com/2016/05/anglerfish.html#!/2016/05/anglerfish.html
http://animals.nationalgeographic.com/animals/fish/anglerfish/
โดย นางสาวยุวดี ปานคง