ครีมเทียมเป็นแหล่งของไขมันทรานส์จริงหรือ

ครีมเทียมเป็นแหล่งของไขมันทรานส์จริงหรือ

18-12-2021
ครีมเทียมเป็นแหล่งของไขมันทรานส์จริงหรือ

        เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2561 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ประกาศไม่อนุญาตให้ผลิต หรือ นำเข้า หรือ จำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (partially hydrogenated oils) ซึ่งอาจเป็นแหล่งของไขมันทรานส์ (trans fatty acids) ที่มีผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงเป็นข่าวครึกโครมในเว็บเพจต่าง ๆ และรายการวิทยุโทรทัศน์อย่างแพร่หลายว่าครีมเทียมเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่เป็นแหล่งของไขมันทรานส์ที่น่ากังวล

ครีมเทียม (non-dairy creamer, coffee creamer) หรือผลิตภัณฑ์เลียนแบบครีมจากนมโค ที่เรานิยมผสมลงในเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มความกลมกล่อม ความนุ่มละมุน ให้กับรสชาติของเครื่องดื่ม นอกจากจะเพิ่มอรรถรสให้เครื่องดื่มแล้ว ยังเหมาะสำหรับผู้บริโภคที่แพ้นมวัว และยังมีราคาถูกกว่าครีมจากนมโคอีกด้วย โดยครีมเทียมมีวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต คือ กลูโคสไซรัป ไขมัน และอิมัลซิไฟเออร์ อาจมีการแต่งสี กลิ่น รส หรือเพิ่มคุณสมบัติอื่น ๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย โดยนำมาผ่านกระบวนการทำให้เป็นผงแห้ง ด้วยเครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย (spray dryer)

จากขอมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าส่วนประกอบของครีมเทียมนั้นมาจากไขมันซึ่งมักเป็นไขมันจากพืช โดยส่วนใหญ่จะเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (unsaturated fatty acid) และเมื่อผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน (hydrogenation) จะเปลี่ยนรูปเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) ซึ่งกระบวนการเติมไฮโดรเจนนี้เองอาจทำให้เกิดกรดไขมันชนิดทรานส์ (trans fatty acid) โดยอุตสาหกรรมอาหารมักจะนิยมใช้ เนื่องจากไขมันจะมีลักษณะเป็นของเหลวกึ่งแข็งสามารถทำให้มีลักษณะคล้ายแป้งเปียก (paste) มีกลิ่นหืนช้า

กรดไขมันทรานส์นี้เองเป็นตัวปัญหาที่จะไปเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (low-density lipoprotein cholesterol; LDL) ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดีในร่างกายโดยคอเลสเตอรอลเหล่านี้จะไปสะสมเป็นแผ่นหนานูน (plaque) บนผนังหลอดเลือดทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด และอาจทำให้เส้นเลือดแตก นอกจากนี้ ยังไปลดปริมาณของคอเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล (high-density lipoprotein cholesterol; HDL) ที่เป็นคอเลสเตอรอลดี แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยที่เราจะเลี่ยงกรดไขมันทรานส์ เนื่องจากกรดไขมันทรานส์สามารถพบได้ตามธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ นม เป็นต้น แต่จะพบในปริมาณที่น้อย

อย่างไรก็ตาม เราพบว่า ปัจจุบันยังมีการวางจำหน่ายครีมทีมอยู่ทั่งไป นั้นเป็นเพราะว่าผู้ผลิตครีมทีมหลายบริษัทได้ทำการผลิตครีมเทียมโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน โดยจะใช้เป็นน้ำมันอื่นทดแทน เช่น น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนแบบสมบูรณ์ (fully hydrogenated oils) และยังมีกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ไม่ทำให้เกิดไขมันทรานส์ หรือเกิดได้น้อยในผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจะต้องผ่านการตรวจสอบจาก อย. ทั้งวัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่ต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภค ดังนั้น ผู้บริโภคควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ผลิตจากกระบวนการที่ได้มาตรฐาน และอย่าลืมอ่านฉลากทุกครั้งก่อนซื้อสินค้ามาบริโภค

อาหารทุกอย่างมีทั้งประโยชน์และโทษ ดังนั้นควรรับประทานอย่างพอดี ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

 

ผู้เขียน : ฐิติยา ชุ่มมาลี นักวิชาการ

อ้างอิง

  • กระทรวงสาธารณสุข. (2561). ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 388 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย. เข้าถึงได้จาก www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/166/5.PDF
  • ณัฏฐินี อนันตโชค. (2561). ไขมันทรานส์. เข้าถึงได้จาก www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/436/
  • Coyle D. (2018). 7 Foods that still contain trans fats. Available from: www.healthline.com/nutrition/trans-fat-foods
  • Huff T, Jialal I. (2019). Physiology, Cholesterol. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2019 Jan-. Available from: www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK470561/
  • Iqbal M. P. (2014). Trans fatty acids - A risk factor for cardiovascular disease. Pakistan journal of medical sciences30(1), 194–197. doi:10.12669/pjms.301.4525

ข่าวสารที่่คล้ายกัน