อานุภาพ สกุลงาม แปล
สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในแถบเอเชีย ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่พัฒนาโดยบริษัท ไฟเซอร์ (Pfizer) และ ไบโอเอ็นเทค (BioNTech) ในตอนเย็นวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2563 โดยวัคซีนดังกล่าวถูกขนส่งผ่านทางสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ7979 จากกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ถึง ประเทศสิงคโปร์
นาย ออง ยี คุง (Ong Ye Kung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ เป็นผู้รับวัคซีนดังกล่าวเพื่อนำไปจัดเก็บที่ SATs ซึ่งเป็นบริษัทด้านโลจิสติกส์การจัดการและจัดเก็บของสิงคโปร์ ทั้งนี้ นายอองคาดหวังว่าจะให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางในการขนส่งวัคซีนในแถบเอเชีย
“เราเชื่อว่า เรามีความสามารถที่จัดหาวัคซีน และแจกจ่ายไปยังภูมิภาคนี้ แน่นอนว่าบางประเทศยังคงต้องการให้จัดส่งวัคซีนไปยังประเทศนั้นๆ โดยตรง เพราะคิดว่ามันจะรวดเร็วกว่า แต่เราก็ยังเชื่อมันว่าจะมีความสามารถในการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าและการขนส่งในภูมิภาคนี้ ผมเชื่อว่าเมื่อทุกสิ่งมีความเสถียรภาพ สิงคโปร์จะมีบทบาทในการกระจายวัคซีนได้สำหรับภูมิภาคนี้”
นายออง ยังกล่าวอีกว่า บริษัท SATs เป็นบริษัทที่ได้รับการอบรมตามมาตรฐานการขนส่งวัคซีนตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และการมองการณ์ไกลของบริษัท
“ในแง่ของพื้นที่ เรามีความสามารถเพียงพอที่จะรองรับสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิได้ โดยในปีที่แล้ว SATs สามารถจัดการสินค้าที่ควบคุมอุณหภูมิได้ถึง 300,000 ตัน (ในที่นี้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทค จะต้องถูกขนส่งภายในสภาพพื้นที่ควบคุมอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส – เพิ่มเติมโดยผู้แปล) และยังมีวิธีการทำงานที่มองการณ์ไกล เพราะก่อนหน้านั้น เมื่อบริษัท SATs ทราบว่าวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค ต้องจัดเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส SATs ก็เริ่มวางแผนการผลิตน้ำแข็งแห้งโดยวันนี้ SATs สามารถผลิตน้ำแข็งแห้งได้เองถึงวันละ 4 ตัน เพื่อรองรับการขนส่งวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
นายลี เซียน ลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์ ได้โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาว่า ที่ผ่านมาเป็นปีที่ยาวนาน และหวังว่าการมาถึงของวัคซีนล็อตนี้จะทำให้ชาวสิงคโปร์มีกำลังใจและมีความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะมาถึงนี้ และถือว่าเป็นของขวัญให้กับชาวสิงคโปร์ทุกคน และตัวเขาและเพื่อนร่วมงานในนามคณะรัฐมนตรีจะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนเพื่อแสดงให้ประชาชนชาวสิงคโปร์มั่นใจว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่นำมาใช้นี้ปลอดภัย โดยการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคนี้ จะต้องฉีด 2 ครั้ง และมีระยะเวลาห่างกัน 21 วัน
สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆ ที่ได้รับอนุมัติและรับวัคซีนป้องกันโควิด 19 จาก ไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทค เช่นเดียวกับประเทศอย่างอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สวิสเซอร์แลนด์ บาห์เรน และ กาตาร์ โดยสิงคโปร์จะทำการฉีดวัคซีนให้กับผู้สมัครใจในการฉีด และให้ความสำคัญกับผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้สูงอายุ หลังจากนั้นสิงคโปร์จะวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ฟรี ให้กับประชาชนสิงคโปร์ที่เหลืออย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้พำนักในสิงคโปร์ในระยะยาว โดยคาดการณ์ว่าจะฉีดวัคซีนให้เสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. 2564 นอกจากนี้สิงคโปร์ยังวางแผนและลงนามสั่งซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จากบริษัท โมเดอร์นา (Moderna) และ ซิโนแวค (Sinovac) ด้วย
สำหรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ของไฟเซอร์ บริษัทเวชภัณฑ์จากสหรัฐอเมริกา และไบโอเอ็นเทค บริษัทเวชภัณฑ์จากเยอรมัน มีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้ถึง 95% โดยสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือผู้ที่มีอาการแพ้ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีก็ไม่ควรได้รับวัคซีนนี้ นอกจากนี้ หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Sciences Authority : HSA) ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ กล่าวว่า อาจพบอาการข้างเคียงเช่นปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน รวมถึงอาการเหนื่อยล้า และปวดศีรษะตามมาหลังจากการฉีดวัคซีน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจไม่ได้พบเจอในทุกคนที่ฉีดวัคซีน แต่ก็มีโอกาสเป็นไปได้เพราะเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
ตอนนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อที่สิงคโปร์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการระบาดในหมู่กลุ่มคนชั้นแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ ดังนั้นการที่สิงคโปร์คือประเทศแรกในแถบเอเชีย และอาจจะเป็นศูนย์กลางหลักในการกระจายวัคซีนในภูมิภาคนี้ อาจเป็นโอกาสทองที่สำคัญในการต่อสู้กับโรคโควิด 19 ในแถบเอเชียนี้
1 แปลและเก็บความจากบทความ “First shipment of COVID-19 vaccines arrives in Singapore” โดย Chew Hui Min จาก www.channelnewsasia.com
2 กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)