ภาพจาก: https://www.levinsimes.com/wp-content/uploads/2016/05/Talc-Orange-Top-Quarter-Size.jpg
แป้งทัลคัม เป็นแป้งที่มีองค์ประกอบหลักของสารทัลค์ ซึ่งเป็นสารแร่ใยหิน (asbestos) ที่มีแมกนีเซียม ซิลิคอน และออกซิเจน อยู่ในรูปของผงละเอียด มีความสามารถในการดูดซับความชื้นและทำให้ผิวนุ่มลื่น จากความสามารถข้างต้นจึงมีผู้ผลิตนำมาใช้ในกระบวนการผลิตเครื่องสำอาง เช่น แป้งสำหรับเด็ก แป้งฝุ่นสำหรับผู้ใหญ่ที่ใช้กับร่างกายและใบหน้า นักวิทยาศาสตร์เริ่มศึกษาสารที่พบในแป้งทัลคัมครั้งแรกในปี 1997 พบว่าผู้หญิงที่ใช้แป้งฝุ่นหรือผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นบริเวณอวัยวะเพศร้อยละ 50-90 มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งรังไข่ จากนั้นจึงมีการศึกษาเรื่อยมา
ในปี 2000 นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานเชื่อมโยงการใช้แป้งทัลค์กับความเสี่ยงของมะเร็งรังไข่ และพบว่าการใช้แป้งทัลค์บริเวณอวัยวะเพศอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอกของรังไข่ได้
ในปี 2003 พบว่า การใช้แป้งทัลค์มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของการเป็นมะเร็งรังไข่
ในปี 2010 พบว่า การใช้แป้งทัลค์บริเวณอวัยวะเพศเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (endometrial cancer) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน (postmenopausal)
และจากการศึกษาในปี 2014 พบว่า การใช้แป้งทัลค์บริเวณอวัยวะเพศไม่ปรากฏความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ด้วยผลการศึกษาที่ขัดแย้งและการขาดความสัมพันธ์กันของสาเหตุระหว่างแป้งทัลค์และโรคมะเร็งนี้ ทำให้เกิดข้อสรุปว่า แป้งทัลค์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ได้ หากใช้แป้งในบริเวณอวัยวะเพศ บนผ้าอนามัย หรือแผ่นอนามัย เนื่องด้วยผงอนุภาคที่มีขนาดเล็กและบริเวณอวัยวะเพศที่มีช่องทางให้อนุภาคดังกล่าวสามารถเคลื่อนที่ไปยังมดลูก ปีกมดลูกและเข้าไปอยู่ที่รังไข่ได้
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น องค์กร The International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานย่อยหนึ่งขององค์กรอนามัยโลก (WHO) จึงได้จัดให้สารทัลค์ที่มีส่วนประกอบของ asbestos เป็นสารก่อมะเร็ง แต่ถึงอย่างไรก็ตามการระบุถึงความเสี่ยงที่สูงขึ้นของการเป็นมะเร็งรังไข่ในผู้หญิงนั้นก็ยังคงต้องมีการทำการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปที่แน่ชัดต่อไป
แหล่งที่มาข้อมูล : www.cancer.org/cancer/cancercauses/othercarcinogens/athome/talcum-powder-and-cancer
www.sciencealert.com/johnson-johnson-to-pay-72-million-in-case-linking-baby-powder-to-ovarian-cancer
www.cancer.org/cancer/cancercauses/othercarcinogens/intheworkplace/asbestos
www.mineralszone.com/minerals/talc.html
เรียบเรียงโดย : นางสาวนพรัตน์ พงศ์จันทร์