ภาพเรดาร์บริเวณขั้วใต้ของดาวอังคาร แสดงจุดสีตำแหน่งการสะท้อนเรดาร์รุนแรงที่ยานมาร์สเอกซ์เพรสตรวจพบ
ภาพจาก https://mars.nasa.gov/resources/25997/subsurface-lakes-or-something-else/ (จาก ESA/NASA/JPL-Caltech)
ดาวอังคาร เป็นดาวที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ดาวเคราะห์แดง เป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะที่มนุษย์เราให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่ใกล้กับโลกและอาจมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ของมนุษย์ในอนาคต มนุษย์จึงส่งยานอวกาศเพื่อสำรวจทั้งบรรยากาศ พื้นผิว และสิ่งแวดล้อมอยู่หลายครั้ง และผลจากการสำรวจก็มีเรื่องที่น่าตื่นเต้น และน่าค้นหาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ต่อไป เช่น การพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า อาจจะมีน้ำใต้พื้นผิวของดาวอังคาร ซึ่งเป็นส่วนที่น่าสนใจมากสำหรับการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์แดงดวงนี้
โดยในปี 2561 การสำรวจดาวอังคารโดยยานมารส์เอกซ์เพรสออร์บิเตอร์ (Mars Express orbiter) ขององค์การอีซา (ESA : the European Space Agency) ด้วยการส่งคลื่นวิทยุลงไปยังพื้นผิว ซึ่งโดยทั่วไปความเข้มของสัญญาณที่สะท้อนกลับมายังตัวรับจะลดน้อยลงหรือสูญเสียพลังงานไปบางส่วนเมื่อเคลื่อนที่ผ่านชั้นวัตถุต่าง ๆ แต่จากการสำรวจครั้งนี้พบว่า ความเข้มของสัญญาณวิทยุที่สะท้อนกลับมีความเข้มมากกว่าเดิมนั่นแสดงว่า ลึกลงไปใต้พื้นผิวบริเวณขั้วใต้อาจมีแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม จากการแปลผลสัญญาณในลักษณะเดียวกันขององค์การนาซ่าพบแหล่งน้ำใต้พื้นผิวดาวอังคารในสถานะของเหลวที่ลึกลงไปเพียงหนึ่งกิโลเมตร ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิต่ำที่มากคือ ประมาณ -63 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังไม่มีการพบว่า บริเวณดังกล่าวมีภูเขาไฟใต้พื้นผิวที่จะทำให้น้ำละลายได้ จึงเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการแปลผลของสัญญาณคลื่นวิทยุ ซึ่งต้องทำการสำรวจเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อไป
นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่น่าสนใจของสิ่งมีชีวิตจากการสำรวจในอดีตของหุ่นยนต์ Curiosity Rover ที่มีการค้นพบหลักฐานสารประกอบอินทรีย์ไทโอฟีน (Thiophene) โดยมีผลการศึกษาเผยในวารสาร Astrobiology ได้ระบุว่าสารประกอบอินทรีย์ไทโอฟีน อาจเป็นร่องรอยหลักฐานของสิ่งมีชีวิตคล้ายแบคทีเรียในอดีตที่นานแสนนานบนดาวอังคาร ที่ปัจจุบันนั้นได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว โดยปกติแล้วสารประกอบนี้จะพบได้ใน น้ำมันดิบถ่านหิน และเห็ดทรัฟเฟิลขาวบนโลก ซึ่งสารประกอบดังกล่าวนี้ประกอบด้วยอะตอมของธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในสิ่งมีชีวิต โดยมีอะตอมของคาร์บอนหลายตัวและอะตอมของกำมะถันหนึ่งตัวเชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนในแบคทีเรียบางชนิดก็สามารถผลิตสารที่มีโครงสร้างทางเคมีแบบนี้ได้ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ซัลเฟตซึ่งเป็นเกลือของกรดกำมะถันในปฏิกิริยาเคมีที่สร้างพลังงานให้กับเซลล์แทน และยังไม่ต้องใช้ออกซิเจนในการหายใจอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นทีมวิจัยก็ยังไม่สามารถยืนยันได้จริงว่าสารอินทรีย์ที่พบนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต เนื่องจากอาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น อุกกบาตชนพื้นผิวดาวอังคารจนเกิดความร้อนสูงตามมามากกว่า 120 องศาเซลเซียส ก็สามารถทำให้สารเคมีบางอย่างกลายเป็นสารประกอบอินทรีย์ไทโอฟีนได้ ดังนั้นจึงจะต้องมีการค้นหา และวิจัยต่อไปเพื่อสืบหาความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้
ทั้งนี้ถึงแม้ว่าการสำรวจ และการวิจัยที่ผ่านๆมาจะยังไม่สามารถยืนยันเรื่องการมีอยู่ของน้ำในอดีต และปัจจุบัน รวมทั้งสิ่งมีชีวิตที่อาจเคยมีอยู่ และอาจจะคงเหลืออยู่ในปัจจุบันได้ แต่ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่เข้าใกล้กับความจริงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้สัญญาณทั้งสองที่กล่าวมาถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความพยายามของมนุษยชาติที่ทำการสำรวจมาตั้งแต่อดีตจนถึงในปัจจุบัน และยังคงมีภารกิจอีกมากมายในอนาคตที่จะส่งสัญญาณบอกถึงความจริงอันน่าอัศจรรย์ และเติมเต็มความสงสัยที่ไม่รู้จักจบสิ้นของเราต่อไป
ผู้เขียน : นายยุทธนา ศรีกันทา
ที่มา: แหล่งค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม
https://mars.nasa.gov/news/8972/study-looks-more-closely-at-mars-underground-water-signals
http://thaiastro.nectec.or.th/news/4001/
https://www.bbc.com/thai/features-51768724
ที่มารูปภาพ:
https://mars.nasa.gov/resources/25997/subsurface-lakes-or-something-else/