การอพยพกว่าหลายหมื่นไมล์เพื่อความอยู่รอดของเหล่านกอพยพที่เกิดขึ้นทุกๆปี นับเป็นเรื่องราวที่แสนพิเศษที่แสดงถึงความอุตสาหะของเหล่านกน้อยที่ต้องการดำรงชีวิตและเผ่าพันธุ์ของมันเอาไว้ โดยมีฤดูกาลเป็นตัวกำหนดเวลาของการอพยพเคลื่อนย้ายเพื่อไปยังแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์และเหมาะแก่การสืบพันธุ์ นกอพยพส่วนใหญ่ที่อาศัยและสร้างรังอยู่ทางตอนเหนือของโลกและตอนกลางของทวีปเอเชียจะอพยพลงมาหาแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ทางตอนใต้ของโลก ในช่วงฤดูหนาว ระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม และบินกลับไปยังถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมเมื่อสิ้นสุดฤดูหนาว ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และหมุนเวียนเป็นเช่นนี้อยู่เรื่อยไป นกอพยพแต่ละชนิดจะมีระยะทาง เส้นทางและรูปแบบในการอพยพที่แตกต่างกันไป เช่น นกบางชนิดอาจอพยพเป็นระยะทางสั้น ๆ สลับกับการหยุดพักหากินระหว่างที่พวกมันเดินทางอพยพไปยังที่หมาย
ในการอพยพ ความสามารถที่ช่วยให้นกสามารถอพยพไปยังที่หมายได้อย่างปลอดภัย ได้แก่ ความสามารถในตรวจจับแม่เหล็กโลก (Magnetic sensing) โดยพวกมันใช้สารเคมีหรือสารประกอบพิเศษที่อยู่ภายในสมอง ตา และจะงอยปาก ในการตรวจจับทิศทางของขั้วแม่เหล็กโลก โดยขั้วเหนือของสนามแม่เหล็กโลกอยู่ทางตอนใต้ของซีกโลกใต้และขั้วใต้ของสนามแม่เหล็กโลกอยู่ทางตอนเหนือของซีกโลกเหนือ และนกเหล่านี้ยังสามารถใช้สายตาในการดูรายละเอียดของธรณีสัณฐานและภูมิศาสตร์ที่มันบินผ่าน ซึ่งสายตาของมันมีประสิทธิภาพมากมากกว่าสายตาของมนุษย์ทำให้มันสามารถมองเห็นเสมือนแผนที่ทางภูมิศาสตร์ (Geographic Mapping) ที่ช่วยนำทางพวกมันได้ นอกจากนี้ นกที่อพยพยังสามารถใช้ตำแหน่งของดวงดาว (Star Orientation) ในการนำทางในช่วงเวลากลางคืน และใช้ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในการนำทางในเวลากลางวัน รวมถึงพวกมันสามารถเรียนรู้เส้นทาง (Learned Routes) จากการอพยพพร้อมกับพ่อแม่ของมันเมื่อตอนที่มันยังไม่โตเต็มที่ ทำให้มันสามารถเรียนรู้และจดจำเส้นทางได้
แม้ว่านกจะมีความสามารถในการอพยพไปยังแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ หรือแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมได้ดีกว่ากว่าสัตว์บก แต่ความเป็นจริงแล้ว การเดินทางอันน่าทึ่งของนกอพยพเหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะในปัจจุบัน พบว่า อัตราการทำรังและวางไข่ของนกอพยพเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องราว 30% และในอนาคตอาจจะส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยในปี 2050 อาจจะทำให้อัตราการวางไข่และทำรังของนกอพยพลดลงถึง 43% เลยทีเดียว
เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้นอาจไม่ได้คร่าชีวิตของนกอพยพเหล่านี้โดยตรง แต่มันส่งผลต่อปัจจัยด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องในการดำรงชีวิตของพวกมัน ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศของแหล่งอาหาร และสภาพแวดล้อมของแหล่งทำรัง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้นกอพยพบางชนิดจำเป็นต้องพักอาศัยและผสมพันธุ์ในเขตพื้นที่ที่สูงขึ้นไปทางตอนเหนือ และอีกหลายชนิดต้องพักอาศัยและผสมพันธุ์ในพื้นที่ที่ต่ำกว่าเดิมลงไปทางตอนใต้ด้วยเช่นกัน เช่น นกนอร์เธิร์น คาร์ดินาล (Northern Cardinals) และ นกทัฟทิด ติสไมส (Tufted titmice) ที่ได้แผ่ขยายพื้นที่อาศัยไปไกลถึงนิวอิงแลนด์ นอกจากนี้ ยังพบว่า ในปี 2013 นกกว่า 305 ชนิดในอเมริกาได้อพยพขึ้นไปอยู่บริเวณที่สูงขึ้นไปทางตอนเหนือประมาณ 40 ไมล์ จากค่าเฉลี่ยละติจูดเดิมในปี 1960 ด้วยระยะทางที่ต้องบินไกลกว่าเดิม มีผลทำให้นกอพยพสูญเสียพลังงานมากขึ้น นอกจากนี้ พวกนกยังเสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหารเนื่องจากการคาดการณ์ไม่ได้ว่าพื้นที่ที่นกอพยพไปถึงนั้นมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและการสืบพันธ์หรือไม่ เช่น นกที่ต้องอพยพไกลเพื่อไปผสมพันธุ์ที่นิวอิงแลนด์จะต้องปรับช่วงเวลาในการอพยพให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่บริเวณที่จะอพยพไปนั้นมีอาหารอุดมสมบูรณ์เพียงพอ เพราะถ้าหากอพยพไปถึงที่แห่งนั้นช้ากว่ากำหนด ผลไม้ที่เป็นแหล่งอาหารของพวกมันอาจสุกก่อนที่พวกมันอพยพไปถึง นอกจากนี้ การเปลี่ยนเส้นทางหรือระยะทางในการอพยพที่ไกลกว่าเดิม ทำให้นกอพยพเหล่านี้ไม่คุ้นชินกับเส้นทางใหม่ที่ไม่ใช่เส้นทางเดิมที่เคยเรียนรู้มาจากพ่อแม่ อาจทำให้นกไม่สามารถอพยพไปถึงที่หมายใหม่ได้สำเร็จและอาจทำให้ประชากรของนกอพยพมีความเสี่ยงที่จะลดจำนวนลงไม่เพียงแต่นกอพยพเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่รวมไปถึงนกประจำถิ่น เช่น นกที่ทำรังและอาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง ซึ่งนกเหล่านี้มักจะทำรังอยู่ใกล้แหล่งน้ำเค็มและบริเวณชายฝั่งทะเล เมื่ออุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับนำทะเลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกมีการละลายเพิ่มขึ้น และการที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้ส่งผลให้ปริมาตรของน้ำทะเลมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลทำให้พื้นที่ในการทำรังของนกเหล่านี้ลดลงเนื่องจากการท่วมถึงของน้ำทะเล และทำให้นกเหล่านี้มีจำนวนลดลงในที่สุด
นอกจากนี้ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจะสะสมอยู่ในทะเลและมหาสมุทรร้อยละ 48 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมา ทำให้ทะเลมีความเป็นกรดสูงขึ้น ซึ่งคุณสมบัติทางเคมีของทะเลที่เปลี่ยนไปนี้ส่งผลโดยตรงต่อสัตว์ในทะเล ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังกลุ่มกุ้งกั้งปู (Crustacean) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการสร้างเปลือกของพวกมัน หรือรบกวนการดำรงชีวิตของสัตว์อื่นๆ ซึ่งผลกระทบนี้ก็จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อผู้บริโภคลำดับถัดไป เช่น การลดจำนวนลงปลาที่เป็นเหยื่อของนก อาจทำให้นกมีอัตราการขาดแคลนอาหารเพิ่มสูงขึ้น
สำหรับนกที่อาศัยอยู่ในป่าบางชนิดก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของโลกอย่างเห็นได้ชัดเช่นเดียวกัน เช่น นกกระจิบบางชนิด (the black-throated blue warbler และ yellow-rumped warbler) ที่อาศัยในในป่าในรัฐแมสซาชูเซตส์ที่มีไม้โอ๊กฮิคกอรี่ และ สน เป็นพันธุ์ไม้เด่น เมื่ออุณหภูมิของโลกสูงขึ้นพันธุ์พืชที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของนกกระจิบเหล่านี้ได้ลดจำนวนลง ทำให้จำนวนของพวกนกเหล่านี้มีแนวโน้มลดลงไปด้วย
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกโดยที่อุณหภูมิของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของถิ่นที่อยู่อาศัย และความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารเพื่อการดำรงชีวิตของเหล่านกอพยพเหล่านี้ ทำให้พวกมันต้องบินอพยพไปไกลกว่าเดิม และพวกมันต้องเสี่ยงต่อการขาดแคลนอาหารเนื่องจากแหล่งที่อยู่ที่พวกมันอพยพไปนั้นอาจจะไม่อุดมสมบูรณ์ดังเดิม อัตราการรอดของเหล่านกอพยพนี้อาจลดลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดพวกมันอาจจะสูญพันธุ์ไป และในวันหนึ่งเราเองอาจจะต้องประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการขาดแคลนอาหารเช่นเดียวกับนกเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกอย่างจริงจังก่อนที่มันจะสายเกินเยียวยา
ผู้เขียน นางสาวเพชรกวินท์ เนื่องสมศรี
ที่มาข้อมูล
1. https://km.dmcr.go.th/th/c_256/d_18882
2. http://www.sl.ac.th/html_edu/cgi-bin/sl/main_php/print_informed.php?id_count_inform=7669
3. http://www.tsh.or.th/file_upload/files/22-2-10.pdf
4. http://www.lesa.biz/earth/lithosphere/earth-structure/magnetosphere
5. https://www.thespruce.com/birds-five-senses-386441
6. https://www.birdlife.org/worldwide/news/how-will-climate-change-affect-bird-migration-our-scientists-explain
7. https://www.massaudubon.org/our-conservation-work/climate-change/effects-of-climate-change/on-birds
8. http://greenstylethailand.com/?p=4081
9. https://www.massaudubon.org/our-conservation-work/climate-change/effects-of-climate-change/on-natural-habitats/forests
10. https://mgronline.com/travel/detail/9500000153433
11. https://www.greenpeace.org/archive-thailand/campaigns/climate-and-energy/impacts/sea-level-rise/
12. https://www.greenpeace.org/archive-thailand/campaigns/climate-and-energy/climate-change-science/co2-emissions/
13. https://www.audubon.org/magazine/may-june-2013/what-makes-bird-vision-so-cool
14. http://thenervous.weebly.com/361936323610361036113619363236263634360736263656362336093585362136343591.html