Perseverance การกลับไปเยือนดาวอังคารอีกครั้ง

Perseverance การกลับไปเยือนดาวอังคารอีกครั้ง

18-12-2021
Perseverance การกลับไปเยือนดาวอังคารอีกครั้ง

ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะจักวาล ดาวอังคารได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์เลือด หรือดาวแห่งสงคราม ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อของเทพเจ้ากรีกโรมันว่า “Mar” หรืออีกชื่อคือ ดาวเคราะห์สีแดง  เนื่องจากพื้นผิวของดาวอังคารปกคลุมไปด้วยฝุ่นออกไซด์หรือสนิมเหล็กที่มีสีส้มแดง

มนุษยชาติเริ่มสนใจดาวเคราะห์ดวงนี้ โดยมีความพยายามสืบค้นให้ได้มาซึ่งข้อมูล เพียงเพื่อต้องการทำความรู้จัก จนกระทั่งในปี 1964 ยาน Mariner 4 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) สามารถเดินทางถึงดาวอังคาร และถ่ายภาพส่งกลับมายังโลก ทำให้เราได้เห็นภาพพื้นผิวของดาวอังคารเป็นครั้งแรก

ความสนใจใคร่รู้ของมนุษยชาติยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น  เรายังทำการสำรวจดาวอังคารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างงานวิจัยและทำการทดสอบบนโลก เพื่อนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเหล่านั้นไปใช้บนดาวอังคาร จนทำให้เกิดโครงการ MARs 2020 ซึ่งเป็นแผนระยะยาวบนความร่วมมือขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) กับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) โดยแบ่งภารกิจออกเป็น 4 ช่วงดังนี้

  1. ภารกิจปี 2020 ส่งยานสำรวจ Perseverance ขึ้นสู่อวกาศ
  2. ภารกิจปี 2021 ยานสำรวจ Perseverance ลงจอดและเก็บตัวอย่างหินและดิน
  3. ภารกิจปี 2026 ยานเก็บกู้ Fetch Rover เก็บตัวอย่างใส่ Mars Ascent Vehicle (MAV) ส่งกลับมายังโลก
  4. ภารกิจปี 2031 Mars Ascent Vehicle (MAV) เดินทางมาถึงโลกเพื่อนำเข้าห้องวิจัย

หลังจากที่ยาน Perseverance เดินทางอยู่ในอวกาศนาน 7 เดือน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2021 ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา ยาน Perseverance ได้ลงจอดบนพื้นผิวอังคารได้ด้วยวิธีลงจอดที่มีชื่อว่า Sky Crane วิธีนี้จะใช้ยานหลักในการชะลอความเร็วด้วยเครื่องยนต์จรวด และปล่อยสายเคเบิลเพื่อส่งยาน Perseverance Rover ลงมาแตะพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อเป็นการลดแรงกระแทกในการลงจอด โดยขั้นตอนทั้งหมดถูกควบคุมและตัดสินใจด้วยคอมพิวเตอร์เท่านั้น

ยาน Perseverance ไม่ได้เป็นเพียงยานสำรวจลำเดียวในภารกิจครั้งนี้ แต่ยังนำคู่หูอย่าง Ingenuity ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กลงจอดและปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ด้วย ทำให้ Ingenuity เป็นยานบินยกตัวลำแรกของมนุษย์ที่ทำการบินบนดาวอังคาร

ภารกิจของยาน Perseverance คือการลงจอดบริเวณ Jezero Crater (แอ่งหลุมอุกาบาตเยเซโร) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเคยเป็นปากแม่น้ำมาก่อน  ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะยังคงเหลือร่องรอยของซากสิ่งมีชีวิต ยาน Perseverance จะทำการค้นหา  ขุดเจาะ และถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารเพื่อเก็บข้อมูลส่งมายังโลก โดยทาง NASA คาดว่า ยาน Perseverance จะยังคงทำงานเช่นนี้ไปอีก 2 ปี

หลังจากนี้ยาน Perseverance จะทำภารกิจอยู่บนดาวอังคาร และส่งรูปกลับมายังโลกอย่างต่อเนื่อง  ด้วยความหวังของมวลมนุษยชาติถึงการค้นพบหลักฐานสำคัญว่าดาวอังคารเคยเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต  และอาจเป็นที่อยู่อาศัยของเราด้วยในอนาคต วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้เราสามารถย้ายถิ่นฐานเพื่อไปอาศัยยังดาวเคราะห์ดวงอื่นได้หรือไม่ ยังคงต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป แต่ในปัจจุบันเราควรสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่าเพื่อรักษาโลกใบนี้ให้อยู่คู่กับมวลมนุษยชาติไปอีกนานแสนนาน

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

[1] เจาะลึกภารกิจยาน Perseverance หลังลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จตามคาด [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 27 มี.ค. 64) เข้าได้จาก https://thestandard.co/the-mission-of-the-perseverance-spacecraft/

[2] Mars2020 [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 27 มี.ค. 64) เข้าได้จาก https://mars.nasa.gov/mars2020/

[3] Mars 2020 Mission, Perseverance Rover Launch [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 27 มี.ค. 64) เข้าได้จาก https://mars.nasa.gov/mars2020/timeline/launch/

เรียบเรียง: ธานี หลินลาโพธิ์
ตรวจทาน: วรรณวจี สุจริตธรรม
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน