ดาวอังคารเป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะจักวาล ดาวอังคารได้ชื่อว่าเป็นดาวเคราะห์เลือด หรือดาวแห่งสงคราม ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อของเทพเจ้ากรีกโรมันว่า “Mar” หรืออีกชื่อคือ ดาวเคราะห์สีแดง เนื่องจากพื้นผิวของดาวอังคารปกคลุมไปด้วยฝุ่นออกไซด์หรือสนิมเหล็กที่มีสีส้มแดง
มนุษยชาติเริ่มสนใจดาวเคราะห์ดวงนี้ โดยมีความพยายามสืบค้นให้ได้มาซึ่งข้อมูล เพียงเพื่อต้องการทำความรู้จัก จนกระทั่งในปี 1964 ยาน Mariner 4 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) สามารถเดินทางถึงดาวอังคาร และถ่ายภาพส่งกลับมายังโลก ทำให้เราได้เห็นภาพพื้นผิวของดาวอังคารเป็นครั้งแรก
ความสนใจใคร่รู้ของมนุษยชาติยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เรายังทำการสำรวจดาวอังคารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างงานวิจัยและทำการทดสอบบนโลก เพื่อนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมเหล่านั้นไปใช้บนดาวอังคาร จนทำให้เกิดโครงการ MARs 2020 ซึ่งเป็นแผนระยะยาวบนความร่วมมือขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) กับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) โดยแบ่งภารกิจออกเป็น 4 ช่วงดังนี้
หลังจากที่ยาน Perseverance เดินทางอยู่ในอวกาศนาน 7 เดือน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2021 ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา ยาน Perseverance ได้ลงจอดบนพื้นผิวอังคารได้ด้วยวิธีลงจอดที่มีชื่อว่า Sky Crane วิธีนี้จะใช้ยานหลักในการชะลอความเร็วด้วยเครื่องยนต์จรวด และปล่อยสายเคเบิลเพื่อส่งยาน Perseverance Rover ลงมาแตะพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อเป็นการลดแรงกระแทกในการลงจอด โดยขั้นตอนทั้งหมดถูกควบคุมและตัดสินใจด้วยคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ยาน Perseverance ไม่ได้เป็นเพียงยานสำรวจลำเดียวในภารกิจครั้งนี้ แต่ยังนำคู่หูอย่าง Ingenuity ซึ่งเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กลงจอดและปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ด้วย ทำให้ Ingenuity เป็นยานบินยกตัวลำแรกของมนุษย์ที่ทำการบินบนดาวอังคาร
ภารกิจของยาน Perseverance คือการลงจอดบริเวณ Jezero Crater (แอ่งหลุมอุกาบาตเยเซโร) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเคยเป็นปากแม่น้ำมาก่อน ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะยังคงเหลือร่องรอยของซากสิ่งมีชีวิต ยาน Perseverance จะทำการค้นหา ขุดเจาะ และถ่ายภาพพื้นผิวดาวอังคารเพื่อเก็บข้อมูลส่งมายังโลก โดยทาง NASA คาดว่า ยาน Perseverance จะยังคงทำงานเช่นนี้ไปอีก 2 ปี
หลังจากนี้ยาน Perseverance จะทำภารกิจอยู่บนดาวอังคาร และส่งรูปกลับมายังโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังของมวลมนุษยชาติถึงการค้นพบหลักฐานสำคัญว่าดาวอังคารเคยเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และอาจเป็นที่อยู่อาศัยของเราด้วยในอนาคต วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้เราสามารถย้ายถิ่นฐานเพื่อไปอาศัยยังดาวเคราะห์ดวงอื่นได้หรือไม่ ยังคงต้องค้นหาคำตอบกันต่อไป แต่ในปัจจุบันเราควรสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่าเพื่อรักษาโลกใบนี้ให้อยู่คู่กับมวลมนุษยชาติไปอีกนานแสนนาน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
[1] เจาะลึกภารกิจยาน Perseverance หลังลงจอดบนดาวอังคารสำเร็จตามคาด [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 27 มี.ค. 64) เข้าได้จาก https://thestandard.co/the-mission-of-the-perseverance-spacecraft/
[2] Mars2020 [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 27 มี.ค. 64) เข้าได้จาก https://mars.nasa.gov/mars2020/
[3] Mars 2020 Mission, Perseverance Rover Launch [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 27 มี.ค. 64) เข้าได้จาก https://mars.nasa.gov/mars2020/timeline/launch/
เรียบเรียง: ธานี หลินลาโพธิ์
ตรวจทาน: วรรณวจี สุจริตธรรม
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ