ภาพจาก : https://www.sciencedaily.com/releases/2016/07/160711092316.htm
Science Daily รายงานผลการศึกษาในเด็กกว่า 1,000 คน ในเมือง Dunedin ประเทศนิวซีแลนด์ พบว่า พฤติกรรมตามธรรมชาติของเด็กที่ชอบดูดหรืออมนิ้วหัวแม่มือหรือชอบกัดเล็บ และหากกระทำทั้งสองพฤติกรรม จะยิ่งลดโอกาสการเกิดภาวะภูมิแพ้จากสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่มักพบได้โดยทั่วไปภายในบ้าน อาทิ ไรฝุ่น ใยแก้ว ขนสัตว์ เชื้อราในอากาศ เป็นต้น
นักวิจัยได้ทดสอบแนวความคิดที่ว่า พฤติกรรมของเด็กโดยทั่ว ๆ ไปที่ชอบดูดหรืออมหัวแม่มือ และชอบกัดเล็บนั้นแม้จะเป็นการเพิ่มโอกาสการได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
แต่ทำให้ลดการเกิดหรือลดความไวของการเกิดภาวะภูมิแพ้ลง
โดยทำการศึกษาในเด็กอายุ 5 7 9 และ 11 ปี และทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังกับเด็กอายุ 13 ปีและผู้ใหญ่อายุ 32 ปี จำนวน 1,037 คน พบว่าร้อยละ 31 ชอบดูดนิ้วและกัดเล็บเป็นประจำ และในกลุ่มเด็กอายุ 13 ปี พบร้อยละ 45 ไวต่อการเกิดภาวะภูมิแพ้
อย่างไรก็ตาม ในเด็กกลุ่มที่ชอบดูดนิ้วหรือกัดเล็บอย่างใดอย่างหนึ่ง พบร้อยละ 40 เป็นโรคภูมิแพ้ และในกลุ่มเดียวกันที่ชอบทั้งดูดนิ้วและกัดเล็บ พบเป็นโรคภูมิแพ้เพียงร้อยละ 31 ซึ่งแนวโน้มนี้ยังคงปรากฏอยู่จนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่ และไม่พบความแตกต่างแม้จะอาศัยอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ เลี้ยงสัตว์ หรือภายในบ้านมีไรฝุ่นก็ตาม
ซึ่งผลการค้นพบของทีมวิจัยมีความสอดคล้องกับทฤษฎีสุขอนามัย (Hygiene theory) ที่ว่าการได้รับสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคในวัยเด็ก จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ไม่พบความสัมพันธ์ของพฤติกรรมดังกล่าวกับโรคหืดหอบ
โรคภูมิแพ้ เป็นโรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่เยื่อบุของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง เยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุตาขาว เยื่อบุทางเดินหายใจ เยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น
Link ที่เกี่ยวข้อง
https://www.sciencedaily.com/releases/2016/07/160711092316.htm
http://www.phyathai.com/medicalarticledetail/1/22/260/TH