ล้างมือด้วยสบู่ กำจัดเชื้อโรคได้อย่างไร
ผู้เขียน ดร.สุเมธ อาวสกุลสุทธิ
สมัยนี้ห้องน้ำในโรงเรียน ในสถานพยาบาลต่าง ๆ หรือห้องน้ำสาธารณะทั่วไป เรามักจะเห็นแผ่นสติกเกอร์ หรือแผ่นป้ายที่มีรูปภาพพร้อมคำอธิบายสอนวิธีการล้างมือให้ถูกต้อง ติดอยู่เหนือบริเวณอ่างล้างมือ รวมถึงเด็ก ๆ มักถูกปลูกฝังให้ล้างมือบ่อย ๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อรักษาความสะอาด ป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เนื่องจากนิ้ว และมือเป็นอวัยวะที่สำคัญในการสัมผัส หยิบจับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีโอกาสได้รับเชื้อโรคได้ ตัวอย่างพฤติกรรมที่ประชาชนส่วนใหญ่มักจะสัมผัสกับสิ่งของร่วมกันในที่สาธารณะ ได้แก่ การกดปุ่มลิฟต์ การจับลูกบิดประตู การจับราวบันได-บันไดเลื่อน การกดปุ่มชักโครกในห้องน้ำ และการโหนราวรถโดยสารประจำทาง เป็นต้น เนื่องจากหากมีผู้ป่วยที่ไปจับสัมผัสกับอุปกรณ์เหล่านี้ แล้วเราไปสัมผัสต่อ เมื่อเรานำนิ้ว หรือมือมาแตะกับใบหน้า จมูก ปากของเราก็จะมีโอกาสติดเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
การประดิษฐ์คิดค้นสบู่ก้อนมีมานานกว่า 2,500 - 2,800 ปีก่อนคริสตกาล โดยค้นพบเศษซากสบู่ของชาวฟินิเชียน (ซึ่งกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศสาธารณรัฐเลบานอน) บางข้อมูลก็อ้างว่า ซากเศษก้อนสบู่มาจากชาวบาบิโลเนียน (ซึ่งกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของชาวอิรักในปัจจุบัน) เมื่อทำการตรวจสอบก้อนสบู่ดังกล่าวพบว่า มีการนำไขมันสัตว์ผสมกับขี้เถ้าจากการเผาไม้แล้วนำมาต้มในน้ำ นอกจากนี้ บางเอกสารมีการอ้างถึงกระดานดินเหนียวเก่าแก่ซึ่งบันทึกด้วยอักษรรูปลิ่ม หรือที่เรียกชื่อว่า อักษรคูนิฟอร์ม (Cuneiform) ของชาวสุเมเรียน ได้บันทึกไว้ประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว ว่าสบู่ทำมาจาก การต้มไขมันพืชและไขมันสัตว์ ผสมกับขี้เถ้าที่ได้จากการเผาไม้ ซึ่งชาวฟินิเชียน ชาวบาบิโลเนียน และชาวสุเมเรียน ล้วนอาศัยอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า “เมโสโปเตเมีย” (Mesopotamia) ที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริสกับยูเฟรทีส ซึ่งในปัจจุบันดินแดนนี้มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอิรัก เดิมทีมนุษย์ผลิตสบู่เพื่อนำมาใช้ล้างเส้นใยขนสัตว์ และเส้นใยฝ้าย ก่อนจะนำเส้นใยมาทอเป็นผืนผ้า ดังนั้นการผลิตสบู่ก้อนในยุคแรก ๆ ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในการถูฟอกร่างกายของคนเราแต่อย่างใด ย้อนกลับมาที่เรื่องคุณสมบัติของสบู่ เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมการล้างมือจึงต้องฟอกด้วยก้อนสบู่ธรรมดา และห้องน้ำในบางสถานที่จะนิยมใช้สบู่เหลวแทน เปรียบเทียบกับถ้าเราสามารถล้างมือด้วยน้ำเปล่า เพื่อขจัดเชื้อโรคออกจากฝ่ามือและนิ้วของเราได้หรือไม่ หลายคนคงสงสัยว่า ทำไมสบู่จึงสามารถกำจัดเชื้อโรคได้ บางคนอาจจะคิดไปไกลว่า เป็นเพราะว่า น้ำที่ผสมสบู่ หรือที่เรียกว่าน้ำสบู่มีความสามารถในการฆ่าเชื้อโรคได้ ทำให้เชื้อโรคตายบนมือเรา ซึ่งการล้างมือด้วยสบู่กำจัดเชื้อโรคนั้น ความจริงแล้ว การล้างมือด้วยน้ำสบู่จากก้อนสบู่ธรรมดา ซึ่งส่วนผสมของสบู่ในปัจจุบันนั้นมีสารเคมีเพิ่มมากขึ้นจากสบู่แบบดั้งเดิม เช่น มีสารลดแรงตึงผิวทำให้เกิดฟอง สี มีน้ำหอม และสารเคมีอื่น ๆ เมื่อเราฟอกสบู่ จึงทำให้มีฟองลื่น ทำให้เชื้อโรคถูกชะล้างออกไปได้ง่ายจากมือของเรา เป็นการชะล้างให้เชื้อโรคไหลไปกับน้ำทิ้ง ดังนั้นสบู่ก้อนธรรมดาจึงไม่ได้มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคแต่อย่างใด ถึงแม้ในปัจจุบันนี้ จะมีสบู่ที่ผสมสารเคมีไว้ฆ่าเชื้อโรคโดยเฉพาะ วางขายทั่วไปตามท้องตลาด ที่เรียกกันทั่วไปว่า สบู่ฆ่าเชื้อ ก็ยังมีงานวิจัยที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงเรื่องข้อดี-ข้อเสียในการนำสบู่ฆ่าเชื้อมาใช้งาน อย่างไรก็ดี หากซื้อสบู่มาฟอกแล้วเกิดอาการแพ้ คัน มีผื่นขึ้น ควรเปลี่ยนสบู่ที่ใช้ฟอกเป็นยี่ห้อใหม่
ในชีวิตประจำวัน เมื่อเรามีโอกาสสัมผัส จับต้องกับสิ่งของต่างๆ ที่มีการใช้งานร่วมกับคนอื่น ๆ ก็ควรพยายามเตือนตนเองอยู่เสมอว่า การล้างมือบ่อย ๆ นั้นเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อเราต้องทำงาน หรือมีโอกาสสัมผัสกับสิ่งสกปรกต่าง ๆ จึงควรทำการล้างมือด้วยการถูและฟอกสบู่ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย และป้องกันจากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย อีกทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อโรคมายังเพื่อน ครอบครัว และคนที่คุณรักด้วย
ที่มาของภาพ
ภาพถ่ายการล้างมือด้วยสบู่โดย ดร.สุเมธ อาวสกุลสุทธิ
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (2563). ตอนที่ 2 อารยธรรมฟีนีเชียน (ออนไลน์). แหล่งที่มา https://infocenter.nationalhealth.or.th/node/27385 (16 มกราคม 2563).
Derma Innovation (2013). สารทำความสะอาด ที่หลายคน..ไม่รู้จัก !? (ออนไลน์). แหล่งที่มา https://www.derma-innovation.com/content/13165/surfactant-สารทำความสะอาด-ที่หลายคนไม่รู้จัก (16 มกราคม 2563).
Scholarship (2015). ประวัติของสบู่ ของใช้ที่ทุกคนขาดไม่ได้ ด้วยประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,500 ปี (ออนไลน์). แหล่งที่มา https://www.scholarship.in.th/ประวัติของสบู่-ของใช้ที/ (16 มกราคม 2563).
Blank Children's Hospital (2014). Antibacterial Soap vs. Regular Soap: Which One Is Better? (Online). Available from https://www.unitypoint.org/blankchildrens/article.aspx?id=68ac1797-834f-409c-947b-4df322b04380 (16 มกราคม 2563).
Harvard (2007). The handiwork of good health (Online). Available from: https://www.health.harvard.edu/newsletter_article/The_handiwork_of_good_health (14 มกราคม 2563).
Soap History (2020). Who Invented Soap? - About Soap Inventors (Online). Available from: http://www.soaphistory.net/soap-history/who-invented-soap/ (16 มกราคม 2563).
Today I found Out (2013). The history of Soap (Online). Available from: http://www.todayifoundout.com/index.php/2013/03/the-history-of-soap/ (16 มกราคม 2563).
ค้นคว้าเพิ่มเติม (แนะนำแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม)
มติชน (2560). สหรัฐฯ ห้ามใช้สารไตรโครซาน ผลิตสบู่ต้านแบคทีเรีย ตั้งแต่ ก.ย.นี้ (ออนไลน์). แหล่งที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_521560 (17 มกราคม 2563).
มาริสา คุณธนวงศ์ (2563). ไตรโคลซานที่เคลือบผิวสิ่งทอและพลาสติก เพื่อให้มีสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ปลอดภัยต่อผู้ใช้หรือไม่ (ออนไลน์). แหล่งที่มา https://www.mtec.or.th/post-knowledges/3849/ (20 มกราคม 2563).
สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล (2557). วิจัย ... เปลี่ยนชีวิต. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส).
สุทัศน์ ยกส้าน (2558). Ignaz Semmelweis ผู้บุกเบิกมาตรฐานความสะอาดการผ่าตัด (ออนไลน์). แหล่งที่มา https://mgronline.com/science/detail/9580000034693 (14 มกราคม 2563).
Sanook guru (2556). สบู่ก้อนต่างกับสบู่เหลวหรือโฟมอย่างไร (ออนไลน์). แหล่งที่มา https://guru.sanook.com/9641/ (14 มกราคม 2563).
คำค้น (Tags) : สบู่, ล้างมือ, เชื้อโรค
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : ดร.ชนินทร วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการสำนักโครงการพิเศษ