เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้หลาย ๆ คน ต้องปรับตัวและยอมรับกับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ (New normal) และทำให้เทคโนโลยีหนึ่งถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เพราะไม่ว่าเราจะเดินทางไปที่ไหน ไปทำอะไร เราก็จะพบกับสัญลักษณ์ที่มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัสตุรัส มีจุดสีดำอยู่ภายใน คล้ายกับเกมเขาวงกต อยู่ในทุก ๆ ที่ แต่แท้จริงแล้วเทคโนโลยีนี้ ถูกคิดค้นและใช้งานในด้านต่าง ๆ มานานแล้ว แต่น้อยคนที่จะรู้จัก นั่นก็คือ เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด (QR Code)
คิวอาร์โค้ด คืออะไร
คิวอาร์โค้ด (QR Code) ย่อมาจาก “Quick Response Code” คือ สัญลักษณ์ชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นรูปกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ภายในประกอบด้วยโมดูลสีดำ (จุดสี่เหลี่ยม) เรียงตัวกัน คิวอาร์โค้ด ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ. 1994 โดยบริษัท Denso-Wave (เดนโซ-เวฟ) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำหน้าที่เก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น เพียงแค่ใช้โทรศัพท์ที่มีฟังก์ชันหรือแอปพลิเคชันที่รองรับโปรแกรมอ่านรหัสคิวอาร์ (QR Code Reader) ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที
ประโยชน์ของคิวอาร์โค้ด
คิวอาร์โค้ด ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้าน เช่น ด้านการศึกษา ด้านประชาสัมพันธ์ ด้านการเงิน เป็นต้น เพราะจุดประสงค์หลักของการใช้งานคิวอาร์โค้ด คือ การให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่ของเว็บไซต์, เบอร์โทรศัพท์ หรือตัวอักษร ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นอาจจะมีจำนวนมากหรือยากต่อการจดจำ แต่เมื่อกลายเป็น คิวอาร์โค้ด ข้อมูลจะถูกย่อให้อยู่ในรูปเพียงรูปเดียว ดังนั้นคิวอาร์โค้ด ถือว่าเป็นช่องทางอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการเข้าถึงข้อมูล
สร้างคิวอาร์โค้ดของตัวเองกันเถอะ
ปัจจุบันคิวอาร์โค้ดถูกนำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทำให้เว็บไซต์ต่าง ๆ ได้มีบริการสร้างคิวอาร์โค้ดแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายออกมามากมาย เพียงแค่เราค้นหา คำว่า QR Code Generator ที่โปรแกรมค้นหาบนอินเทอร์เน็ต จากนั้นก็เลือกบริการที่เราต้องการแปลงข้อมูลเป็นคิวอาร์โค้ด เพียงแค่นี้เราก็มีคิวอาร์โค้ดเป็นของตัวเอง ซึ่งการใช้งานก็สามารถนำไปใช้ได้หลากหลายรูปแบบ และยังใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลาอีกด้วย
ตอนนี้ทุกคนก็ได้รู้จักกับเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดมากขึ้นแล้ว และจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด ถูกนำมาใช้งานในชีวิตประจำวันของเรามากขนาดไหน ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดไม่ใช่เป็นเพียงแค่การแสกนเพื่อดูข้อมูลสินค้าหรือชำระเงิน แต่เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ดยังถูกนำมาใช้เพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม ควบคุม ตามมาตรการการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อีกด้วย
ตัวอย่าง QR Code Page Facebook: พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ อพวช.
ที่มาของภาพ
[1] https://mgronline.com/celebonline/detail/9630000051750
[2] https://steemit.com/thai/
[3] http://www.howto108.com/qr-code
[4] https://mgronline.com/celebonline/detail/9630000051750
ที่มาของแหล่งข้อมูล
[1] “QR Code คืออะไร ?” [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก http://www.ops.moe.go.th/ops2017/สาระน่ารู้/1877-qr-code-คืออะไร ค้นเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 63
[2] “QR Code Generator” [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.the-qrcode-generator.com ค้นเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 63
[3] “QR Code คืออะไร ใช้อย่างไรกันแน่?” [ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก https://www.marketingoops.com/news/tech-update/what-is-qr-code ค้นเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 63
เขียนโดย ภัทรกรณ์ สุ่มมาตย์ นักวิชาการ 5 กองนิทรรศการ
ตรวจทาน สุชิราภรณ์ ชัยเฉลิมวรรณ นักวิชาการ กองนิทรรศการ
วรรณภา แก้วล้วน วิทยากร 4 กองนิทรรศการ
วรรณวจี สุจริตธรรม นักวิชาการ 5 กองวิชาการ
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ