ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาเรื่องราวเกี่ยวกับ E-Sports ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน รวมไปถึงนักวิชาการและเยาวชน เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์ได้เผยแพร่เรื่องราวกีฬา E-Sports และกระตุ้นผู้ชมให้สนใจในอาชีพที่เกิดจากกีฬาประเภทนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอาชีพที่ดูสนุกสนาน ให้ความบันเทิง และสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่เบื้องหลังความสำเร็จของอาชีพเหล่านี้อาจได้มาด้วยความยากลำบาก และไม่ได้สนุกสนานเหมือนที่หลายคนเข้าใจ
E-Sports (Electronic sports) หรือ การแข่งขันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์นั้น หมายถึง การแข่งขันทั้งประเภททีมและประเภทบุคคล โดยใช้เกมส์คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการแข่งขัน มีการตั้งองค์กร กฎ กติกาสากลในการแข่งขัน เพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก กล่าวคือ กติกาการเล่นของนักกีฬาจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนกฎการแข่งขันเก็บคะแนนจะเปลี่ยนไปตามผู้จัด หรือทัวร์นาเม้นท์นั่นเอง
ในมุมมองของผู้เล่น E-Sports เป็นกีฬาที่ใช้ทักษะด้านต่าง ๆ ในการแข่งขันมากกว่าความแข็งแรงและพละกำลังของร่างกาย ซึ่งต่างจากกีฬาทั่วไปที่คุ้นเคย เช่น ใช้ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อ สายตา และสมองในการบังคับตัวละคร ใช้สมาธิในการคิดแผนและยุทธวิธีการเล่น ใช้การทำงานเป็นทีม ใช้ทักษะการสื่อสารระหว่างผู้เล่น เป็นต้น ซึ่งทักษะเหล่านี้ ผู้เล่นมืออาชีพ (Professional Player) จะมีตารางซ้อมที่ชัดเจน หากแต่ผู้เล่นเหล่านี้ไม่ได้อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ในตารางซ้อมพวกเขาจะต้องออกกำลังกาย ทานอาหาร และดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง พร้อมที่จะลงแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
ปัจจุบันอุตสาหกรรม E-Sports กำลังเติบโตไปในทิศทางที่ดี เช่นเดียวกันทั่วโลก เนื่องจากสามารถสร้างรายได้จากการแข่งขันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดรายการแข่งขันที่มีรายได้จากการสมัคร ผู้สนับสนุน การลงโฆษณา การขายบัตรเข้าชมทั้งแบบออนไลน์และหน้าสนามแข่งขัน เป็นต้น นักกีฬา ต้องลงแข่งขันในสังกัดทีม ซึ่งมีเงินเดือนจากต้นสังกัด ส่วนแบ่งเงินรางวัล อีกทั้งเมื่อมีแฟนคลับหรือผู้ติดตามจำนวนมาก นักกีฬายังสามารถสร้างรายได้จากการเป็น สตรีมเมอร์และเปิดช่องของตัวเองอีกด้วย กล่าวกันว่า นักกีฬาที่เป็นสตรีมเมอร์ในไทย สามารถสร้างรายได้ถึงเดือนละ 6 หลักเลยทีเดียว
เห็นได้ว่ากีฬา E-Sports นั้นเชื่อมโยงหลายส่วน ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง อีกทั้งยังมีกลุ่มธุรกิจให้ความสนใจในการลงทุน ทำให้เกิดอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับ E-Sports มากมาย บางคนสามารถทำงานได้หลายบทบาทในเวลาเดียวกัน โดยทั่วไปสามารถจัดกลุ่มอาชีพหลักได้ดังนี้
ผู้จัดการแข่งขัน (Tournament organizer) คือ ผู้ได้รับลิขสิทธิ์การแข่งขัน คือ องค์กรที่ได้รับมาตรฐานในการจัดแข่งขันจากองค์กรสากล เพื่อจัดทัวร์นาเม้นท์การแข่งขัน รายได้หลักมาจากการสนับสนุนค่าโฆษณา ค่าบริจาค ค่าสมัคร ค่าถ่ายทอดสดจากผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย และค่าเข้าชมการแข่งขัน
ต้นสังกัดนักกีฬา (Agent / Academy) คือ ผู้บริหารจัดการในการส่งทีมนักกีฬาเข้าแข่งขันในทัวร์นาเม้นท์ต่าง ๆ รวมถึงดูแลการฝึกซ้อมและแผนการเล่นของนักกีฬาด้วย มีการจัดการเก็บตัวนักกีฬาโดยมีโค้ชเป็นผู้ดูแลก่อนการแข่งขัน รายได้หลักมาจากการแข่งขัน การสนับสนุนค่าโฆษณา และค่าตัวนักกีฬาเมื่อออกงานต่าง ๆ
ผู้เล่นมืออาชีพ (Professional Player) คือ ผู้เล่นที่มีทักษะสูง สังกัดทีมการแข่งขัน ผู้เล่นประเภทนี้ต้องมีวินัยในการซ้อมเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังต้องพัฒนาทักษะของตัวเองตลอดเวลา รายได้หลักของผู้เล่นมืออาชีพมาจากเงินเดือนและส่วนแบ่งการแข่งขันจากต้นสังกัด
ผู้บรรยายการแข่งขัน หรือนักพากย์ (Caster) คือ ผู้ที่รับหน้าที่บรรยายการแข่งขัน เพื่อให้ได้อรรถรส และความสนุกสนาน ผู้บรรยายจะต้องมีไหวพริบในการบรรยายสถานการณ์ต่าง ๆ และมีความรู้เกี่ยวกับเกมส์เป็นอย่างดี ผู้บรรยายที่ดีจะมีส่วนทำให้การแข่งขันได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รายได้หลักของผู้บรรยายมาจากค่าตัวในการบรรยายในแต่ละทัวร์นาเม้นท์
สตรีมเมอร์ (Live Steamer) คือ ผู้ถ่ายทอดสดการเล่นเกมส์ที่มีการจัดการแข่งขันแบบ E-Sports รวมถึงเกมส์อื่น ๆ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับช่องของตนเอง ผู้ที่เป็นสตรีมเมอร์อาจเป็นผู้เล่นมืออาชีพหรือนักพากย์ด้วยก็ได้ โดยอาชีพนี้ต้องมีวินัยสูงมาก ต้องมีตารางการถ่ายทอดสดที่ชัดเจน รวมทั้งยังต้องมีทักษะการเล่นและการบรรยายที่สูงพอสมควร เพื่อให้การถ่ายทอดสดมีความสนุกสนาน น่าสนใจ และต้องมีเนื้อหาใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพื่อดึงดูดผู้เข้าชม รายได้หลักมาจากระบบสมาชิก การบริจาค การสนับสนุนค่าโฆษณา ค่าถ่ายทอดสดจากผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย รวมถึงค่าตัวในการออกงานอีกด้วย
อาชีพที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาชีพที่เกิดจาก E-Sports เท่านั้น ซึ่งอาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพเกิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีและลักษณะการบริโภคความบันเทิงของผู้คนในยุคนั้น ๆ โดยที่รายได้อาจไม่คงที่ หรือมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ดังนั้นผู้ที่ประกอบกอบอาชีพด้าน E-Sports จึงต้องมีการบริหารจัดการ และมีวินัยทางการเงินสูงมาก อีกทั้งยังต้องพัฒนาตัวเองให้ทันกระแสของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปจะสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเอง และหารายได้ในการประกอบอาชีพ เพียงแต่เราจะเห็นช่องทางและปรับตัวเพื่อไขว่คว้าโอกาสนั้นได้หรือไม่เท่านั้นเอง
ที่มารูปภาพ :
[1] https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/853651
[3] https://www.newtek.com/blog/invate/
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
[1] หาคำตอบดีๆ เราเล่นเกมแล้วได้อะไร [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 20 ม.ค. 64) เข้าได้จาก https://www.beartai.com/article/game-article/284049
[2] ประโยชน์ของการเล่นเกม 8 ข้อ ที่นักวิจัยพิสูจน์แล้วว่า มันทำให้คุณดีขึ้นได้จริงๆ !! [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 20 ม.ค. 64) เข้าได้จาก https://www.scholarship.in.th/8-good-things-from-gaming/
[3] What is eSports? A look at an explosive billion-dollar industry [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 20 ม.ค. 64) เข้าได้จาก https://edition.cnn.com/2018/08/27/us/esports-what-is-video-game-professional-league-madden-trnd/index.html
[4] What is esports? A beginner's guide to competitive gaming [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 20 ม.ค. 64) เข้าได้จาก https://www.gamesradar.com/what-is-esports/
[5] What types of esports jobs are there? [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 20 ม.ค. 64) เข้าได้จาก https://britishesports.org/news/what-types-of-esports-jobs-are-there/
เรียบเรียง: ธานี หลินลาโพธิ์
ตรวจทาน: วิจิตรา สุริยกุล ณ อยุธยา
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ