ดร.ชนินทร์ สาริกภูติ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
โลกกำลังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 (COVID-19) และนับวันยิ่งจะสร้างความกังวลให้กับผู้คนทั่วโลกมากขึ้น หลังพบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ SARS-CoV-2 ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด 19 นั้น มีการกลายพันธุ์และแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศอังกฤษ และแพร่กระจายไปยังประเทศญี่ปุ่น สเปน ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศในแถบยุโรป ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สายพันธุ์ย่อยนี้ ทั่วโลกเฝ้าระวังกันมาก เนื่องจากมีอัตราการแพร่ระบาดสูงกว่าไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์อื่น ๆ ที่พบก่อนหน้านี้ ทำให้ประเทศต่าง ๆ กว่า 40 แห่งทั่วโลก ต้องออกนโยบายประกาศห้ามหรือจำกัดการเดินทางจากประเทศอังกฤษ
ในทางไวรัสวิทยา การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ โดยไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอด นับตั้งแต่มีการค้นพบเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก็มีการพบเชื้อไวรัสชนิดนี้อีกหลายสายพันธุ์ย่อยซึ่งเกิดจากการกลายพันธุ์และแพร่ระบาดไปทั่วโลกทั้งหมด 8 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ S L O V G GH GR และ GV กรณีที่เกิดการกลายพันธุ์ในประเทศอังกฤษเป็นอีกหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของไวรัส SARS-CoV-2 ที่มีชื่อเรียกว่า “B.1.1.7” หรือ VOC-202012/01 (Variant of Concern 202012/01)
ถูกค้นพบครั้งแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ประเทศอังกฤษ
ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ย่อย B.1.1.7 นี้ มีการกลายพันธุ์ของกรดอะมิโนถึง 17 ตำแหน่ง โดยพบว่ามี 8 ตำแหน่ง ที่การกลายพันธุ์เกิดขึ้นตรงบริเวณโปรตีนหนาม (Spike protein) ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้ในการยึดเกาะจับกับตัวรับ ACE-2 ที่อยู่บนผิวเซลล์ของมนุษย์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนของยีนในตำแหน่ง N501Y จากแอสพาราจีน (Asparagine) ไปเป็น ไทโรซีน (Tyrosine) และมีการกลายพันธุ์ที่บริเวณจุดตัดของโปรตีนหนาม โดยมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนของยีนในตำแหน่งที่ P681H จากโพรลีน (Proline) ไปเป็น ฮิสทิดีน (Histidine) นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบางตำแหน่งบริเวณโปรตีนหนามของไวรัสที่กรดอะมิโนขาดหายไป (Spike 69-70 Deletion) ได้แก่ ฮิสทิดีน (Histidine) ในตำแหน่งที่ 69 และวาลีน (Valine) ในตำแหน่งที่ 70 ซึ่งการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทำให้ไวรัสมีความสามารถในการยึดเกาะกับเซลล์ของมนุษย์ได้ดีขึ้น ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่ายและแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบรายงานว่า ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ย่อย B.1.1.7 นี้ ทำให้ความรุนแรงของโรคเพิ่มมากขึ้น หรือส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาแต่อย่างใด เนื่องจากการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ย่อยนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจีโนมของไวรัส SARS-CoV-2 แต่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิในบางตำแหน่งบริเวณโปรตีนหนามของไวรัสเท่านั้น ทำให้ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ย่อย B.1.1.7 ยังมีโครงสร้างและลักษณะทางพันธุกรรมที่คล้ายคลึงกับสายพันธุ์อื่น ๆ ที่พบมาก่อนหน้านี้ ดังนั้น แอนติบอดีที่ผลิตขึ้นจากวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการติดเชื้อจากสายพันธุ์ย่อย B.1.1.7 นี้ได้
แม้ว่าไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ย่อย B.1.1.7 จะไม่ได้ทวีความรุนแรงของโรคมากขึ้นกว่าสายพันธุ์ที่มีมาก่อนหน้า แต่การกลายพันธุ์ในครั้งนี้กลับทำให้การแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น ดังนั้น การรับมือที่ดีที่สุดในตอนนี้ คือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และการเว้นระยะห่างทางสังคม เพราะหากเราป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อให้กับตัวเราและประเทศชาติได้นั่นเอง
ที่มาข้อมูล :
The U.K. Coronavirus Variant: What We Know. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.nytimes.com/2020/12/21/health/new-covid-strain-uk.html?fbclid=IwAR2BcP-xyEwFl-C-8APDFezFSty9V2CwZKOp-LShS4PxlsT8-BRTDwkAM_w [5 มกราคม 2564]
โควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.1.7 ติดง่ายกว่าเดิม เพิ่มเติมคือไปถึงญี่ปุ่น สเปน และฝรั่งเศส. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.nstda.or.th/sci2pub/covid-b-1-1-7/ [5 มกราคม 2564]
การกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-COV-2 สายพันธุ์ B.1.1.7. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://stem.in.th/20201223-2/ [7 มกราคม 2564]
รวมสายพันธุ์เชื้อโควิด-19 จากอู่ฮั่นสู่เชื้อกลายพันธุ์. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://news.trueid.net/detail/qeZWaxZArWqM [7 มกราคม 2564]
คำค้น : โรคโควิด 19, COVID-19, SARS-CoV-2, B.1.1.7, VOC-202012/01