ความลับในสมองของฆาตกรฆ่าคน

ความลับในสมองของฆาตกรฆ่าคน

18-12-2021
ความลับในสมองของฆาตกรฆ่าคน

ความลับในสมองของฆาตกรฆ่าคน

อานุภาพ สกุลงาม พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) 

แปลจาก Secrets in the Brains of People Who Have Committed Murder โดย Nicoletta Lanese
จาก www.the-scientist.com/

ผลการสแกน MRI สมองนักโทษที่ถูกขังคุกกว่า 800 คน พบว่าโครงสร้างทางสมองของนักโทษที่ติดคุกจาก คดีฆ่าคนมีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากนักโทษที่ต้องคดีอื่นๆ

thescientist

เคนท์ คีล (Kent Kiehl) และทีมวิจัยของเขา เดินทางด้วยรถเทรเลอร์สีขาวไปทั่วเรือนจำที่มีระบบการรักษาความปลอดภัยสูงสุดทั่วสหรัฐอเมริกา ภายในรถเทรเลอร์มีเครื่องสแกนสมอง MRI ขนาดใหญ่แบบเคลื่อนที่ เพื่อใช้สแกนสมองนักโทษจากเรือนจำต่างๆ ที่เขาเข้าไปรวบรวมภาพจากการสแกนสมองนักโทษหลายพันคน เพื่อพิจารณาว่ามีคุณลักษณะใดบ้างที่มีความแตกต่างจากสมองคนปกติทั่วไป อันนำไปสู่การหาคำตอบว่า “อะไรที่ทำให้คนคนหนึ่งเป็นฆาตกร” 

044

เคนท์ คีล นักประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก และผู้อำนวยการเครือข่าย Mind Research Network (MRN)

คีล เป็นนักประสาทวิทยาที่มหาวิทยาลัยนิวเม็กซิโก และเป็นผู้อำนวยการเครือข่าย Mind Research Network (MRN) ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรเพื่อการออกแบบระบบเครื่องสแกน MRI และเป็นผู้แต่งหนังสือเรื่อง “เสียงกระซิบจากคนโรคจิต : วิทยาศาสตร์ของคนไร้สำนึก (The Psychopath Whisperer : The Science of Those Without a Conscience) กล่าวว่า “ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่นักโทษจะรู้สึกว่า ‘ผมมีความแตกต่างจากคนอื่น คุณบอกผมได้ไหมว่า ทำไมผมถึงแตกต่าง’”

คีล เพิ่งจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงชุดข้อมูลภาพสแกนสมองจำนวนมากของนักโทษชายกว่า 800 คน ที่ถูกจองจำในรัฐนิวเม็กซิโก และวิสคอนซิน เพื่อพยายามแยกแยะสมองของฆาตกรฆ่าคนกับนักโทษที่ทำความผิดอื่นๆ

ขั้นตอนแรกของการวิจัย คือการคัดแยกนักโทษออกเป็นสามกลุ่มตามความผิดที่ทำ คือ กลุ่มนักโทษที่ทำฆาตกรรมสำเร็จ กลุ่มนักโทษที่กระทำรุนแรงแต่ไม่ได้ทำฆาตกรรม และกลุ่มนักโทษไม่มีความรุนแรงหรือรุนแรงน้อยที่สุด โดยทีมงานผู้ทำวิจัยจะทำการสัมภาษณ์ลับและพูดคุยกับนักโทษจากคดีที่ตนเองเคยทำข่าวและเคยรายงานข่าวมาก่อนแล้ว เพื่อพยายามตัดสินว่า ใครที่จะพยายามก่อเหตุคดีฆาตกรรม โดยทำในชุดข้อมูลที่มีการติดป้าย “ฆาตกรรม” ในชุดข้อมูลนั้นด้วย

ทีมงานใช้ข้อมูลของนักโทษได้แก่ เวลาที่ต้องจองจำ อายุ ไอคิว (IQ) และข้อมูลภาพสแกนจาก MRI มาวิเคราะห์กับกลุ่มนักโทษ 200 คนที่ทำฆาตกรรมสำเร็จที่ได้รับการควบคุมความรุนแรงโดยใช้สารเคมีพบว่า สารสีเทาในภาพสแกนสมอง MRI ในกลุ่มฆาตกรรมสำเร็จนี้ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งพื้นที่สมองเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมและการรับรู้ทางสังคม

ฮานน์ส โวเกล (Hannes Vogel) นักประสาทวิทยาแห่งศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ แต่ให้ความเห็นต่อการค้นพบครั้งนี้ว่า “อย่างแรกมันน่าสนใจที่พวกเขาพบความแตกต่างของสมองจากกลุ่มนักโทษที่แตกต่างกัน และสองมันแสดงถึงความสัมพันธ์ของศูนย์กลางสมองที่ควบคุมพฤติกรรมและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม”

055

ฮานน์ส โวเกล นักประสาทวิทยา ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

ขณะที่ ลอรา โคป (Lora Cope) นักประสาทวิทยา ผู้ศึกษาความผิดปกติของสารเคมีในสมองจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เขียนบันทึกจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ให้กับทีมงาน MRN ว่า การวิจัยของทีม MRN ที่นำเครื่อง MRI ไปสแกนสมองนักโทษที่เรือนจำในรัฐนิวเม็กซิโก และวิสคอนซินว่า “เป็นปฏิบัติการที่ปฏิวัติการวิจัยอย่างแท้จริง” โคปไม่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการของคีล แต่เธอเคยร่วมงานกับคีลขณะเรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลันนิวเม็กซิโก โดยในช่วงนั้น โคปเคยพูดคุยกับสมาชิกของ มูลนิธิเอวิล (Avielle Foundation) ซึ่งเป็นชื่อของหนูน้อยวัยหกขวบที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์กราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุก (Sandy Hook) ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งก่อเหตุโดยวัยรุ่นชายวัย 20 ปี โดยในตอนนั้นทั้งคีลและโคป คือสองนักวิจัยที่ศึกษาภาพสแกนสมอง MRI ของนักโทษวัยรุ่นชายที่ถูกจองจำกว่า 150 คน โดย 20 คน ในจำนวนนั้นถูกตัดสินลงโทษในคดีฆาตกรรม พบว่า ผู้ทำผิดคดีฆาตกรรมมีปริมาณสีเทาบริเวณกลีบขมับในสมอง (Temporal lobes) น้อยกว่านักโทษวัยรุ่นชายที่ถูกจองจำด้วยคดีอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ คีล เปรียบเทียบข้อมูลตอนงานวิจัยที่ แซนดี ฮุก กับงานวิจัยในปัจจุบัน เขาพบว่ามีการทับซ้อนในระดับสูง โดยผลจากเด็กวัยรุ่นชาย เหมือนกับผลจากนักโทษชายที่เขาทำวิจัยในปัจจุบัน และเป็นไปในทางเดียวกัน

 066

ลอรา โคป นักประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยมิชิแกน

ผลจากการศึกษาภาพสแกนสมอง MRI ทำให้สามารถแยกแยะผู้กระทำความผิดในคดีฆาตกรรมแบบรุนแรง และแบบไม่รุนแรง รวมถึงสามารถแยกแยะคดีฆาตกรรมพิเศษอื่นๆได้อีกด้วย ฮาร์โรลด์ เคอร์นิกสเบิร์ก (Harold Koenigsberg) จิตแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ เมาท์ ซีไนน์ (School of Medicine at Mount Sinai) บอกว่า “ผมคิดว่ามีการทับซ้อนกันระหว่าง ผู้ทำฆาตกรรมแบบรุนแรงกับผู้ทำความผิดแบบไม่รุนแรง และน่าประหลาดใจมากที่มันเฉพาะเจาะจงเกิดขึ้นกับผู้ที่ทำฆาตกรรมรุนแรง”

022

ฮาร์โรลด์ เคอร์นิกสเบิร์ก จิตแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ เมาท์ ซีไนน์

เคอร์นิกสเบิร์ก ตั้งข้อสังเกตว่า ความรุนแรง (Violence) ในคดีฆาตกรรมแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ ความรุนแรงแบบหุนหันพลันแล่น (Impulsive violence) เกิดจากอารมณ์ขัดขืน ดื้อด้าน และปฏิกิริยาตอบกลับที่มากเกินไป ลักษณะของพฤติกรรมนี้เชื่อมโยงกับการทำงานของกลีบสมองส่วนหน้า และระดับสารเซโรโทนิน ที่ผิดปกติ ในทางกลับกัน ความรุนแรงโดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือ (Instrumental violence) เป็นความรุนแรงที่ไตร่ตรองไว้ก่อนและมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางสมองอื่นๆ เช่น การทำงานของสมองส่วน อมิกกะดาลา (Amygdala) ลดลงขณะมีการประมวลผลทางความรู้สึก เขาสรุปว่า ชุดข้อมูลของคีล สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้โดยการเพิ่มสารสื่อประสาทในสมอง ร่วมกับการรักษาด้วยไฟฟ้า โดยทั้งหมดดำเนินการภายใต้ชุดข้อมูลของนักจิตวิทยาต่อพฤติกรรมที่แตกต่างเหล่านี้

ทั้ง เคอร์นิกสเบิร์ก โวเกล และ คีล ทราบกันดีว่า ชุดข้อมูลจากการวิจัยครั้งนี้ไม่สามารถใช้ในการคาดการณ์ผู้ที่มีแนวโน้มเป็นฆาตกรได้ แต่งานวิจัยนี้อาจนำไปสู่การเป็นข้อมูลเพื่อการพิจารณาคดีได้ โดยหากทนายความพยายามปกป้องลูกความที่เป็นฆาตกรโดยใช้เหตุผลเรื่องความผิดปกติของสมอง ทางพนักงานอัยการอาจใช้ข้อมูลการยืนยันจากงานวิจัยจากภาพสแกนสมองด้วย MRI ของ เคอร์นิกสเบิร์ก โวเกล และ คีล เป็นหลักฐานได้ว่าจำเลยทำผิดคดีฆาตกรรมจริง

คีล ตั้งข้อสังเกตปิดท้ายว่า งานวิจัยของเขาอาจมีส่วนช่วยวัดความเสี่ยงในการก่อคดีฆาตกรรม ซึ่งอาจใช้เป็นมาตรการวัดความรุนแรงผ่านทางแบบสอบถามทางจิตวิทยา ทำให้ทราบถึงตัวผู้ต้องสงสัยที่แสดงให้เห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นฆาตกร และการพยายามทำความเข้าใจว่าพฤติกรรมรุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการทางจิตวิทยาและการรักษาด้วยยา ก็จะเป็นแนวทางการป้องกันอาชญากรรมรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

022

แสดงส่วนของสมองที่เรียกว่า อมิกกะดาลา

033

สมองส่วนกลีบขมับ


เหตุการณ์กราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดี ฮุก เมืองนิวทาวน์ รัฐคอนเนคติกัต สหรัฐอเมริกา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2555 มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 27 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 20 คน ผู้ก่อเหตุคือ อดัม แลนซา วัย 20 ปี ซึ่งฆ่าตัวเองหลังจากก่อเหตุ

กลีบสมอง เป็นส่วนหนึ่งของสมอง การแบ่งกลีบสมองแบบดั้งเดิม จะแบ่งตามลักษณะทางกายวิภาค ซึ่งแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับหน้าที่ที่ต่างกันของสมอง แต่หากไม่ระบุเจาะจง การแบ่งกลีบของสมองจึงหมายถึงการแบ่งกลีบเฉพาะของซีรีบรัม

เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นกรดอะมิโนตัวหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้น เป็นสารสื่อประสาทและฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานในหลายๆ ส่วนของร่างกาย ทั้งการควบคุมอารมณ์ การย่อยอาหาร ความรู้สึกอยากหรือเบื่ออาหาร การนอนหลับ และมีความเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชหลายโรค

อมิกกะดาลา (Amygdala) รูปร่างคล้ายกับเมล็ดอัลมอนด์ฝังลึกอยู่ในสมองกลีบขมับส่วนกลาง (Medial temporal lobe) ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกทางอารมณ์ โดยทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ เก็บบันทึกความทรงจำที่ประกอบด้วยอารมณ์และความรู้สึก รวมถึงการตอบสนองทางอารมณ์ต่างๆ และ การปรับสภาวะให้เกิดความกลัว (Fear conditioning) ตามสัญชาตญาณรับรู้อันตรายของมนุษย์ ซึ่งเป็นรูปแบบทางพฤติกรรมที่ทำให้เรามีความระมัดระวัง มีความคิดเชิงวิเคราะห์ คาดคะเนต่อเหตุการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่

ข่าวสารที่่คล้ายกัน