ณ ตอนนี้ถ้าพูดถึงโรคระบาดทุกคนคงนึกถึง COVID-19 ไวรัสที่กำลังโด่งดัง และขึ้นชื่อในเรื่องของความรวดเร็วในการระบาด ส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพและเศรษฐกิจไปในหลายๆทวีปทั่วโลก ยังมีโรคระบาดอีกชนิดหนึ่งที่โดนความดังของเจ้า COVID-19 กลบซะมิดเพราะถ้าพูดชื่อไป หลายๆคนอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อนโรคนี้มีชื่อว่า ไข้ลาสซา(Lassa fever) ซึ่งประเทศไนจีเรียและหลายๆ ประเทศในแถบแอฟริกาตะวันตกกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคไข้ลาสซา (Lassa fever) อยู่ข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆและองค์การอนามัยโลก ต่างพูดถึงการระบาดของไวรัสตัวนี้เช่นกันว่าเป็นโรคระบาดที่มีความน่ากลัว ติดต่อได้ง่ายและมีความรุนแรงโดยข้อมูลล่าสุด (ต้นเดือนมกราคมถึงปลายเดือน มีนาคม ค.ศ. 2020) เฉพาะในประเทศไนจีเรียซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดในครั้งนี้มีผู้ติดเชื้อที่ยืนยันแล้วกว่า 970 คน ดูเหมือนเป็นจำนวนที่ไม่เยอะใช่ไหมครับ
แต่ผมจะพาไปดูจำนวนผู้เสียชีวิต จะอยู่ที่ 186 คนเท่ากับว่ามีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 19.18% เลยทีเดียวซึ่งถือว่ามีอัตราการเสียชีวิตสูงมากๆ(จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ประมาณ 3.4%:ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก รายงายวันที่ 11 มีนาคม 2563)
โรคไข้ลาสซาเป็นโรคระบาดที่เกิดประจำถิ่นในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก พบการระบาดครั้งแรกในปี ค.ศ. 1969 ที่เมืองลาสซาประเทศไนจีเรีย และเกิดการระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ ในแถบแอฟริกาตะวันตกโดยพบผู้ป่วยประมาณ 500,000 รายต่อปี สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่พบได้ในสัตว์ฟันแทะหลายชนิดชื่อว่าไวรัสลาสซาเป็นไวรัสในกลุ่ม Arenaviruses มีสารพันธุกรรมเป็นแบบ RNA เป็นไวรัสที่ทำลายระบบหลอดเลือดและส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในร่างกาย (เป็นกลุ่มอาการประเภทไข้เลือดออก) ระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสจะใช้เวลาประมาณ 5-16 วัน โดย 80% ของผู้ติดเชื้อมักจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย สำหรับกรณีที่รุนแรงผู้ป่วยจะมีอาการเช่นเดียวกับการติดเชื้ออีโบล่า มีเลือดออกทางจมูก ปาก และส่วนอื่นๆของร่างกาย การวินิจฉัยโรคเบื้องต้นนั้นทำได้ยาก เพราะจะคล้ายคลึงกับการติดเชื้อมาลาเรียและไข้เลือดออกสำหรับการติดต่อของไวรัสชนิดนี้ สามารถแพร่กระจายได้ 3 วิธีแบ่งเป็น
1. จากสัตว์สู่คน ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรง หรือการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนสารคัดหลั่งของหนู
2. ติดต่อทางอากาศ การรับเชื้อโดยการหายใจเอาอากาศที่มีเชื้อไวรัสทั้งจากสัตว์ฟันแทะที่ป่วย และผู้ติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
3. จากคนสู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ รวมถึง การรับเชื้อทางอสุจิ
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านความมั่นคงของอเมริกาได้เขียนบทความผ่านเวปไซต์Nationalinterest.org (เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020) ว่าไข้ลาซซานั้นกำลังถูกจับตามอง ว่าอาจจะ
ทำให้เกิดการระบาดและปัญหาด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบกับคนทั่วโลกได้และในปี ค.ศ. 2018 ดร. ชาร์ลีย์ เวลเลอร์ (Charlie Weller) หัวหน้างานด้านวัคซีนของ Welcome Trust
องค์กรด้านสุขภาพของอังกฤษ ได้เคยออกมาพูดถึงโรคไข้ลาสซาเช่นกันว่าเป็นโรคที่อาจจะเกิดการระบาดได้รุนแรงได้ในอนาคต เพราะการติดต่อเกิดได้ง่าย หลายช่องทาง การวินิจฉัยโรคและการรักษาทำได้ยาก ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับโรคไข้ลาสซาที่มีการพูดถึงพาหะที่เป็นตัวกักตุนเชื้อไวรัส ได้แก่ กลุ่มสัตว์ฟันแทะ จากที่ตอนแรกต่างคิดว่าน่าจะเกิดการติดเชื้อจากสัตว์ฟันแทะที่เป็นสัตว์พื้นถิ่นในแถบแอฟริกาเท่านั้น แต่จากงานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า เชื้อไวรัสลาสซาสามารถอาศัยอยู่ได้ในสัตว์ฟันแทะจำพวกหนูหลายชนิดที่อยู่ในหลายๆทวีปของโลก ไม่ว่าจะเป็นทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกา โดยที่ไม่มีอาการ และเป็นพาหะของโรคได้ซึ่งหนูที่ติดเชื้อนั้นยังสามารถส่งต่อไวรัสไปยังรุ่นลูกได้อีกด้วยนั่นเท่ากับว่า ในอนาคต โรคนี้อาจจะไม่ได้มีการระบาดแค่ในแถบแอฟริกาเพียงทวีปเดียวเพราะอาจจะเกิดจากการเดินทางข้ามทวีปเช่น ทางเรือก็อาจจะทำให้เกิดการระบาดไปยังนอกทวีปได้เช่นกัน (ระบาดจากหนูที่เดินทางและอาศัยบนเรือ เหมือนกับการระบาดของกาฬโรคในอดีต) หรือการซื้อขายสัตว์ป่าจากทวีปแอฟริกาเพื่อนำมาเลี้ยงหรือบริโภคก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการระบาดนอกทวีปแอฟริกาได้เช่นกัน
แต่สำหรับประเทศไทยนั้นรู้จักโรคนี้มานานแล้ว แม้จะยังไม่เคยเกิดการระบาดในไทย แต่ทางกระทรวงสาธารณสุขนั้นรับรู้ถึงความน่ากลัวของมันดี โดยตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ ได้พูดถึงโรคติดต่ออันตรายที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้ 14 โรคโดยมีโรคไข้ลาสซารวมอยู่ในนั้นด้วยเพราะถ้าเกิดการระบาดขึ้นถือว่าจะต้องใช้มาตรการขั้นสูงสุดในการควบคุมการระบาดทันทีส่วนเจ้า COVID-19 นั้นก็เป็นน้องใหม่ล่าสุดที่ถูกประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายเช่นกัน
การที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของโรคระบาดนั้นไม่ใช่เพื่อให้เราหวาดกลัวหรือตระหนกจนเกินไป แต่ผมคิดว่ามันน่าจะทำให้เราตระหนักถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคระบาดในแต่ละครั้ง เพื่อใช้เตือนให้เราหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดโรคระบาดขึ้นมาได้ ซึ่งโรคระบาดร้ายแรงเกือบทั้งหมดที่เกิดขึ้นบนโลกมักเกิดจากการติดต่อจากสัตว์ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจ เพราะฉะนั้นการไม่ซื้อขาย บริโภคสัตว์ป่า หรือนำเข้าสัตว์มาจากพื้นที่อื่นๆ ก็น่าจะทำให้เราห่างไกลจากโรคระบาดได้สำหรับในบทความหน้าผมจะพาทุกคนย้อนกลับไปดูการระบาดครั้งใหญ่อื่นๆที่เคยเกิดขึ้นในโลกของเราอีกนะครับ แล้วพบกันครับ!!!
ผู้เขียน ตามพงศ์ เหลืองบริบูรณ์
ที่มาของแหล่งข้อมูล
1. Dylan M John, Jenny D Jokinen, Igor S. Lukashevich, Attenuated Replication of Lassa Virus Vaccine Candidate ML29 in STAT-1 Mice, Pathogens, 8 march 2019. แหล่งที่มา : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6470856/
2. Centers for disease control and prevention, National center for emerging and zoonotic, Viral Hemorrhagic fevers[ออนไลน์], 18 June, 2013, แหล่งที่มา : https://www.cdc.gov/vhf/virus-families/arenaviridae.html
3. คู่มือการพยาบาลผู้ป่วยโรคติดต่อ/โรคอุบัติใหม่/โรคอุบัติซ้ำ, สถาบันบำนาศนราดูร, แหล่งที่มาhttp://bamras.ddc.moph.go.th/userfiles/14(3).pdf
4. Nigeria center for Disease Control, Lassa fever Situation Report, Cumulative from week 1-13, 2020, แหล่งที่มา :https://ncdc.gov.ng/themes/common/files/sitreps/5b04a2042a0ed671d7b75c4aab034ac5.pdf
5. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2563, แหล่งที่มา :http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/048/T_0001.PDF
6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ.2558,แหล่งที่มา : https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor/c74d97b01eae257e44aa9d5bade97baf/files/003_1gcd.PDF
7. We forum.org, Nigeria is already dealing with a deadlier viral outbreak than COVID-19, 13 Mach 2020, แหล่งที่มา: https://www.weforum.org/agenda/2020/03/nigeria-is-already-dealing-with-a-deadlier-viral-outbreak-than-the-coronavirus-epidemic/
8. Nationalinterest.org, The next Global health emergency? What is Lassa fever?,February 15, 2020, แหล่งที่มา :https://nationalinterest.org/blog/buzz/next-global-health-emergency-what-lassa-fever-123436