ย้อนรอยสงครามที่ไม่มีวันจบ ตอน Black Death

ย้อนรอยสงครามที่ไม่มีวันจบ ตอน Black Death

18-12-2021

ถ้าให้ทุกคนนึกถึงภาพสงครามในความคิดของเรา หลายๆคนอาจนึกถึงสงครามในรูปแบบทางการทหาร ที่มีการใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ปืน หรืออาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงในการสังหารกัน ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่สงครามทางการทหารยังมีวันสิ้นสุด และในปัจจุบันก็เกิดขึ้นน้อยมากแต่สงครามที่ผมจะพูดถึงในวันนี้ เกิดขึ้นมานานก่อนเราจะรู้จักระเบิดนิวเคลียร์เสียอีก และปัจจุบันเราก็ยังอยู่กับสงครามเหล่านี้ เพราะสงครามที่ผมกำลังเอ่ยถึง คือสงครามกับโรคระบาดนั่นเอง ณ ปัจจุบันเรากำลังเผชิญหน้ากับไวรัสที่มีอัตราการการแพร่ระบาดที่สูงมากอย่างCOVID-19 แต่ในอดีตนั้นเราเคยพบกับโรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนได้มากกว่าระเบิดนิวเคลียร์เสียอีก วันนี้ผมจะพาทุกคนย้อนรอยเพื่อทำความรู้จักกับโรคระบาดที่เคยโด่งดังในอดีตการระบาดที่สามารถทำให้คนทั่วโลกล้มตายไปมากกว่า 200 ล้านคน นั่นก็คือ Black Death หรือกาฬโรค นั่นเอง ซึ่งผมคิดว่าเด็กๆในสมัยนี้อาจจะไม่ค่อยรู้จักโรคนี้สักเท่าไร เพราะฉะนั้นเรามาเดินทางย้อนอดีตไปด้วยกันเลย

Black Death หรือ กาฬโรค คือโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียโดยการสัมผัสเนื้อเยื่อ และสารคัดหลั่งของสัตว์ฟันแทะ หรือติดเชื้อผ่านหมัดที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะพาเชื้อแบคทีเรียนี้มาสู่คน แบคทีเรียนี้มีชื่อว่าYersiniapestisตั้งตามแพทย์ชาวฝรั่งเศส Alexandre Emile Jean Yersinผู้ค้นพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ทั้งนี้แบคทีเรียดังกล่าวยังสามารถแพร่ได้ทั้งทางอากาศ และการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเหตุใดโรคระบาดนี้ถึงมีคนตายเป็นล้านๆคน ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจวงจรของการเกิดโรคก่อน โดยกาฬโรคจะมีด้วยกัน 2 วงจรคือ

1.วงจรป่า คือ วงจรที่เกิดระหว่างหมัดกับประชากรสัตว์ฟันแทะในป่า 

2.วงจรเมือง คือ วงจรที่เกิดระหว่างหมัดกับประชากรหนูในเมือง ซึ่งเชื้อสามารถเดินทางข้ามระหว่างวงจรได้ถ้าหมัดหรือสัตว์ที่ติดเชื้อในแต่ละวงจรมีการสัมผัสกันไม่ว่าคนจะได้รับเชื้อจากวงจรใดก็ตาม ก็มีโอกาสติดเชื้อได้ทั้งนั้นเนื่องด้วยระบบสาธารณสุขในสมัยก่อนที่ยังไม่ดีเหมือนปัจจุบัน และการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างแออัดอีกทั้งชาวบ้านยังไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องสุขภาพทำให้มีโอกาสสัมผัสเชื้อและเกิดการระบาดง่ายมาก แต่ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้นคือ แม้จะมีจุดเริ่มต้นของโรคจากสัตว์ฟันแทะมาสู่คน แต่การแพร่กระจายจากคนสู่คนกลับรวดเร็วยิ่งกว่าโดยผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อจากสัตว์หรือผู้ป่วยประมาณ 2-7 วัน อาการจะคล้ายๆกับไข้หวัดใหญ่แต่หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการอื่นๆตามมา เช่น

1. เมื่อเชื้อเคลื่อนตัวไปยังต่อมน้ำเหลืองจะทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบแล้วแพร่เข้าสู่กระแสเลือด

2. เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรงหรือมาจากการติดเชื้อที่ต่อมน้ำเหลืองก่อนก็ได้

3. ติดเชื้อที่บริเวณปอดผ่านการหายใจรับเชื้อเข้าไป ซึ่งเป็นแบบที่ดำเนินโรคเร็วที่สุด และมีอัตราการเสียชีวิตเกือบจะ 100 % เลยทีเดียวอาการขั้นสุดท้ายของผู้ป่วยโรคนี้ คือ ร่างกายจะกลายเป็นสีดำ เพราะมีเลือดออกใต้ชั้นผิวหนังกำพร้าจึงเป็นชื่อของ โรค Black Deathทั้งยังแฝงอีกความหมายหนึ่ง คือ สื่อถึงความน่าสะพรึงกลัวของโรค และอารมณ์เศร้าหมอง หดหู่ของผู้ที่ป่วยและผู้เสียชีวิตในยุคนั้น   

คราวนี้เราจะไปย้อนดูว่ากาฬโรคที่เคยระบาดนั้นสร้างความเสียหายได้มากขนาดไหน ในอดีตเคยมีการบันทึกว่า กาฬโรคมีการระบาดใหญ่ถึง 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 Plague of Justinian เกิดการระบาดขึ้นในภูมิภาครอบๆทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทั้งในทวีปยุโรปและแอฟริกา ในช่วง ค.ศ.541 – 750 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต ราวๆ ร้อยละ 50-60 ของประชากรในขณะนั้น

ครั้งที่ 2 Black Death เกิดขึ้นในทวีปยุโรปในช่วง ค.ศ.1330-1346 สันนิษฐานว่ามีต้นกำเนิดจากการระบาดในประชากรสัตว์ฟันแทะในแถบเอเชียกลาง และแพร่กระจายไปยังยุโรปตามเส้นทางการค้า การระบาดในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตประมาณ 17-28 ล้านคนหรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรในทวีปยุโรปขณะนั้นซึ่งการระบาดไม่เพียงส่ง

ผลกระทบเรื่องสุขภาพแล้วยังส่งผลกระทบเป็นอย่างมากในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนาและศิลปวัฒนธรรมในยุโรปเพราะประชาชนในยุคนั้นมักเชื่อมโยงการป่วยกาฬโรคเข้ากับเรื่องความเชื่อ และศาสนาบ้างก็เชื่อว่าเป็นการลงทัณฑ์ของพระเจ้าในเวลานั้นกาฬโรคไม่มีวิธีการรักษาที่ชัดเจน หนทางที่จะรอดตายคือการอพยพไปยังพื้นที่อื่น เพื่อลดความหนาแน่นของประชากร ในช่วงนี้เองได้เกิดอาชีพหนึ่งที่พบได้เมื่อมีการระบาดของกาฬโรค คือ หมออีกา (plague doctor) หรือแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยกาฬโรค

หมออีกานั้นก็คือ แพทย์มือใหม่ที่มีประสบการณ์น้อย หรือบางคนไม่ได้เรียนแพทย์เลยด้วยซ้ำ สวมชุดที่ประกอบไปด้วย ชุดคลุมหนัง หมวกทรงสูง หน้ากากคล้ายอีกา และ ไม้เท้าเครื่องแบบดังกล่าวถูกคิดค้นขึ้นมาครั้งแรก โดยหัวหน้าหน่วยแพทย์หลวงฝรั่งเศสมีหน้าที่หลักในการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงโดยสวมเครื่องแบบเช่นนี้ เสมอ อย่างไรก็ดีการรักษาโดยหมออีกานั้นไม่ค่อยได้ผลที่ดีสักเท่าไหร่ เพราะวิทยาศาสตร์และการแพทย์ในสมัยนั้นยังไม่มีการศึกษามากนัก

shutterstock 94727326

คำบรรยายภาพ : การแต่งกายของ หมออีกา (Plague doctor)

ครั้งที่ 3 Third Pandemicในช่วง ค.ศ. 1860-1920 การระบาดเริ่มต้นจากมณฑลยูนนานสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่นเดียวกับโรคระบาดในยุคใหม่หลายๆโรคที่เราเชื่อว่าเริ่มจากการแพร่ระบาดในจีนทั้งนั้น ในสมัยนั้นการระบาดมักเกิดจากการเดินเรือข้ามทวีป ทำให้เกิดการระบาดทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ยังโชคดีที่การระบาดครั้งนี้ถือว่าเป็นการระบาดครั้งใหญ่ ครั้งสุดท้ายของกาฬโรคเพราะนายแพทย์ชาวฝรั่ง Alexandre Emile Jean Yersin ได้ทำให้ทุกคนรู้ว่า กาฬโรคนั้นเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งนำไปสู่การคิดค้นยาและวัคซีนในที่สุดในปัจจุบันกาฬโรคนั้นถือว่าเป็นโรคอุบัติซ้ำที่สามารถเกิดการขึ้นได้อีกแม้ว่าเราจะมีความรู้ด้านชีววิทยาของเชื้อค่อนข้างดีระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องตระหนักถึงบทบาทและสถานะของเชื้อในระบบนิเวศตามธรรมชาติ เพราะเชื้อยังมีสะสมในสัตว์ป่าอีกมาก

ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าเราลองเปรียบเทียบการระบาดของกาฬโรคในสมัยก่อน กับการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้นจะมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่คือ ข้อสันนิษฐานที่ว่าทั้ง COVID-19 และกาฬโรค มีจุดเริ่มต้นมาจากสัตว์ป่า นี่อาจเป็นเป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นว่าเราพยายามทำสงครามกับเชื้อโรคและเราเอาชนะได้ (แต่ไม่ใช่ว่าจะชนะทุกครั้ง) แต่เวลาผ่านมาหลายปีมนุษย์เราก็ได้จุดไฟสงครามครั้งใหม่ขึ้นอีกครั้งจากการที่มนุษย์นำสัตว์ป่ามาบริโภค โดยคู่ต่อสู้เราคือ COVID-19 ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีอัตราการแพร่ระบาดอยู่ในระดับที่สูง ไม่เพียงแต่มีผลกับสุขภาพของเราแต่ในด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ผมถึงพยายามจะบอกว่าสงครามกับโรคระบาดเนี่ยสิ้นสุดยากที่สุดแล้ว เพราะจุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่วิวัฒนาการได้เร็วที่สุดและปรับตัวได้เก่งที่สุด ต่อให้เราเอาชนะ COVID-19 ได้แต่อีกไม่นานคู่ต่อสู้สายพันธุ์ใหม่ก็อาจจะโผล่มาอีกก็เป็นได้ ซึ่งในบทความหน้าผมจะพาทุกคนย้อนกลับไปดูการระบาดครั้งใหญ่อื่นๆที่เคยเกิดขึ้นในโลกของเรานะครับ แล้วพบกันครับ!!!

shutterstock 1646564398 1

คำบรรยายประกอบภาพ : ภาพเขียนที่สื่อถึงการเชื่อมโยงการระบาดของโรคกาฬโรคเข้ากับเรื่องของศาสนาและการลงทัณฑ์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จักแบคทีเรียที่ก่อโรคนี้

 

ผู้เขียน ตามพงศ์ เหลืองบริบูรณ์

แหล่งที่มาข้อูล

1.History.com editors. Black Death [ออนไลน์]. 2019,

แหล่งที่มา : https://www.history.com/topics/middle-ages/black-death

2.Ancient-origins.net. Secrets Behind the Creepy Plague Doctor Mask and Costume [ออนไลน์] , 15 March,2019, แหล่งที่มา : https://www.ancient-origins.net/artifacts-ancient-technology/secrets-behind-plague-doctor-mask-terrifying-costume-009201

3.ไอยฤทธิ์ ไทยพิสุทธิกุล, ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, กาฬโรค : โรคอุบัติซ้ำ, วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข 2553. แหล่งที่มา :

https://kb.hsri.or.th/dspace/bitstream/handle/11228/2954/6-p.%20Iyarit.pdf?sequence=2&isAllowed=y

ข่าวสารที่่คล้ายกัน