วัคซีนในตำนาน (Vaccine of the myth)

วัคซีนในตำนาน (Vaccine of the myth)

19-12-2021
วัคซีนในตำนาน (Vaccine of the myth)

     แรกเริ่มก่อนจะมีการค้นพบวัคซีน มนุษย์รู้จักสังเกตว่า เมื่อป่วยเป็นโรคอะไรบางอย่างแล้วมักจะไม่ป่วยซ้ำอีก หรือใช้เวลานานมากกว่าที่จะกลับมาป่วยโรคเดิมซ้ำอีกที มนุษย์จึงได้พยายามหาวิธีต่าง ๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ซึ่งบางวิธีก็ใช้ไม่ได้ ซ้ำยังทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต เช่น การกินพิษงูหรือดื่มเลือดสัตว์ที่โดนยาพิษเพื่อให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันพิษ แต่กลับไม่สามารถคุมปริมาณพิษได้และทำให้ถึงแก่ความตาย เป็นต้น

       วัคซีนตัวแรกของโลกเกิดจากการพยายามรักษาและป้องกันโรคฝีดาษหรืออีกชื่อหนึ่ง ไข้ทรพิษ ที่ทำให้คนตายกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กทั่วโลกโดยเฉพาะในทวีปยุโรปทำให้มีการค้นคว้าเกี่ยวกับการรักษาโรคนี้กันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งนายแพทย์ชาวอังกฤษท่านหนึ่งค้นพบว่า คนรีดนมวัวที่เคยติดโรคฝีดาษวัว จะไม่ติดโรคฝีดาษในคนอีก ด้วยความสงสัยจึงได้มีการทดลองนำหนองฝีดาษวัวไปใส่ในแผลสัตว์หลายชนิด ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันฝีดาษในสัตว์นั้น ๆ ได้ แล้วจึงนำมาทดลองใส่ในเด็กชายคนหนึ่ง เด็กชายแค่มีไข้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้นจึงลองนำหนองฝีดาษคนมาใส่เด็กชาย พบว่าเด็กไม่ติดเชื้อ ตั้งแต่นั้นมาวิธีการรักษาแบบนี้จึงได้เผยแพร่ออกไปทั่วยุโรปและทั่วโลก ฝีหนองวัวที่นำมาใช้ในการรักษาถูกเรียกว่า วัคซีน ซึ่งมีที่มาจากคำว่า Vacca ในภาษาละตินที่แปลว่า วัว และเรียกวีธีป้องกันโรคว่า Vaccination ตั้งแต่นั้นมา ก็เกิดการพัฒนาวัคซีนชนิดต่าง ๆ โดยการทำให้เชื้ออ่อนแรงลงและพัฒนาเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายในยุคต่อมา

shutterstock 242815531

         ในปัจจุบันวัคซีนฝีดาษน่าจะกลายเป็นตำนานไปแล้ว เนื่องจากการรักษาโรคฝีดาษโดยใช้วัคซีนแพร่หลายไปทั่วทุกมุมโลก จนทำให้เชื่อว่าโรคนี้สูญพันธุ์ไปจากโลกแล้ว ทำให้ไม่มีการฉีดวัคซีนนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 และไม่มีประเทศไหนที่มีวัคซีนนี้เก็บไว้อีกเลย แต่ก็ยังมีอีกข่าวลือว่าประเทศมหาอำนาจบางประเทศมีการเก็บตัวอย่างเชื้อฝีดาษกับวัคซีนนี้ไว้อย่างลับ ๆ เผื่อจะนำมาใช้ในการสงครามในอนาคต ซึ่งหากเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงก็น่าเป็นห่วงและได้แต่หวังว่านักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้นจะสามารถคิดค้นวัคซีนมารับมือได้ทันท่วงที

shutterstock 455879764

ผู้เขียน สรรภัค ตั้งเสงี่ยมวิสัย

ที่มาของข้อมูล

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1123944/ 

http://whqlibdoc.who.int/smallpox/9241561106.pdf

ข่าวสารที่่คล้ายกัน