ความแตกต่างของ "มิไรคาน" กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติและธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ

ความแตกต่างของ "มิไรคาน" กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติและธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ

14-12-2021
ความแตกต่างของ "มิไรคาน" กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติและธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ

อานุภาพ สกุลงาม
กองวิชาการวิทยาศาสตร์, พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

        สำหรับคนทำงานแล้ว การได้ไปเรียนรู้วิธีการทำงานของหน่วยงานประเภทเดียวกัน หรือคล้ายกัน น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ทำงานนั้นพอสมควร ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่มีภาพลักษณ์ของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในความรับรู้ของคนทั่วไป ซึ่งหลังจากสัมผัสแล้วก็ไม่ผิดไปจากการรับรู้ของคนทั่วไปเลย แต่หากคิดว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศญี่ปุ่นจะถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการนำเสนอนิทรรศการหรือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่ล้ำสมัย ไฮเทค และตื่นตาตื่นใจ ความคิดนี้อาจสร้างความผิดหวังเล็กๆ กับผู้คนที่มีแนวคิดแบบนี้ก็ได้ เพราะที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งชาติ (National Museum of Emerging Science and Innovation) หรือในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “นิปปอน คางากุ มิไรกัง” เรียกสั้นๆ ว่า มิไรกัง หรือ มิไรคาน (ตามแบบไทยๆ)  ซึ่งแปลได้ว่า “หอแห่งอนาคต” กลับมีวิธีการนำเสนอเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่หวือหวา แต่เน้นในขอบเขตของเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการอธิบายและตีความเทคโนโลยีให้สามารถเข้าใจระบบการทำงานผ่านชิ้นงาน ทั้งหมดนี้นำเสนออย่างเรียบง่าย สวยงาม เข้าใจได้ง่าย ขณะเดียวกันก็มีความทันสมัยแบบพอดีในการนำเสนอที่ไม่จำเป็นต้องมีแสงสว่างวูบวาบท่ามกลางเสียงอึกทึกครึกโครม กล่าวได้ว่า มิไรคาน เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่นำเสนอความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้อย่างเรียบง่าย ผ่านเทคโนโลยีการนำเสนอที่พอเหมาะ ด้วยบรรยากาศของความเป็นพิพิธภัณฑ์จริงๆ     

        มิไรคาน ถือเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งใหม่ของประเทญญี่ปุ่น สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2544 และถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่มีความใหม่และทันสมัยมากหากเทียบกับ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ
(National Museum of Nature and Science) บริเวณสวนสาธารณะอุเอโนะ กลางกรุงโตเกียว ที่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2420 ถึงแม้จะมีความเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ (Science Centre) เหมือนกัน แต่ทั้งที่มิไรคานและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติแห่งชาติ ก็มีความแตกต่างกัน ในบทความนี้จะวิเคราะห์ถึงความต่างของทั้งสองพิพิธภัณฑ์จากการที่ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมทั้งสองที่ ทั้งนี้ความแตกต่างที่ปรากฏเกิดจากมุมมองและทัศนคติของผู้เขียนเท่านั้น โดยเน้นพิจารณาถึงสิ่งที่สามารถรับรู้ได้ด้วยสายตา ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ก่อสร้าง รูปแบบนิทรรศการ เนื้อหา ชิ้นงาน การนำเสนอ เทคโนโลยี รูปแบบการใช้ผู้คนในการเป็นอาสาสมัคร และอื่นๆ

แค่รูปร่างของอาคาร ในฐานะของศูนย์วิทยาศาสตร์ทั้งสองแห่งก็ยังมีความแตกต่างกัน (ภาพซ้าย) อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสมัยใหม่แห่งชาติที่มีความทันสมัย
และ (ภาพขวา) อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ ที่ใช้อาคารเก่ามาเป็นสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ (ภาพโดย : อานุภาพ สกุลงาม)

ประการแรก ภาพรวมเนื้อหานิทรรศการ

        ที่มิไรคาน นำเสนอเนื้อหาที่เน้นเรื่องราวทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน โดยเนื้อหาเทคโนโลยีอาจลงรายละเอียดจนถึงกระบวนการทำงานที่ถูกตีความเพื่อการอธิบายให้ง่ายขึ้นผ่านชิ้นงานที่ผสมผสานกับเทคโนโลยีการนำเสนอได้อย่างลงตัว แต่ที่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ นำเสนอเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา โดยเน้นที่หลักพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาทั้งมวล โดยอาศัยตัวอย่างที่เก็บสะสมไว้นำมาเป็นตัวเล่าเรื่อง รวมถึงการใช้ตัวอย่างมาเล่าเรื่องพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาจากอดีตสู่ปัจจุบัน  การนำเสนอที่นี่จึงเน้นไปที่ตัวอย่างนานาชนิดที่คนทั่วไปไม่ได้พบเห็นในชีวิตประจำวัน หากเปรียบง่ายๆ ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ เป็นเหมือนวิชาความรู้วิทยาศาสตร์ในแบบเรียนประเภท “วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต” “ในอาณาจักรสัตว์มีกี่ไฟลัม” “เชื้อราอยู่ไฟลัมอะไร” หรือ “โทรศัพท์เครื่องแรกของโลกมีรูปร่างลักษณะอย่างไร และมีการพัฒนาต่อมาอย่างไร”

        เนื้อหาที่นำเสนอภายในทั้งสองพิพิธภัณฑ์ มีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัด (ภาพซ้าย) ชิ้นงานขนาดยักษ์เพื่ออธิบายหลักการทำงานเรื่องการส่งข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ โดยการตีค่าข้อมูลออกเป็นการเดินทางของลูกเหล็กจำนวนมาก ชิ้นงานนี้มีขนาดใหญ่สามารถเล่นได้ทีละหลายๆ คน แต่ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ที่เรียกว่า “นักสื่อสารวิทยาศาสตร์” คอยกำกับดูแลและอธิบายวิธีการเล่น รวมถึงเนื้อหาที่จะได้จากการเล่นชิ้นงานนี้ และ (ภาพขวา) ตู้แสดงโชว์ อาณาจักรสัตว์ โดยใช้ตัวอย่างจริงนำมาจัดแสดง พร้อมกับแบ่งหมวดหมู่ตามหลักอนุกรมวิธาน (Taxonomy) ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เป็นพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยาแห่งชาติ (ภาพโดย : อานุภาพ สกุลงาม)

ประการที่สอง ความเป็นตัวตนของพิพิธภัณฑ์

        พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา กำหนดตัวเองเป็นสถาบันที่มีพื้นฐานในการเก็บ “ตัวอย่าง” หรือ Collection เพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างแท้จริง เพราะเป้าหมายหลักของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา คือ การวิจัย การจัดเก็บวัตถุตัวอย่าง และงานนิทรรศการและการศึกษา โดยเฉพาะตัวอย่างด้านธรรมชาติวิทยา ตัวอย่างที่เก็บได้จะถูกนำมาร้อยเรียงเรื่องราวและจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยมีหน่วยงานสนับสนุนการเก็บตัวอย่างในสังกัด ได้แก่ สถาบันวิจัยซึคุบะ (Tsukuba Research Department) สวนพฤกษศาสตร์ซึคุบะ (Tsukuba Botanical Garden) นอกจากนี้ยังมีส่วนงานวิจัยเฉพาะด้านซึ่งตั้งเป็นแผนกโดยเฉพาะเพื่อการวิจัยในแต่ละด้าน ได้แก่ด้านสัตววิทยา ที่ลงรายละเอียดไปถึงสัตว์มีกระดูกสันหลัง สัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลังบนบก  ด้านพฤกษศาสตร์ ที่เน้นหนักทางด้านพืชบก เชื้อราและสาหร่าย และความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์  ด้านธรณีวิทยาและบรรพชีวิน เป็นต้น ในส่วนของ ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านวิทยาศาสตร์ เช่นตัวอย่างชิ้นงานโทรทัศน์ หรือ เครื่องโทรเลขในยุคต่างๆ ถูกบรรจุอยู่ในส่วนงานประวัติศาสตร์เทคโนโลยี ในแผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม  

        นอกจากนี้ที่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ยังมีหน่วยงานที่เรียกว่า ศูนย์วัตถุตัวอย่าง (Collection Centre) ที่ทำหน้าที่ จัดการชิ้นงานและวัตถุตัวอย่างจากทุกแผนก เพื่อนำมาจัดการด้านทะเบียนและเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ และยังเป็นศูนย์กลางวัตถุตัวอย่างในการนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาทั่วญี่ปุ่นและทั่วโลกด้วย

        ขณะที่ มิไรคาน เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มีพื้นฐานจากการเก็บวัตถุตัวอย่าง แต่มิไรคานคือศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสำหรับการดำเนินชีวิต ผ่านวิธีการทันสมัย เข้าใจง่าย เพื่อเป้าหมายในการถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นไปสู่กลุ่มคนทุกระดับ ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของมิไรคานบอกเป้าหมายของศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งนี้ว่า เพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ด้วยมุมมองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การถกเถียง และการพิจารณาอนาคตที่รออยู่ข้างหน้า ดังนั้นเนื้อหาที่ปรากฏในมิไรคาน จึงเป็นเนื้อหาที่สมัยใหม่ เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่นระบบคมนาคม หุ่นยนต์ ภัยพิบัติ วิทยาศาสตร์โลก รวมถึงเทคโนโลยีเฉพาะที่ไม่สามารถพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น แสง สี การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ และการรับสัมผัส เป็นต้น

        เทคนิคการนำเสนอที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยถูกนำมาใช้ในงานนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (ภาพซ้าย) บางส่วนของนิทรรศการชั่วคราว “มองกลับมาจากอนาคต (Backward from the Future)” ซึ่งจัดแสดงภายในมิไรคาน มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคาดการณ์อนาคตจากสิ่งที่เราพบเจอในปัจจุบัน ด้วยชิ้นงานขนาดใหญ่ที่ผสานกับเทคนิคมัลติมีเดียล้ำสมัย ขณะที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา (ภาพขวา) ที่เน้นการใช้ตัวอย่างนำมาจัดแสดงอาจไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากนัก แต่มีการใช้แสงไฟเพื่อเสริมความเข้าใจในเนื้อหาให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ในภาพ เส้นสีน้ำเงินบนพื้นแสดงถึงความสัมพันธ์ของอาณาจักรสัตว์ แต่ละหมวดหมู่ ซึ่งไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอแต่อย่างใด (ภาพโดย : อานุภาพ สกุลงาม)

        (ภาพซ้าย) ชิ้นงาน “การทำงานของคอมพิวเตอร์ทั่วไปกับควอนตัมคอมพิวเตอร์” ในมิไรคาน โดยผู้ชมมองไปที่ช่องว่างของทรงกลมสีขาว เครื่องจะสแกนใบหน้าออกมาปรากฏบนจอภาพที่เรียงร้อยไปด้วยใบหน้าของผู้คนมากมาย เพื่อที่จะอธิบายความแตกต่างของการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วไปกับควอนตัมคอมพิวเตอร์ ชิ้นงานนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีมาใช้เพื่ออธิบายความเข้าใจเนื้อหาที่อธิบายได้ยาก ขณะที่ (ภาพขวา) คือการนำผีเสื้อมาจัดแสดง ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา โดยอธิบายถึงพันธุ์ของผีเสื้อที่ค้นพบในประเทศแถบเอเชีย ถึงแม้จะเป็นเพียงการจัดแสดงอย่างง่าย แต่สามารถเข้าใจได้ถึงการกระจายพันธุ์ของผีเสื้อในภูมิภาคเอเชียด้วยวิธีง่ายๆ และไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใดๆ
(ภาพโดย : อานุภาพ สกุลงาม)

ประการที่สาม รูปแบบการนำเสนอเนื้อหา

        การนำเสนอเนื้อหาของมิไรคาน เน้นการนำเสนอเนื้อหาผ่านชิ้นงานต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการสื่อสารความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่น การใช้จอภาพที่ผสมกับเครื่องอ่านท่าทางปฏิสัมพันธ์ หรือ Kinect ในการพยายามอธิบายเรื่องราวเทคโนโลยีในอนาคต แสง สีที่สวยงาม รวมถึงการจัดแสงที่เน้นความสำคัญเฉพาะส่วนด้วย นอกจากนี้ชิ้นงานบางชิ้นมีกลไกที่ซับซ้อน และแสดงให้เห็นถึงการผ่านกระบวนการคิดและวางแผนการก่อสร้างมาอย่างดี ขณะที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ยังคงนำเสนอเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์แบบตรงไปตรงมา อาจเทียบได้กับหนังสือแบบเรียน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าใน พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา จะไม่มีชิ้นงานที่แสดงออกถึงความสามารถที่จะเล่นได้เลย เพียงแต่ว่า “ภาพรวม” ส่วนใหญ่ของการนำเสนอในพิพิธภัณฑ์จะเน้นไปที่เนื้อหาทางวิทยาศาสตร์ที่ตรงไปตรงมาเป็นหลัก มีการจัดแสงไฟเพื่อช่วยเสริมในการอธิบายเพื่อเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น    

ประการที่4 การให้ความสำคัญกับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์

        ที่มิไรคาน ใช้นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ เข้าไปร่วมพูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกับผู้เข้าชมในพื้นที่นิทรรศการ ทั้งนี้นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีทุกจุดภายในพิพิธภัณฑ์ แต่จะมีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในจุดสำคัญที่เป็นชิ้นงานใหญ่ๆ ที่ต้องอาศัยการอธิบายเพื่อความเข้าใจในการเล่น รวมถึงเพื่อควบคุมระเบียบในการเล่นชิ้นงานนั้นด้วย เช่นในส่วนของการแนะนำหุ่นยนต์อาซิโม (Asimo) ที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะมีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ออกมาเพื่อพูดคุยกับผู้เข้าชมก่อนที่เจ้าหุ่นอาซิโมจะออกมาทักทาย ขณะที่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ไม่มีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในแต่ละส่วนของนิทรรศการ ทั้งนี้การจัดแสดงนิทรรศการภายใน มีการให้รายละเอียดครบถ้วน รวมถึงมีเทคโนโลยีการฟังเนื้อหานิทรรศการผ่านแอพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือในจุดที่กำหนดไว้อีกด้วย

        พิจารณาถึงการมีและไม่มีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในจุดต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์พบว่า ในมิไรคาน ให้ความสำคัญกับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์มาก เพราะไม่เพียงแต่จะจัดนักวิทยาศาสตร์ไปลงจุดสำคัญของนิทรรศการแล้ว บริเวณด้านล่างทางเข้า มิไรคานยังจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นเวทีให้กับนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้ขึ้นมาพูดคุย และจัดแสดงโชว์เล็กๆ ให้กับผู้เข้าชมด้วย แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของมิไรคาน และที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา นั่นคือ การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุเข้ามาร่วมงานเป็นอาสาสมัคร เราจะพบเห็นผู้สูงอายุ (ทั้งหญิงและชาย อายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป) ทำหน้าที่คอยให้ข้อมูล รวมถึงทำกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เล็กๆ บนโต๊ะคอยดึงดูดให้ผู้เข้าชมเข้ามาทดลองกับสิ่งประดิษฐ์วิทยาศาสตร์ง่ายๆ แต่ไม่พบนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ออกมาทำกิจกรรมกับผู้เข้าชม

        นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญกับ มิไรคาน (ภาพซ้าย) นักสื่อสารวิทยาศาสตร์สาวสวยกำลังพูดคุยกับผู้เข้าชมก่อนนำไปสู่การแสดงที่เป็นไฮไลท์ นั่นคือหุ่นยนต์อาซิโม   (ภาพกลาง) นักสื่อสารวิทยาศาสตร์หนุ่มกำลังดูแลและอธิบายเด็กๆ กับชิ้นงาน เรื่องการส่งข้อมูลในคอมพิวเตอร์ โดยมีอาสาสมัครผู้สูงอายุชายเป็นผู้ช่วยเหลือ และ (ภาพขวา) อาสาสมัครผู้สูงอายุหญิง ประจำโต๊ะกลางห้องจำแนกอาณาจักรสัตว์ ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา
พร้อมกับกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์เล็กๆน้อยๆ  (ภาพโดย : อานุภาพ สกุลงาม)

ประการที่ 5 รูปแบบเนื้อหานิทรรศการชั่วคราว

         นิทรรศการชั่วคราว ยังคงเป็นรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาที่ทันสมัย และอาจเป็นพื้นที่สำหรับการหมุนเวียนนิทรรศการจากที่อื่นๆด้วย นิทรรศการชั่วคราวที่จัดทั้งที่มิไรคาน และที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา มีเนื้อหาเฉพาะทางที่แตกต่างกัน ในช่วงที่ผู้เขียนเดินทางไปชมนั้น ที่มิไรคาน มีนิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงอยู่สองเรื่อง ได้แก่ นิทรรศการ “มองกลับมาจากอนาคต (Backward from the Future)” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการคาดการณ์อนาคตจากสิ่งที่เราพบเจอในปัจจุบัน ด้วยชิ้นงานขนาดใหญ่ที่ผสานกับเทคนิคมัลติมีเดียล้ำสมัย และนิทรรศการ “พันล้านคน : ภารกิจแห่งการอยู่รอด (Mission Survival : 10 Billion) ซึ่งเป็นนิทรรศการที่ว่าด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ประชากรบนโลกนี้กว่าพันล้านคน สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากภัยพิบัติ ขณะที่ นิทรรศการชั่วคราวที่จัดขึ้นที่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา ในช่วงที่ผู้เขียนเดินทางไป คือ ลาสโกวซ์ : ภาพเขียนถ้ำยุคน้ำแข็ง (Lascaux : The Cave Painting of the Ice Age)

        สังเกตได้ว่า นิทรรศการชั่วคราวที่มิไรคาน เป็นนิทรรศการที่มีเนื้อหาคาบเกี่ยวกับการคาดการณ์ จินตนาการที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื้อหานิทรรศการกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความคิดว่า ในอนาคตจะมีแนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างไร ขณะเดียวกันก็เสนอแนวทางการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงจากข้อมูลที่มีอยู่ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่นิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา นำเสนอเนื้อหาที่อยู่บนพื้นฐานของสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วบนพื้นฐานหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยสายตา บนพื้นฐานของนิทรรศการที่มีการนำเสนอวัตถุตัวอย่าง ไม่ว่าหลักฐานหรือวัตถุตัวอย่างดังกล่าวจะจำลองหรือถ่ายภาพมาก็ตาม    

        เนื้อหานิทรรศการชั่วคราว มีความแตกต่างกันทั้งในแง่เนื้อหา และรูปแบบการนำเสนอ (ภาพซ้ายมือ) นิทรรศการชั่วคราว “พันล้านคน : ภารกิจแห่งการอยู่รอด” จัดแสดงในมิไรคาน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคาดการณ์ และแนวทางการดำเนินชีวิตบนโลกที่ยังต้องพบเจอภัยพิบัติ นิทรรศการนำเสนอเนื้อหาภัยพิบัติครั้งใหญ่บนโลก ไม่เจาะจงเฉพาะภัยพิบัติจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภัยพิบัติจากสงครามและโรคระบาด โดยนำเสนอภาพและข้อมูลในเชิงเนื้อหาขณะเดียวกันก็นำเสนอเนื้อหาผ่านชิ้นงานขนาดใหญ่ (ภาพขวา) ที่ใช้ลูกเหล็กเป็นตัวแทนภัยพิบัติที่ทำให้ผู้คนล้มตายบนชิ้นงานสามมิติที่ผู้คนทั่วไปต้องยืนดูเพื่อสังเกตความเป็นไป  (ภาพโดย : อานุภาพ สกุลงาม)

        นี่คือความแตกต่างเท่าที่ได้พบเจอในช่วงเวลาการเยี่ยมชมที่มีเวลาจำกัด อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะมีเป้าหมายในการนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างกันเพียงใด แต่เป้าหมายก็คือ นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวงการวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าเนื้อหานั้นจะเป็นเนื้อหาที่มีหลักฐานมาจากอดีต หรือเป็นเนื้อหาที่ท้าทายต่อจินตนาการของผู้เข้าชม สิ่งที่น่าจะพิจารณาต่อไปนั่นคือ การทำหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์ ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ครบด้วนตามเจตนารมณ์ของแต่ละพิพิธภัณฑ์เพียงใด และวิธีการในการนำเสนอเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์มีความเหมาะสม และสัมฤทธิ์ผลมากน้อยเพียงใด นี่คือสิ่งที่ควรนำไปพิจารณาต่อไป 

ข่าวสารที่่คล้ายกัน