นกหวีดไม้ไผ่หรือ ปี่เสียงนก ทำจากไม้ไผ่ชนิดเดียวกับที่ใช้ทำแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของภาคอีสาน โดยช่างทำแคนได้นำไม้ไผ่ (ไผ่เฮี๊ยะ) ที่เหลือจากการทำแคนมาทำเป็นนกหวีดไม้ไผ่ สำหรับวิธีการเล่น จะใช้ปากเป่าพร้อมกับการดึงก้านชักเข้าออกเพื่อที่จะทำให้เกิดเสียง สูง ต่ำ ที่ต่างกัน เหมือนเสียงของนก
วิธีทำก็ไม่ยาก ตัดกระบอกไม้ไผ่ ให้มีความยาวประมาณ 18 – 20 เซนติเมตร ตัดปลายด้านหนึ่งให้เฉียง แล้วใช้ไม้โสนอุดให้ยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร โดยเว้นช่องความโค้งไว้ประมาณ 0.2 เซนติเมตรตามรูป สำหรับเป็นช่องให้ลมเข้า(ปากเป่า) ส่วนปลายอีกข้างหนึ่ง ใส่ก้านชักที่ทำจากไม้โสนที่มีแกนเป็นไม้ไผ่ อุดด้วยไม้โสน แล้วเจาะรูให้คันชักออกมาได้ ดังรูป ทากาวให้ส่วนประกอบต่างๆ แน่น แล้วลองเล่น ดูนะครับ
น้องๆ คงสงสัยว่า เมื่อเราดึงคันชัก ทำไมเสียงที่เกิดขึ้นจึงสูงต่ำต่างกัน ก็เพราะว่า เมื่อเราเป่าลมเข้าไปในช่องแคบๆ ที่ปากเป่า จะเกิดเสียงขึ้น ส่วนท่อ ที่มีโพรงอากาศอยู่ ทำหน้าที่ในการขยายเสียงให้ดังขึ้น ถ้าเราดึงก้านชักให้อากาศในท่อมีมากจะเกิดเสียงต่ำขึ้น แต่ถ้าเราดันก้านชักไปใกล้กับปาก อากาศในท่อก็จะน้อยเกิดเสียงที่สูงขึ้น ถ้าเราชักก้านชักกลับไปมาก็จะเกิดเสียงสูงๆ ต่ำ ๆ คล้ายเสียงนก หรือ ดนตรี นั่นเอง ในสมัยก่อนใช้เป่าเรียกนกจริงๆ เพราะทำเสียงเหมือนเสียงนกนั่นะเอง