ปัจจุบันมีขยะพลาสติกจำนวนมากที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในทะเล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และกำลังเป็นปัญหาที่หลายคนกังวลในตอนนี้ ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ลดใช้พลาสติกแล้วก็ตาม พลาสติกที่ปนเปื้อนในธรรมชาติไม่ได้ถูกกำจัดอย่างถูกต้องจะค่อย ๆ แตกออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ กลายเป็นพลาสติกที่มีขนาดจิ๋วมันคือชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาด 1 นาโนเมตร จนถึง 5 มิลลิเมตร เราเรียกว่า ไมโครพลาสติก เมื่อเวลาผ่านไปไมโครพลาสติกจะถูกย่อยสลายทำให้มีขนาดเล็กลงไปอีก เรียกว่า นาโนพลาสติก (ขนาดเล็กกว่า 100 – 1000 นาโนเมตร) ซึ่งมีขนาดเล็กจิ๋วมากกว่าฝุ่น PM 2.5 (ขนาดประมาณ 2500 นาโนเมตรหรือเล็กกว่า) กลายเป็นมลพิษชนิดใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เราสามารถรับเอานาโนพลาสติกเข้าสู่ร่างกายได้จากหลายแหล่ง ทั้งจากการหายใจเอาอากาศที่มีการปนเปื้อนเข้าไป จากอาหารทะเลที่มีนาโนพลาสติก และจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายนาโนพลาสติกสามารถแทรกซึมเข้าไปยังเนื้อเยื่อและเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ปอด ทางเดินอาหาร และผิวหนัง ที่สัมผัสกับนาโนพลาสติกโดยตรงก่อนจะแพร่ไปยังอวัยวะอื่น ๆ Hwang และคณะพบว่านาโนพลาสติกสามารถก่อผลเสียแก่สุขภาพของมนุษย์ได้ในระดับเซลล์ของมนุษย์ หากเซลล์รับเอานาโนพลาสติกเข้าไปเป็นจำนวนมาก นาโนพลาสติกสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันทำให้เนื้อเยื่ออักเสบ Gopinathและคณะ ยังคาดว่านาโนพลาสติกสามารถรบกวนระบบหมุนเวียนเลือดด้วยการเข้าไปจับกับโปรตีนในน้ำเลือดทำให้โปรตีนเปลี่ยนรูปร่างและมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลทำให้โปรตีนไม่ทำงานและอาจจะก่อให้เกิดการอุดตันในหลอดเลือดได้ ถ้าความเข้มข้นของสารประกอบโปรตีนกับนาโนพลาสติกสูงมากก็จะทำให้เซลล์เป็นพิษยับยั้งการทำงานของเม็ดเลือดขาวจะเห็นว่านาโนพลาสติกที่เกิดเป็นมลพิษชนิดใหม่นี้ เมื่อปนเปื้อนอยู่ในอากาศและสิ่งแวดล้อมอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ในระยะยาว จึงเป็นเหตุผลที่ว่าเราควรให้ความสนใจเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากนาโนพลาสติกให้มากยิ่งขึ้น ตลอดจนผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับสัตว์อื่น ๆ อีกด้วย
ผู้เขียน: นางสาวภัทราพร แสนเทพ
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6586940/?fbclid=IwAR0nTqQvP-B7Esc_YyghqBWyAzJ-QxTdT9Wpu2jqOJvsTUdjKhts8IpkFhQ (วันที่ 7 เมษายน 2563)
https://pubs.acs.org/doi/abs/10.1021/acs.est.8b05512(วันที่ 11 เมษายน 2563)
https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0048969719320832?casa_token=Ty0vqtXBbOUAAAAA:1D37uJkl_QDvjilzog4e_bz4rvNlLFDWgg_38qp0MYI1uQZqjeK_5xYQkLlxEHpYmCWaXS2omg(วันที่ 11 เมษายน 2563)
https://www.researchgate.net/publication/322603705_Current_opinion_What_is_a_nanoplastic (ขนาดนาโนพลาสติก)