น้ำตาลหล่อฮังก้วย ทางเลือกใหม่สำหรับคนดูแลสุขภาพ

น้ำตาลหล่อฮังก้วย ทางเลือกใหม่สำหรับคนดูแลสุขภาพ

19-12-2021
น้ำตาลหล่อฮังก้วย ทางเลือกใหม่สำหรับคนดูแลสุขภาพ

         น้ำตาล สารให้ความหวานที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่ในน้ำตาลและรสชาติความหวานที่หลายคนชื่นชอบนั้นกลับแฝงไว้ด้วยอันตรายต่อสุขภาพหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป เช่น ไขมันสะสม โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพเหล่านี้ จึงได้มีการวิจัยคิดค้นและพัฒนาสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลที่ไม่ให้พลังงานหรือให้พลังงานต่ำ และไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตัวอย่างสารทดแทนความหวานที่ได้จากธรรมชาติ เช่น erytheitol และ maltitol ซึ่งเป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohol) หรือโพลิไฮดริก-แอลกอฮอล์ (polyhydric alcohol) ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาไฮโดรจิเนชันของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (monosaccharide) ที่ได้จากการสกัดจากพืช ผักตามธรรมชาติ สารให้ความหวานที่สกัดจากใบหญ้าหวาน(stevia) และสารให้ความหวานที่สกัดจากผลหล่อฮังก้วย ที่เรียกว่า น้ำตาลหล่อฮังก้วย ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นจากคนที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือทานอาหารแบบคิโตเจนิก ไดเอต (ketogenic diet)

          น้ำตาลหล่อฮังก้วย สกัดมาจาก หล่อฮังก้วย (Monk fruit) ชื่อวิทยศาสตร์คือ Siraitia grosvenori อยู่ในวงศ์ Cucurbitaceae หรือพืชในวงศ์แตง เป็นไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง มีผลทรงกลมขนาดเล็ก และมีถิ่นกำเนิดในตอนใต้ของประเทศจีน หล่อฮังก้วย เป็นพืชที่นำมาใช้ประโยชน์เป็นสมุนไพรจีนกันอย่างกว้างขวาง มีฤทธิ์เย็น บรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ขับเสมหะ สามารถรักษาอาการอักเสบต่าง ๆ และ บำรุงหัวใจ รวมทั้งยังเป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มแก้ร้อนใน กระหายน้ำ ที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ จับเลี้ยง นอกจากนั้น หล่อฮังก้วย ยังถูกนำมาใช้ให้ความหวานในอาหารและเครื่องดื่มหลายชนิด ซึ่งได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (FDA) ในปี พ.ศ. 2553 เนื่องจากมีการค้นพบว่า ในผลของหล่อฮังก้วยนั้น มีสารให้ความหวานตามธรรมชาติที่ชื่อ โมโกรไซด์ (mogrosides) เป็นสารในกลุ่ม ไตรเทอร์ปีน ไกลโคไซด์ (triterpene glycosides) มีโครงสร้างหลักทางเคมีคือ โมโกร (mogrol) และประกอบด้วยหน่วยของ กลูโคส (glucose units) หรือ ไกลโคไซด์ (glycoside) ซึ่งจากการศึกษาการเมตาบอลิซึมของ โมโกรไซด์ ในสิ่งมีชีวิตพบว่า โมโกรไซด์จะไม่ถูกดูดซึมในทางเดินอาหารส่วนบน แต่ในลำไส้ใหญ่พบว่าจะมีการแยกโมเลกุลของกลูโคสออกโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ใช้เป็นแหล่งพลังงาน จากนั้น โมโกร และสารบางส่วนจะถูกขับออกจากระบบทางเดินอาหาร อาจมีปริมาณเล็กน้อยจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและถูกขับออกทางปัสสาวะ ซึ่งไม่ส่งผลต่อการเพิ่มของระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นสารให้ความหวานที่ไม่มีแคลอรี โดยน้ำตาลที่สกัดได้จากหล่อฮังก้วยนั้นให้ความหวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 150-200 เท่า

          ในปัจจุบัน น้ำตาลหล่อฮังก้วย ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวเลือกสารทดแทนความหวานที่ได้จากธรรมชาติสำหรับบริโภคเติมแต่งในอาหารหรือเครื่องดื่ม อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยที่ให้การยอมรับว่าปลอดภัย เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาล ไม่ส่งผลกระทบกับอินซูลิน รวมทั้งผู้ที่รักสุขภาพต้องการควบคุมน้ำหนักหรือจำกัดปริมาณการบริโภคน้ำตาลในชีวิตประจำวัน

ผู้เขียน พรภัทร อนุศิริ

ที่มา: บริษัท ทินกร เคมีคอล แอนด์ ซัพพลาย จำกัด. น้ำตาลหล่อฮังก้วย [ออนไลน์]., แหล่งที่มา : https://www.tinnakorn.com/articles/monk-fruit-sweetener/ [30 เมษายน 2564]

ที่มา: Food Insight. Everything You Need to Know about Monk Fruit Sweeteners [Online]. 2018, แหล่งที่มา :
https://foodinsight.org/everything-you-need-to-know-about-monk-fruit-sweeteners/ [30 เมษายน 2564]

ที่มา: Mary Jane Brown, PhD, RD (UK). Monk Fruit Sweetener: Good or Bad. [Online]. 2019, แหล่งที่มา :
https://www.healthline.com/nutrition/monk-fruit-sweetener#benefits [30 เมษายน 2564]

ที่มา: Elisabet Tapio Neuwirth. Mogrosides – the EU will soon decide on the plant-based sweetener. [Online]. 2020, แหล่งที่มา
https://www.baynsolutions.com/en/mogrosides-the-eu-will-soon-decide-on-the-plant-based-sweetener/242526 [30 เมษายน 2564]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน