“ลิขิตวิจิตรด้วย ศุภอรรถ
ดั่งมณีจินดารัตน เลอศแก้ว
อันมีศิริสวัสดิ โสภาคย์”
ใครรู้คือได้แก้ว ค่าแท้ควรเมือง ฯ
โครงบทนี้คือ โครงท้ายเรื่องบทหนึ่งในจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี ซึ่งปรากฏในหนังสือสมุดไทยดำ แต่งถวายสมเด็จพระนารายณ์ ในโอกาสทรงได้เป็นเจ้าเมืองลพบุรี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ในบันทึกสมาคม วรรณคดี ปีที ๑ เล่ม ๕ พ.ศ. ๒๔๓๕ ว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงดำรัสสั่งให้พระโหราธิบดี แต่งหนังสือจินดามณีและหนังสือพระราชพงศาวดาร ด้วยว่าพวกบาทหลวงฝรั่งเศส เมื่อแรกเข้ามาสอนศาสนาคริสต์ในพระนครศรีอยุธยา นั้น ได้มาตั้งโรงเรียนสอนหนังสือให้แก่เด็กไทยด้วย ดังนั้นพระนารายณ์ทรงเห็นว่าถ้าฝ่ายไทยไม่เอาเป็นธุระจัดบำรุงการศึกษาเล่าเรียนให้รุ่งเรือง ก็จะเสียเปรียบฝรั่งเศส
หนังสือจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี จึงถือเป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย นอกจากนี้มีจินดามณีฉบับไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งในรัชกาลสมเด็จพระบรมโกศ จินดามณีฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิทแต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ล้วนแล้วแต่บันทึกลงในสมุดไทย ประวัติการใช้กระดาษในประเทศไทย หรือสยาม นั้น ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ากระดาษเข้ามาในเมืองไทยได้อย่างไร แต่ในสมัยนั้น คนไทยมีกระดาษที่เรียกว่า "สมุดไทย" ซึ่งผลิตจากเยื่อไม้ทุบละเอียดเอามาต้มจนเปื่อยแล้วใส่แป้งเพื่อให้เนื้อกระดาษเหนียว เสร็จแล้วนำไปกรองในกระบะเล็กๆ (เรียกว่าพะเนียง) ทิ้งไว้จนแห้ง แล้วลอกออกมาเป็นแผ่นพับทบไปมา จนสุดความยาวจึงได้เป็นเล่มสมุด เรียกว่า "สมุดไทยขาว" หากต้องการให้สมุดเป็นสีดำก็จะผสม ผงถ่านในขั้นตอนการผลิต เรียกว่า "สมุดไทยดำ
วัสดุที่ใช้ผลิตกระดาษนั้นแตกต่างไปตามแต่ละท้องถิ่น ในสมัยรัตนโกสินทร์ มีหมู่บ้านทำกระดาษอยู่บริเวณคลองบางซ่อน คลองบ้านกระดาษ และคลองบางโพขวาง ส่วนในภาคเหนือ นิยมใช้เปลือกของต้นสามาทำสมุด จึงมีชื่อเรียกว่า สมุดกระดาษสา ต้นสาเมื่อนำเปลือกมาใช้ทำกระดาษ นิยมเลือกต้นที่มีขนาดใหญ่ และใช้เปลือกของลำต้นที่มีสีเขียว ดังนั้น เมื่อจะนำเปลือกสามาทำกระดาษ ต้องโค่นไม้สาทั้งต้น ลอกเปลือกออกทำนองเดียวกับการลอกเปลือกข่อย แต่ต้องปอกสีเขียวบริเวณพื้นผิวชั้นนอกออกก่อน จึงจะได้เปลือกสาที่ใช้ทำกระดาษได้ ในภาคใต้ ใช้ไม้เถาชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า ย่านกฤษณา หรือ ปฤษณา บางทีใช้หัวของต้นเอาะนก หรือต้นกระดาษ ซึ่งเป็นพืชที่มีลักษณะคล้ายบอน โดยนำมาผสมกับเยื่อไม้อื่นๆ ทำเป็นกระดาษได้เช่นกัน
หน้าของกระดาษสมุดไทยสมัยนั้น นิยมใช้ ๓ ขนาด ดังนี้
๑. ขนาดสมุดธรรมดา กว้าง ๕๕ เซนติเมตร ยาว ๒๒๐ เซนติเมตร
๒. ขนาดสมุดพระมาลัย กว้าง ๙๘ เซนติเมตร ยาว ๒๒๐ เซนติเมตร
๓. ขนาดกระดาษเพลา กว้าง ๕๕ เซนติเมตร ยาว ๑๗๕ เซนติเมตร
วัสดุที่ใช้เขียนสมุดไทยดำ สมุดไทยขาวมีหลายอย่างทั้งที่แตกต่างกัน และใช้เหมือนกัน เช่น ดินสอขาวและน้ำหมึกขาว ใช้กับสมุดไทยดำ น้ำหมึกดำใช้กับสมุดไทยขาว ส่วนน้ำหมึกสีแดง สีเหลือง และทองใช้ได้ทั้งสมุดดำและสมุดขาว ปัจจุบัน สื่อบันทึกสมุดไทยหาชมได้ยากเพราะหน่วยงานราชการได้จัดเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเนื่องจากในเนื้อหาหนังสือสมุดไทย บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และศึกษา ทั้งจินดามณีแบบเรียนเล่มแรกของไทย พระราชพงศาวดาร ตำรายา ตำราโหราศาสตร์ หนังสือสมุดไทยฉบับที่เก่าที่สุดที่ค้นพบ อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ คือ หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๒๓
หากท่านใดสนใจ สามารถชมตัวอย่างสมุดไทยของจริง สภาพสมบูรณ์ ได้ที่ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ได้ทุกวันอังคาร-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.30-17.00 น.
จากภาพ: สมุดไทยขาว (http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/597/14597/images/sphoto16/suthon05.jpg)
สมุดไทยดำ (http://www.d-fogger.comwww.be2hand.com/upload/201004/201004-10-011454-1.jpg)
ที่มา: ก่องแก้ว วีระประจักษ์.การทำสมุดไทยและการเตรียมใบลาน.กรุงเทพฯ:สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร,2553
แหล่งค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม: โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.หนังสือโบราณของไทย.[ออนไลน์] เข้าถึงได้จาก :kanchanapisek.or.th[7 ก.ย.2558]