นับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลามากกว่าหนึ่งปีที่โลกต้องจารึกเหตุการณ์สำคัญที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกเนื่องจากการระบาดของโรคอุบัติใหม่จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา อันก่อให้เกิดโรคโควิด 19 (COVID-19) มีผลทำลายระบบทางเดินหายใจและโจมตีเซลล์ร่างกายตามเส้นทางที่มันผ่านตั้งแต่จมูก ลำคอ หลอดลม และปอด ผู้ป่วยโรคโควิดนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดด้วยยาชนิดใดได้ ซึ่งหากนับย้อนกลับไปถึงการรายงานผู้ป่วยยืนยันครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่นของจีนก็เป็นนานเวลามากกว่าหนึ่งปี ยอดการติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกทั้งสถานการณ์ทั่วโลกยังไม่ไปสู่ในทิศทางที่ดีนัก เหตุนี้คนทั่วโลกต่างตั้งตารอคอยวัคซีนและยาจะมาหยุดยั้งโรคระบาด รวมทั้งช่วยชีวิตคนที่ล้มป่วยด้วยโรคนี้
หลักจากเกิดการระบาดไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานผลสำรวจว่ามีสถาบันวิจัย บริษัทยา และองค์กรไม่แสวงผลกำไรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในการวิจัยและพัฒนาดังกล่าวมีความคืบหน้าไปถึงขั้นทดลองทางคลินิกหรือทดลองกับมนุษย์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการออกฤทธิ์รวมถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับวัคซีนและขั้นตอนการพัฒนาตลอดจนการนำไปใช้และวัคซีนจะเป็นความหวังสุดท้ายของมวลมนุษย์โลกในการยับยั้งไวรัสนี้หรือไม่
วัคซีน (Vaccine) เป็นยาชนิดหนึ่งที่ถูกผลิตขึ้น เพื่อนำเข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะด้วยการรับประทานหรือการฉีด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหรือแบคทีเรียที่จะมาทำอันตรายต่อร่างกาย ดังนั้นวัคซีนทุกชนิดยังคงพึ่งการออกฤทธิ์โดยอาศัยภูมิคุ้มกันปฐมภูมิของร่างกาย เช่น เม็ดเลือดขาว ให้สามารถจดจำและทำลายเชื้อไวรัสหรือเชื้อแปลกปลอมต่างๆ ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้แม้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้ยาและวัคซีน การพัฒนายังคงต้องดำเนินไปตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับยาหรือวัคซีนนั้น โดยขั้นตอนการพัฒนา แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การวิจัยและพัฒนา (research and development) ขั้นตอนนี้ ความยากง่ายขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของเชื้อโรคหรือไวรัส ใช้เวลาเฉลี่ย 3-6 ปี
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นก่อนคลินิก (pre-clinical studies) เป็นการทดลองในเซลล์และสัตว์ทดลองภายในห้องปฏิบัติการ สำหรับเชื้อไวรัสโคโรนา คาดว่าใช้เวลาประมาณ ๓ เดือน เชื้ออื่นๆ อาจใช้เวลา 1-2 ปี
ขั้นตอนที่ 3 การทดลองในคลินิก (clinical trials) เป็นการทดลองใช้ยาในมนุษย์ใช้เวลารวมๆ 4-7 ปี โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงย่อย โดยการเพิ่มจำนวนคนในการทดลองมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละช่วงจะดูทั้งผลของยาและผลข้างเคียง และมีการใช้ยาหลอก (placebo) เพื่อเทียบผลการรักษาด้วย
ขั้นตอนที่ 4 การตรวจสอบข้อมูลและอนุมัติ (review and approval) ใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี และยังคงมีการติดตามผลหลังเผยแพร่ออกสู่ตลาด ซึ่งกระบวนการในแต่ละช่วงนั้นใช้ระยะเวลาในการพัฒนาที่ยาวนานแตกต่างกัน เราจะสามารถหยุดการระบาดของไวรัสฯ นี้ได้ก็ต่อเมื่อนักวิจัยสามารถคิดค้นยาที่สามารถฆ่าไวรัสได้โดยตรงและมีวัคซีนป้องกัน แต่กระบวนการที่จะได้มาซึ่งสองอย่างนี้ต้องใช้เวลายาวนานโดยเฉพาะการนำยาออกสู่ตลาดเพื่อใช้กับคนทั้งโลกนั้น ต้องผ่านกระบวนการวิจัยและทดสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบ ณ ปัจจุบันสถิติการคิดค้น วัคซีนที่เร็วที่สุดคือวัคซีนสำหรับเชื้ออีโบลา (Ebola)ซึ่งยังต้องใช้เวลานานกว่าหนึ่งปี
ในสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงทั่วโลก นักวิจัยในหลายประเทศพร้อมทั้ง WHO ต่างร่วมมือร่วมใจกันสละเวลาและเงินเพื่อทำการศึกษาวิจัยไวรัสนี้อย่างเร่งด่วน รวมทั้งออกแบบทดลองยาและวัคซีนใหม่และการใช้ยาที่มีอยู่แล้วสำหรับฆ่าไวรัสตัวอื่นมาทดลองด้วย อย่างไรก็ตามขั้นตอนในการวิจัยนั้นต้องใช้เวลานับปี สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดตอนนี้คือ การรับมือเพื่อหยุดการแพร่ระบาดและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางด้านการสาธารณสุขเบื้องต้น เช่น การล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง เพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปพร้อม ๆ กับการรอความหวังสุดท้ายจากวัคซีน