“ปิดตา เปิดหู” สู่ยุคแห่ง ASMR เทรนด์โฆษณามาแรง

“ปิดตา เปิดหู” สู่ยุคแห่ง ASMR เทรนด์โฆษณามาแรง

18-12-2021
“ปิดตา เปิดหู” สู่ยุคแห่ง ASMR เทรนด์โฆษณามาแรง

หลายคนคงเคยได้ยินหรือผ่านหูผ่านตาตามโลกโซเชียลกันมาบ้างแล้ว สำหรับคลิปวีดีโอ ASMR ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับเหล่ายูทูปเบอร์และสตรีมเมอร์ทั้งหลาย และยังขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่วงการโฆษณา

ASMR ย่อมาจาก Autonomous sensory meridian response คือการรับรู้ทางประสาท เป็นอาการตอบสนองต่อการรับรู้ของเสียงเมื่อได้ยินหรือได้ฟังเสียงต่าง ๆ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีการรับรู้ที่ต่างกัน บางคนอาจจะชอบฟังเสียงขบเคี้ยวอาหาร ในขณะที่บางคนอาจจะรู้สึกรำคาญ โดยเสียงที่ทำให้รู้สึกเกิดอารมณ์ผ่อนคลาย อาจจะเป็นเสียงกระซิบเบา ๆ เสียงนวดหรือลูบไล้ไปตามสิ่งของ เสียงฝนตกกระทบหลังคา เสียงจังหวะคงที่ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในธรรมชาติ การถูกนวดตัวหรือเสียงกรรไกรที่ดังข้างหูตอนนั่งตัดผมอยู่ โดยการบันทึกเสียงแบบ ASMR ต้องใช้ไมโครโฟนแบบพิเศษ ซึ่งบันทึกเสียงด้วยเทคนิค Binaural ทำให้มีมิติของ ข้างบน และข้างล่าง ซึ่งเหนือกว่าระบบเสียงแบบ Surround ที่ให้เสียงได้รอบทิศทางเท่านั้น ทำให้ไมโครโฟนชนิดนี้สามารถเก็บเสียงแผ่วเบาแม้กระทั่งเสียงลมหายใจได้ ผู้ฟังจึงรู้สึกว่าเสียงเหล่านั้นสมจริง เหมือนได้ยินกันข้างหูเลยทีเดียว

ASMR เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับความนิยมจากการโต้ตอบผ่านกระทู้ในเว็บบอร์ดเรื่องสุขภาพโดยมีการตั้งคำถามว่าเรามีความรู้สึกผ่อนคลายจากการฟังเสียงกระซิบ หรือเสียงลูบไล้นิ้วไปบนพื้นผิวต่าง ๆ ได้จริงหรือ หลังจากนั้นจึงมียูทูปช่องแรกที่นำเสนอคลิป ASMR ชื่อว่า WhisperingLife ซึ่งเธออยากแบ่งปันประสบการณ์ผ่อนคลายนี้กับคนอื่น ๆ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

จากความลับของเสียงเหล่านี้ Giulia Poerio คือนักวิจัยคนแรก ๆ ที่ศึกษาว่าเสียงทำงานกับสมองของเรายังไงบ้างและสามารถช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับได้หรือไม่ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ทำการทดลองจำนวนมากต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ได้รู้สึกหรือสัมผัสกับความรู้สึกเหล่านั้น หรืออาจจะรู้สึกรำคาญและไม่ชอบเสียด้วย ซึ่งเหมือนกับการฟังเพลงที่บางคนสามารถรู้สึกและอินกับเพลงบางเพลงได้ แต่บางคนกลับไม่รู้สึก ASMR จึงเป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้ผลกับทุกคนเช่นกัน

ASMR เริ่มเป็นที่นิยมและแพร่หลายอย่างมากบน YouTube โดยเฉพาะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นการทำคลิปที่แปลกและสร้างสรรค์มากมาย ทั้งการกิน การเคาะสัมผัสสิ่งของ เสียงกระซิบ การหายใจ หรือแม้กระทั่งการนั่งมองยาลดกรดฟูฟ่องในแก้วน้ำ รวมทั้งมียูทูปเบอร์และสตรีมเมอร์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อทำคอนเทนท์เกี่ยวกับ ASMR โดยเฉพาะ ด้วยความนิยมและจุดเด่นของ ASMR ที่สามารถสร้างสรรค์จากอุปกรณ์อะไรก็ได้ เราจึงเห็นแบรนด์ต่าง ๆ แทรกงานโฆษณาลงไปในวีดีโอ ASMR ยกตัวอย่างเช่น

iPhone ปล่อยคลิปโฆษณาในแคมเปญ “Shot on iPhone” โดยวีดีโอชุดนี้บอกเล่าเรื่องราวผ่านเสียงกระซิบของหญิงสาว เสียงรองเท้าย่ำไปตามพื้นถนน เสียงคนกำลังเดินป่า เสียงต้นไม้ใบหญ้าในธรรมชาติและเสียงฝนตกกระทบสิ่งต่าง ๆ

Ikea ทำวิดีโอแนว ASMR นำเสนอเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ต่าง ๆ ผ่านเสียงกระซิบของหญิงสาว ประกอบกับภาพที่แสดงรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์ภายในห้องพัก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิดโคมไฟ การเคาะอุปกรณ์ต่าง ๆ การลูบไล้ผ้าปูเตียงและเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงพื้นผิวที่แตกต่างกันของเครื่องใช้แต่ละชนิด

SYSTEMA จับเทรนด์ที่กำลังฮิตในหมู่วัยรุ่นอย่าง ASMR มาสร้างสรรค์เป็นโฆษณาสุดล้ำที่เล่าด้วยเสียงกระซิบและถ่ายทอดเสียงเพื่อนำเสนอความอ่อนนุ่มของแปรงสีฟัน ซึ่งนับเป็นโฆษณา ’ASMR’ ตัวแรกของไทย

อย่างไรก็ตาม ASMR นั้นทำให้เราได้เห็นถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปข้างหน้า แน่นอนว่าในอนาคตอาจมีเทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาทดแทน ไม่เพียงแต่องค์กรหรือแบรนด์เท่านั้นที่ต้องปรับตัวตามกระแส หากไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย




ที่มารูปภาพ
[1] www.shutterstock.com

ที่มาของแหล่งข้อมูลอ้างอิง
[1] https://wadofficial.com/2019/08/12/tech-apple-ads-asmr/ (ค้นเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 63)
[2] https://amarinacademy.com/7013/marketing/%E0%B9%82%E0%B8%86%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2-asmr/ (ค้นเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 63)
[3] https://www.brandbuffet.in.th/2019/07/systema-x-jmj-systema-power-teen-asmr/ (ค้นเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 63)
[4] https://accesstrade.in.th/asmr-%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%94/ (ค้นเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 63)

เขียนโดย วรรณภา แก้วล้วน วิทยากร 4 กองนิทรรศการ
ตรวจทาน นิติ บุณยเกียรติ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
               วิจิตรา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ กองวิชาการ 
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน