ว่าด้วยความเป็นพิษ: Venomous/Poisonous/Toxungenus ต่างกันย่างไร

ว่าด้วยความเป็นพิษ: Venomous/Poisonous/Toxungenus ต่างกันย่างไร

18-12-2021
ว่าด้วยความเป็นพิษ: Venomous/Poisonous/Toxungenus ต่างกันย่างไร

       เมื่อเราพูดถึงความเป็นพิษในสิ่งมีชีวิตนั้น ภาษาไทยเราจะใช้คำว่า “สิ่งมีชีวิตมีพิษ” ไม่ว่าจะมีความเป็นพิษที่เกิดจากการที่สิ่งมีชีวิตอื่นเข้าไปสัมผัส แล้วสิ่งมีชีวิตนั้นปล่อยสารเคมีออกมาจากตัวหรือใช้อวัยวะทิ่มแทงให้เหยื่อเกิดความเจ็บปวด เพื่อป้องกันตัวหรือเพื่อล่าเหยื่อ หรือแม้แต่ความเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอื่นเมื่อสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ถูกกินโดยสัตว์อื่น ๆ หรือมนุษย์ ภาษาชาวบ้านเราจะเตือนกันว่า “มันมีพิษนะ อย่ากิน อย่าจับ”

        ในทางวิทยาศาสตร์ คำว่า เป็นพิษ (Toxic) และสารพิษ (Toxin) ของสิ่งมีชีวิตนั้น เกิดจากการกินเข้าไปและการสัมผัสนับเป็นรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นักวิทยาศาสตร์จำแนกลักษณะ

การเกิดพิษเป็น 3 กลุ่มหลัก โดยแบ่งตามลักษณะสาเหตุที่ทำให้เกิดพิษจากสิ่งมีชีวิตนั้น มากกว่าความเป็นพิษของมัน ได้แก่

- สิ่งมีชีวิตที่มีพิษแบบ Venomous

- สิ่งมีชีวิตที่มีพิษแบบ Poisonous

- สิ่งมีชีวิตที่มีพิษแบบ Toxungenus

          สิ่งมีชีวิตที่มีความเป็นพิษแบบ Venomous คือ สิ่งมีชีวิตที่จะปล่อยพิษออกมาทำร้ายคู่ต่อสู้โดยการสร้างบาดแผลและส่งพิษเข้าตัวผ่านการกัด การต่อย ด้วยเขี้ยวหรือเหล็กแหลม

พิษที่ส่งออกมามักจะถูกเก็บในอวัยวะพิเศษของสิ่งมีชีวิตนั้น และจะถูกปล่อยออกมา เมื่อสิ่งมีชีวิตรู้สึกถูกคุกคาม หรือเพื่อล่าเหยื่อในสถานการณ์เฉพาะ หากเราไปสัมผัสอวัยวะส่วนอื่นของสัตว์เหล่านี้จะไม่ถูกพิษของสัตว์นั้นทำร้าย เช่น งูพิษชนิดต่าง ๆ ที่มีการเก็บต่อมพิษไว้บริเวณเขี้ยว หากเราไปจับที่บริเวณลำตัวของงูพิษ เราจะไม่ได้รับอันตรายจากพิษของงู แต่หากงูกัดเราและปล่อยพิษเข้าตัวเรา

เราก็จะได้รับอันตรายจากพิษของงู หรือมังกรโคโมโดที่ดูเป็นผู้ล่าที่ไม่ได้เคลื่อนที่เร็ว แต่อาศัยการสุ่มโจมตีเหยื่อ กัด และปล่อยให้เหยื่อหนีไป ในน้ำลายของมังกรโคโมโดมีแบคทีเรียชนิดพิเศษที่สร้างพิษที่จะค่อย ๆ ทำให้เหยื่อเสียชีวิต จากนั้น จะใช้ประสาทในการดมกลิ่นชั้นยอดตามไปกินเหยื่อที่หนีห่างออกไปหลายกิโลเมตรได้ในที่สุด หากสิ่งมีชีวิตอื่นสัมผัสมังกรโคโมโดโดยบังเอิญแต่ไม่ถูกกัด สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็จะไม่ได้รับอันตรายจากพิษเช่นกัน

          พิษของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะถูกส่งตรงเข้าสู่กระแสเลือดของเหยื่อ และเข้าไปสร้างปฏิกิริยาจำเพาะกับอวัยวะของเหยื่อ บ้างออกพิษทันทีที่กัด บ้างส่งผลของพิษหลังจากการรับพิษหลายนาทีบ้างเข้าไปส่งผลต่อการทำงานของเซลล์ประสาททำให้เหยื่อเคลื่อนไหวไม่ได้ หรือเป็นอัมพาท บ้างทำให้หัวใจหยุดเต้น และอาจจะเสียชีวิตได้ทันที

         ส่วนสิ่งมีชีวิตที่มีพิษแบบ Poisonous คือ สิ่งมีชีวิตที่ปล่อยพิษออกมารอบตัว หรือมีสารพิษอยู่ในร่างกายในทุกส่วน และมักเป็นพิษตลอดเวลา เมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นสัมผัสผิวหนังของสิ่งมีชีวิตที่มีพิษแบบ Poisonous หรือเมื่อกินมันนั้นเข้าไป จะทำให้ได้รับพิษอย่างรุนแรง เช่น กบพิษ เห็ดพิษ หรือปลาปักเป้าที่มีพิษทำร้ายระบบประสาทของปลาที่กินมัน พิษของปลาปักเป้าร้ายแรงกว่า ไซยาไนท์เสียอีก

         พิษของสิ่งมีชีวิตที่มีพิษแบบ Poisonous นี้จะมีลักษณะการออกฤทธิ์ที่ passive กว่า กล่าวคือพิษที่สร้างขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการถูกกิน ในช่วงแรก ผู้ล่าอาจจะกินสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้เข้าไปและเกิดความเป็นพิษ ระคายเคืองต่อตน ผู้ล่าเหล่านี้ก็จะจดจำ และรู้ว่าหากกินสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เข้าไปอีก มันจะเกิดอันตรายเป็นที่น่าสนใจว่าสิ่งมีชีวิตในกลุ่มนี้จะมีสีสันสดใส โดดเด่น ส่วนหนึ่ง เพื่อเตือนให้เหล่าผู้ล่ารู้ว่า “ฉันมีพิษนะ อย่าได้มากินฉันเชียว” เช่นกลุ่มของเห็ดพิษ หมึกบลูริง ปะการังอ่อน ทากทะเลกลุ่ม Nudibranch

         นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าสัตว์ที่มีพิษแบบ Poisonous หลายชนิดไม่ได้มีอวัยวะที่สร้างพิษได้ด้วยตัวเอง แต่มันจะเก็บกักพิษที่ได้จากการกินสิ่งมีชีวิตอื่นในสิ่งแวดล้อม เช่น ปลาปักเป้าที่มีการสะสมพิษในตัวจากการกินแบคทีเรียที่สร้างพิษในทะเล ผีเสื้อกลางคืนที่มีพิษบางชนิดสะสมพิษจากการกินพืชที่มีพิษ ทำให้มันมีรสชาติที่ขมขึ้นในวัยโตเต็มวัย ทำให้นักล่าไม่อยากจะกินมัน ทากทะเลกลุ่ม Nudibranch บางชนิดกินสาหร่ายและแบคทีเรียที่มีพิษและสะสมความเป็นพิษและแสดงสีสันในตัวของมันเอง

          นอกจากสิ่งมีชีวิตที่มีพิษประเภท Poisonous และ Venomous แล้ว หากเราจะมองถึงลักษณะการปล่อยพิษเข้าสู่เหยื่อ อาจจะมีกลุ่มของสิ่งมีชีวิตอีกประเภทที่มีการปล่อยพิษต่างจากสองกลุ่มข้างต้น กล่าวคือ มันจะไม่ต่อยหรือกัดเหยื่อเพื่อส่งพิษเข้าสู่ร่างกาย หรือรอให้ถูกกินจึงจะส่งผลพิษออกมาก แต่มันจะพ่นพิษเข้าสู่เหยื่อ นักวิทยาศาสตร์เรียกสิ่งมีชีวิตที่มีพิษกลุ่มนี้ว่า Toxungen – Toxungenous ตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตประเภทนี้เช่น แมลงเต่าทอง Bombardier สกังค์ ที่จะพ่นกลิ่นอันไม่พึงประสงค์อย่างรุนแรงออกมาเมื่อมันรู้สึกถูกคุกคาม

          สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจจะมีความเป็นพิษแบบใดแบบหนึ่ง หรือหลายแบบผสมกัน เช่น งูพิษบางประเภทที่มีพิษจากการกัดแบบ Venomous และพ่นพิษได้แบบ Toxungenus เช่นกัน เมื่อรู้เรื่องราวลักษณะของพิษแบบต่าง ๆ แล้ว อย่าลืมระวังตัว หลีกเลี่ยงการสัมผัส หรือรับประทานสิ่งมีชีวิตที่เราไม่คุ้นเคย เพื่อป้องกันไม่ให้เรารับพิษและเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือชีวิต.

 

ผู้เขียน นริศรา บริกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com/animals/reference/venomous-poisonous-snakes-toxins/

https://www.nationalgeographic.com/science/article/on-the-origin-of-venom

https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/brv.12062

https://www.nationalgeographic.com/science/phenomena/2013/06/27/the-myth-of-the-komodo-dragons-dirty-mouth/

ข่าวสารที่่คล้ายกัน