ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2019)

ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2019)

17-12-2021
ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน (60+ Earth Hour 2019)

ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือบางครั้งนิยมเรียกอีกชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นหัวข้อที่คนไทยหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้นในเวลานี้ เพราะเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริง ๆ ไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป เนื่องจาก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงทำให้เกิดภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่น การเกิดพายุฤดูร้อน ภาวะฝนแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำท่วมสูง และน้ำท่วมฉับพลัน ปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ รวมทั้งมีการส่งต่อภาพข่าวผ่านทางเครือข่ายสังคม (Social Network) เช่น เฟสบุ๊ค และไลน์ เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ทุกคนทราบหรือไม่ว่า ได้มีการรณรงค์ให้หลายประเทศทั่วโลกช่วยกันปิดไฟระหว่างเวลา 8.30 - 9.30 น. โดยใช้ชื่อทางการเป็นภาษาอังกฤษว่า Earth Hour ซึ่งมีความหมายว่า ชั่วโมงของโลก โครงการนี้เกิดจากแนวคิดของกองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wildlife Fund หรือใช้ชื่อย่อว่า WWF) เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย มีการประชาสัมพันธ์รณรงค์เพื่อลดโลกร้อนโดยผ่านหน่วยงานหลายแห่ง ให้ประชาชนช่วยกันปิดไฟตามบ้านเรือน อาคาร ร้านค้าต่าง ๆ สำหรับสาเหตุในการเลือกรณรงค์ปิดไฟในวันเสาร์สุดท้ายของสัปดาห์ในเดือนมีนาคมทุกปีนั้น เป็นเพราะว่า ช่วงปลายเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่แบ่งครึ่งระหว่างฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงของซีกโลกทางตอนเหนือและทางตอนใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตกใกล้เคียงกันมากของทั้งสองซีกโลก จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สมดุล เหมาะที่จะเลือกช่วงเวลานี้มารณรงค์ลดการใช้พลังงานที่มีผลกับโลกมากที่สุด ส่วนตราสัญลักษณ์ของโครงการนี้จะเป็นเลข 60+ รวมกับคำว่า Earth Hour สามารถอธิบายได้คือ 60+ หมายถึง หกสิบบวก คือ เวลา 60 นาที (หรือ 1 ชั่วโมง) ที่ต้องการจะบวกเพิ่มให้กับชั่วโมงของโลก (Earth Hour) ซึ่งเป็นโลกที่เราทุกคนอาศัยอยู่ร่วมกัน จากสถิติในปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญและอนุสาวรีย์จากทั่วโลก ประมาณมากกว่า 17,900 แห่ง ใน 188 ประเทศที่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ การรณรงค์ดังกล่าว โดยเฉพาะในประเทศไทยมีการสำรวจแล้ว พบว่า ใน 1 ชั่วโมงของโครงการนี้เพียงวันเดียวในปีเดียวกันนี้ จะสามารถลดการใช้กระแสไฟฟ้าได้ถึง 2,002 เมกะวัตต์ ลดค่าใช้ไฟฟ้าลงจ่ายได้ถึง 7.8 ล้านบาท และสามารถลดปริมาณการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1,026 ตัน

การปลูกฝังให้ทุกคนมีจิตสำนึกร่วมกัน เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของ “ภาวะโลกร้อน หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่เราทุกคนต้องเผชิญกันอยู่ขณะนี้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งและควรต้องเร่งรีบลงมือทำ หากวันข้างหน้าสถานการณ์ภัยพิบัติเลวร้ายยิ่งขึ้น จะต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการจัดระเบียบทางสังคม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวและต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกหมู่เหล่า จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีและมีประสิทธิภาพ จึงสามารถลดการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และการบาดเจ็บของทุกคนจากภัยพิบัติได้ ถึงแม้ว่าในปีนี้หลายคนอาจจะไม่ทันร่วมรณรงค์ปิดไฟตามโครงการนี้ หรือไม่เคยทราบข่าวเลยก็ตาม อย่างไรก็ดี ทุกคนสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนหรือลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยเริ่มต้นที่ตัวเราและครอบครัวของเราก่อนให้ใช้พลังงานไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น ด้วยการไม่เปิดหลอดไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าทิ้งไว้เมื่อไม่ได้ใช้งาน สำหรับในปีต่อไป พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) จะรณรงค์ “ปิดไฟ 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน” ในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม ตั้งแต่เวลา 20.30 น. (หรือ 2 ทุ่มครึ่ง) เป็นต้นไป

ที่มา:
https://www.earthhour.org/
กรุงเทพธุรกิจ (2562). รณรงค์ 'ปิดไฟ1ชม.เพื่อลดโลกร้อน' วันนี้ช่วง 20.30-21.30น. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/831179
(เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562).
ข่าวเวิร์คพอยท์ (2562). กทม. รณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง ลดโลกร้อน 30 มี.ค.นี้ พร้อมกันกับเมืองใหญ่ทั่วโลก [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://workpointnews.com/2019/03/30/
กทม-รณรงค์ปิดไฟ-1-ชั่วโมง/ (เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562).

Earth Hour (2019a). Earth Hour Around the World [Online]. Available at: https://www.earthhour.org/earth-hour-around-world (Accessed: 1 April 2019).

Earth Hour (2019b). FAQS [Online]. Available at: https://www.earthhour.org/earthhour-faqs (Accessed: 3 April 2019).

Earth Hour (2019c). Earth Hour reports [Online]. Available at: http://awsassets.panda.org/downloads/earth_hour_2018_report.pdf (Accessed: 3 April 2019).

WWF (2010). Earth Hour รวมพลคนไทย ปิดไฟ...ให้โลกพัก ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกพร้อมกับ 126 ประเทศ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.wwf.org.co/?uNewsID=192264 (เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562).

ผู้เขียน: ดร.สุเมธ อาวสกุลสุทธิ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน