ภาพจาก http://a.abcnews.com/images/Health/AP_Aedes_Mosquito_MEM_160115_12x5_1600.jpg
เมื่อเข้าฤดูฝนทำให้มีฝนตกชุกในทุกพื้นที่ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียนหรือที่ทำงานก็ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งที่มีความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับยุงลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) จัดเป็นพาหะสำคัญที่นำเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ อย่างมากมายสู่คน และโรคที่พบบ่อยที่สุดคือ โรคไข้เลือดออก ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด ได้แก่ เด็งกี (Dengue virus) และ ชิกุนคุนยา (Chigunkunya virus) ผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ซึ่งจะมีอาการค่อนข้างรุนแรงและอาจทำให้เกิดภาวะช็อคได้ ส่วนโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อชิกุนคุนยานั้นมักไม่รุนแรงและไม่ทำให้เกิดภาวะช็อค แต่ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้มักจะมีอาการปวดตามข้อ นอกจากไวรัสเด็งกีและชิกุนคุนยาแล้วยังมีไวรัสอีกชนิดหนึ่ง คือ ไวรัสซิกา (Zika virus) ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสซิกาหรือโรคไข้ซิกาซึ่งมีลักษณะอาการคล้ายกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก แต่ไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้ จึงมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เด็กที่เกิดมานั้นมีความพิการตั้งแต่กำเนิดและมีขนาดของศีรษะที่เล็กกว่าปกติ (Microcephaly)
ภาพแสดงแบบจำลอง Dengue virus
ภาพจาก : http://www.virology.wisc.edu/virusworld/PS10/dng_dengue_virus_vmd.jpg
ภาพแสดงแบบจำลอง Chigunkunya virus
ภาพจาก : https://www.newscientist.com/article/dn24757-threatwatch-chikungunya-virus-spreads-in-the-americas/
ภาพแสดงแบบจำลอง Zika virus
ภาพจาก : https://valentinagurarie.wordpress.com/2016/03/
ปกติแล้วธรรมชาติของยุงลายนั้นจะชอบออกหากินในเวลากลางวัน เมื่อยุงลายกัดและดูดเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสดังกล่าว เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระเพาะอาหารของยุง และมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนภายในเซลล์ของยุง ในระหว่างนี้ไวรัสจะมีการแพร่กระจายเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำลายของยุงและเมื่อยุงไปกัดอีกคนหนึ่งไวรัสที่อยู่ในน้ำลายของของยุงก็จะถูกส่งผ่านไปยังบุคคลนั้นทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสได้ต่อไป
ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสจากยุงลายนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการดูแลรักษาตามอาการเป็นหลัก เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนเฉพาะสำหรับป้องกันโรคดังกล่าว โดยผู้ป่วยควรพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และทานยาตามแพทย์สั่ง นอกจากนี้ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดการแทรกซ้อนที่ไม่พึงประสงค์ด้วย อย่างไรก็ตาม วิธีป้องกันไวรัสที่มากับยุงลายที่ดีที่สุดก็คืออย่าพยายามให้ยุงกัด สวมเสื้อผ้าให้มิดชิดและทายากันยุงก็จะสามารถลดความเสี่ยงของการโดนยุงลายกัดได้ อีกทั้งยังควรกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อเป็นการตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ซึ่งเป็นการควบคุมยุงลายให้มีจำนวนน้อยลงและป้องกันโรคติดเชื้อจากไวรัสที่มากับยุงลายให้ห่างไกลจากตัวคุณและคนที่คุณรัก
แหล่งที่มาข้อมูล :
http://www.med.cmu.ac.th/HOME/file/5509Dengue.pdf
http://www.pidst.net/A234.html
http://www.ekachaihospital.com/zika-virus/
เรียบเรียงโดย : นายชนินทร์ สาริกภูติ