ช่วงหน้าฝนปลายเดือนกันยายนปี 2562 ผู้เขียนได้รับโอกาสในการเข้าร่วมจัดกิจกรรม “นักธรรมชาติวิทยารุ่นเยาว์” โดยพิพิธภัณธ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เด็กๆนักธรรมชาติวิทยารุ่นเยาว์และนักธรรมชาติวิทยารุ่นพี่ร่วมสำรวจสิ่งมีชีวิต ณ ทุ่งนาข้าว บริเวณทุ่งหลวงรังสิต ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ผู้เขียนซึ่งขณะนั้นรับผิดชอบกลุ่มแพลงก์ตอน ยังจำได้ดีถึงน้ำคลองในวันนั้นที่แทบทั้งหมดมีสีน้ำตาลขุ่นและมีกลิ่นคาวผิดปกติไม่เหมือนน้ำคลองทั่วไป และเมื่อนำตัวอย่างน้ำคลองกลับมาตรวจสอบขั้นต้นโดยการมองผ่านกล้องจุลทรรศน์ภายในห้องปฏิบัติการก็พบว่าตัวการที่ทำให้น้ำมีสีและกลิ่นดังกล่าวคือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆที่เรียกว่า ยูกลีน่า
ยูกลีน่า (Euglena) หรือแมลงเขียวในภาษาญี่ปุ่น (Midorimushi; midori=green, mushi=insect) เป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มโพรติสต์ที่มีลักษณะสำคัญคือเป็นยูคาริโอติกเซลล์ ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากเซลล์เพียงเซลล์เดียว หรือหลายเซลล์ ซึ่งไม่มีการจัดเรียงตัวเป็นเนื้อเยื่อ ปัจจุบันยูกลีน่าเป็นสกุลหนึ่งในไฟลัมยูกลีโนซัว มีลักษณะสำคัญประจำสกุลคือ รูปทรงกระสวย หน้าป้าน ท้ายเรียว มีแส้เซลล์ 2 เส้นอยู่ด้านหน้า ขยายพันธุ์โดยการแบ่งเซลล์ และเนื่องจากเซลล์ยูกลีน่ามีคลอโรพลาสต์จึงทำให้ยูกลีน่าดำรงชีวิตได้ทั้งแบบสร้างอาหารเองได้ (autotroph) และบริโภคสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหาร (heterotroph) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมโดยเฉพาะแสง ด้วยลักษณะในการสร้างอาหารเองได้นี่เอง ยูกลีน่าจึงเคยถูกจัดเป็นสาหร่ายสีเขียวประเภทหนึ่งก่อนที่จะแยกตัวออกมาเป็นไฟลัมใหม่ จากฐานข้อมูลในปัจจุบัน ยูกลีน่ามีทั้งหมดมากกว่า 100 ชนิดและแทบทั้งหมดพบในน้ำจืด ยูกลีน่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างยิ่งจากการเป็นผู้ผลิตเบื้องต้นและยังสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซต์จากชั้นบรรยากาศในกระบวนการสังเคราะห์แสงจึงช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย นอกจากนี้ยูกลีน่ายังมีคุณค่าทางอาหารสูง โดยประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด รวมทั้งกรดอะมิโนและกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย จึงมีความพยายามของนักวิจัยที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากยูกลีน่า
สำหรับการพบปรากฏการณ์ยูกลีน่าบลูม (Euglena bloom) ในบริเวณทุ่งหลวงรังสิตนั้น ผู้เขียนและนักธรรมชาติวิทยารุ่นเยาว์ยังไม่ได้ศึกษาต่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใดและมีผลทำให้คุณภาพน้ำคลองเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างนอกจากทำให้สีและกลิ่นของน้ำไม่เป็นที่พึงประสงค์ รวมทั้งยังไม่มีรายงานว่ายูกลีน่าสร้างสารเคมีที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามข้อควรระวังต่อสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้คือเมื่อปรากฏการณ์ยูกลีน่าบลูมสิ้นสุดลง ยูกลีน่าปริมาณมากก็จะถูกย่อยสลายตามธรรมชาติซึ่งกระบวนการย่อยสลายนี้ส่วนหนึ่งเป็นกระบวนการใช้ออกซิเจน จึงอาจมีผลให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำคลองลงลงอย่างรวดเร็วซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้ ดังนั้นการศึกษาและเฝ้าระวังปรากฏการณ์ยูกลีน่าบลูม เช่น การติดตามภายหลังการบลูมว่ามีสัตว์น้ำตายจำนวนมากหรือไม่ รวมทั้งการเปรียบเทียบการบลูมในแต่ละฤดูกาลหรือช่วงเดือนว่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร อาจช่วยทำให้หารูปแบบและสาเหตุของการบลูมเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของคนในท้องถิ่นได้
ผู้เรียบเรียง: สุทธิกาญจน์ สุทธิ
ที่มาของแหล่งข้อมูล:
https://www.algaebase.org/search/genus/detail/?genus_id=43651&sk=0
http://www.ipecp.ac.th/ipecp/cgi-binn/BP1/Program/chapter7/p8_3.html
https://www.itis.gov/servlet/SingleRpt/SingleRpt?search_topic=TSN&search_value=9620#null
https://www.sciencedirect.com/topics/agricultural-and-biological-sciences/euglenozoa