เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2021 Kowalski ได้รายงานใน Science News for Students ว่า การนั่งเฉย ๆ เป็นเวลานานอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) นับตั้งแต่ปลาย ค.ศ. 2019 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลต่อทุกๆ คนที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เรียนผ่านระบบออนไลน์ ทำงานที่บ้าน (Work from Home) และการใช้จ่ายต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ทำให้การพบปะพูดคุย เดินทาง รวมถึงการทำกิจกรรมร่วมกันลดลงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและการติดเชื้อโควิด-19 จึงทำให้คนส่วนใหญ่นั่งอยู่กับที่มากกว่าขยับเขยื้อนร่างกาย
Jacob Barkley นักวิทยาศาสตร์การกีฬาจาก Kent State University แห่งรัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ ได้สำรวจข้อมูลการออกกำลังกายของนักศึกษาและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย 398 คนในช่วงก่อนและหลังการปิดภาคเรียนในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา พบว่าส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการออกกำลังกายเปลี่ยนไป โดยมีแนวโน้มการออกกำลังกายลดลงและนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่นเดียวกับผลการสำรวจประชาชนชาวบราซิลจำนวน 937 คนในช่วงการกักตัว จากวารสาร Psychiatry Research ฉบับเดือนตุลาคมค.ศ. 2020 พบว่า พวกเขาอยู่บ้านมากกว่าออกไปข้างนอก ยกเว้นการไปซื้อหาอาหารเท่านั้น และส่วนใหญ่นั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานกว่า 10 ชั่วโมง ซึ่งส่งผลต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า
จากผลการสำรวจทั้งสองต่างชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ สุขภาพ และภาวะซึมเศร้า เช่นเดียวกับผลการสำรวจเยาวชน 4,257 คน ในช่วงอายุ 12 14 และ 18 ปี จากวารสาร Lancet Psychiatry ฉบับเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 จากการศึกษาพฤติกรรมของเด็กนักเรียนอายุ 12 ปี ในช่วงการกักตัว พบว่าพวกกเขานั่งอยู่กับที่ยาวนานกว่า 8 ชั่วโมงมีเวลาพักขยับเขยื้อนเพียง 43 นาที และออกกำลังกายเพียง 80 นาที ส่งผลทำให้หงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ และทำให้ซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า การนั่งเป็นเวลานานอาจไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะซึมเศร้า เพราะอาจขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่อาจมีสภาพจิตใจที่หดหู่หรือผิดหวังที่ต้องเผชิญในสถานการณ์การระบาดของโรค แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนั่งนาน ๆ ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปยังสมองได้ และอาจส่งผลต่อปฏิกิริยาเคมีที่ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทในสมองได้ รวมถึงปัญหาการนอนไม่หลับและการรับประทานอาหารขยะมากจนเกินไป จนส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน หรือนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ นอกจากนี้รายงานในวารสาร the Journal of Affective Disorder กล่าวถึงการนั่งเป็นเวลานานจนเกินไปส่งผลต่อการจดจำ เนื่องจากปัญหาการไหลเวียนโลหิตไปยังสมองเช่นกัน
ฉะนั้น การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เป็นประจำ จะส่งผลดีต่อการทำงานของสมองและการจดจำ และยังส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ จากคำแนะนำจาก the British Journal of Sports Medicine เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020
ผู้เขียน วิลาสินี ไตรยราช
เอกสารอ้างอิง
Kowalski, K (2021). Too much sitting could hurt your mental health. Available from:
https://www.sciencenewsforstudents.org/article/too-much-sitting-could-hurt-mental-health. [Accessed 19 April 2021].