งานวิจัยล่าสุดพบว่า ผู้ที่มีการออกกำลังกายตั้งแต่ระดับหนักพอดีไปจนถึงระดับหนักอย่างสม่ำเสมอในช่วงวัยกลางคน (อายุ 35-50 ปี) มักจะไม่ค่อยพบอาการ
ของภาวะสมองเสื่อมในวัยสูงอายุ ผลจากงานวิจัยซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเกี่ยวกับประสาทวิทยา (Neurology) แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมทางกายหรือการเคลื่อนไหว
ร่างกายอาจมีผลต่อสุขภาพที่ดีของสมอง โดยหัวหน้าทีมวิจัย ดร. พริยา พัลตา (Dr PriyaPalta) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ชี้แจงว่า กิจกรรมทางกายที่ระบุในงานวิจัยนั้นหมายถึง การออกกำลังกายของคนวัยกลางคนในระดับหนักพอดีไปจนถึงระดับหนัก อย่างเช่นการวิ่ง
เดินเร็ว หรือปั่นจักรยาน อย่างน้อย 1 ชั่วโมง 15 นาที (75 นาที) ต่อสัปดาห์ อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปริมาณการออกกำลังกายในระดับดังกล่าวมากกว่า 2 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์
หรือเฉลี่ยอาทิตย์ละ 5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป มักจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกาย
ทีมนักวิจัยได้สำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างช่วงวัยกลางคน จำนวน 1,604 ราย อย่างต่อเนื่องรวม 25 ปี โดยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการออกกำลังกาย ร่วมกับการทดสอบสมรรถภาพ
ทางร่างกายของผู้เข้าร่วมงานวิจัยเป็นระยะๆ และสุดท้ายตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า(MRI : Magnetic Resonance Imaging) เพื่อประเมินรอยโรค ส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือบริเวณที่มีความผิดปกติ
ในสมองของผู้เข้าร่วมทดสอบแต่ละราย ซึ่งผลจากการสำรวจสามารถจำแนกผู้เข้าร่วมเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มคนที่ไม่ได้ออกกำลังกายเลย กลุ่มที่ออกกำลังกายปริมาณน้อย
ปริมาณปานกลางหรือพอดี และปริมาณสูง โดยกลุ่มที่ไม่ได้ออกกำลังกายในช่วงวัยกลางคนนั้น มีโอกาสที่จะพบส่วนของสมองที่ถูกทำลายหรือผิดปกติในวัยสูงอายุมากกว่ากลุ่มที่ออกกำลังกาย
ระดับหนักพอดีไปจนถึงระดับหนักเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ข้อสรุปนี้มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากอาศัยข้อมูลจากการรายงานพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นหลัก
ประกอบกับการที่ยังไม่ได้นำกิจกรรมทางกายอื่น ๆ นอกเหนือจากการออกกำลังกายในยามว่าง อย่างเช่น การทำงานที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เข้ามาร่วมวิเคราะห์ด้วย
ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้
อย่างไรก็ตาม ดร. ซารา อิมาริสิโอ (Dr Sara Imarisio) หัวหน้าสำนักวิจัยเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ ประเทศสหราชอาณาจักร ได้ให้ความเห็นว่า งานวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับข้อสนับสนุนอื่น ๆ
ที่บ่งชี้ว่า การออกกำลังกายเป็นวิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่งในการดูแลสุขภาพสมอง ถึงแม้ยังไม่สามารถยืนยันถึงวิธีการป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้อย่างชัดเจน แต่หลักฐานต่าง ๆ ที่เรามีในปัจจุบัน
ก็เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า การออกกำลังกาย และการบริหารสมองหรือใช้ความคิดอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ตลอดจนการควบคุมน้ำหนัก
ระดับคอเลสเตอรอล และความดันโลหิตให้เหมาะสม นั้น ต่างเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการดูแลสุขภาพสมองในระยะยาว
ผู้เขียน แก้วนภา โพธิ
ศูนย์ข้อมูลข่าสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)
https://www.sciencefocus.com/news/extra-exercise-in-midlife-could-protect-the-brain-in-later-life/
ค้นคว้าเพิ่มเติม (แนะนำแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม)
https://n.neurology.org/content/early/2021/01/06/WNL.0000000000011375