หากมหาสมุทรแปซิฟิกไร้ขยะ!

หากมหาสมุทรแปซิฟิกไร้ขยะ!

29-04-2022
หากมหาสมุทรแปซิฟิกไร้ขยะ!

รู้หรือไม่? หากเราปล่อยให้สถานการณ์ขยะในท้องทะเลดำเนินต่อไป 
ในอีกราว 30 ปีข้างหน้า พลาสติกจะมีมากกว่าปลาในมหาสมุทร

ทุกวันนี้เราต้องพึ่งพามหาสมุทรในฐานะแหล่งโปรตีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคนถึงสามพันล้านคนบริโภคอาหารจากท้องทะเล แต่ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกปี กว่า 8ล้านตัน และมีขยะเพียง9% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล 12% ถูกเผาเป็นเถ้า และอีก 79% 
ใช้ในการถมพื้นที่หรือคงตกค้างอยู่ในธรรมชาติ ขยะที่ลอยปะปนจำนวนมหาศาลสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มากไปกว่านั้น นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าพลาสติกที่ลอยอยู่ในแหล่งน้ำ สามารถแตกตัวกลายเป็นเศษขยะขนาดเล็กหรือที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก 

โบยัน สลัต (Boyan Slat) หนุ่มน้อยในวัย 19ปี ก่อตั้งมูลนิธิไม่แสวงหากำไรนาม “โอเชียน คลีนอัพ” (Ocean Cleanup) เมื่อ พ.ศ.2556 เขาตั้งเป้าหมายในการทำความสะอาดมหาสมุทร โดยการกำจัดขยะพลาสติกที่เป็นอันตรายด้วยสิ่งประดิษฐ์ที่ดักจับสิ่งปฏิกูล
ไอเดียที่อหังการนี้เกิดขึ้นเมื่อฤดูร้อน พ.ศ.2554 เขาดำน้ำในทะเลประเทศกรีซ และพบถุงพลาสติกลอยอยู่มากกว่าปลาที่แหวกว่ายอยู่ในน้ำ โบยันพยายามมองหาคำตอบให้กับปัญหา จนในที่สุด ความคิดหนึ่งผุดขึ้นในใจ “แทนที่จะไล่เก็บขยะในทะเลเวิ้งว้าง
เหตุใด ไม่ให้กระแสน้ำพัดพาเอาสิ่งตกค้างเหล่านั้นมาหาเรา” ในที่สุด พ.ศ. 2557 เขาสามารถระดมทุนผ่านระบบคราวด์ (crowd funding) สูงถึง 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐ สิ่งปฏิกูลที่โอเชียนคลีนอัพต้องการขจัดจากท้องทะเล เช่น อวนจับปลาที่ไม่ได้ใช้งาน
วัตถุที่มีส่วนประกอบของพลาสติก และไมโครพลาสติก  มูลนิธิวางเป้าหมายในการสร้างสถานีที่มีความยาวทุ่นถึง100กิโลเมตร เพื่อดักจับขยะได้ถึง 1.8 ตันในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยติดตั้งระหว่างแคลิฟอร์เนียกับฮาวาย บริเวณดังกล่าวได้รับการขนานนามว่าเป็น
“หลุมขยะขนาดมหึมาในแปซิฟิก”(Great Pacific Garbage Patch) เครื่องมือนี้จะไม่รบกวนชีวิตใต้ท้องทะเล 

 

สิ่งปฏิกูลเหล่านั้นจะถูกแปรสภาพเป็นแหล่งพลังงานทางเลือก โดยใช้กระบวนการรีไซเคิล 3 รูปแบบ

- การรีไซเคิลเชิงกล (mechanical recycling) พลาสติกที่ผ่านการใช้งานมาหลอมเป็นเม็ดพลาสติกเพื่อนำกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนำมาผสมกับเม็ดใหม่ก่อนนำไปขึ้นรูป

- การรีไซเคิลเชิงเคมี (chemical recycling) ด้วยการปรับปรุงโดยวิธีการทางเคมี ให้เม็ดรีไซเคิลมีลักษณะใกล้เคียงกับเม็ดพลาสติกใหม่

- การรีไซเคิลเชิงชีวภาพ (biological recycling)อาศัยกระบวนการชีวภาพด้วยการหมักเพื่อให้พลาสติกย่อยสลาย และนำไปผ่านกระบวนการเชิงกลต่อไป

โบยันกล่าวถึงพลาสติกที่ผ่านการรีไซเคิล “ขยะเล่านั้นจะกลายเป็นสินค้าชั้นดีในท้องตลาด เพียงไม่กี่ปีหลังจากนี้ เมื่อทุ่นดักจับขยะทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ผลตอบแทนจากขยะจะคุ้มค่ากับการลงทุน”

Hawaiian

 

เมื่อต้นเดือนตุลาคม พ.ศ.2562 มีการรายงานข่าวความสำเร็จในการทดลองกวาดสิ่งปฏิกูลในมหาสมุทรแปซิฟิก ขยะเหล่านั้นมีขนาดใหญ่กว่าประเทศฝรั่งเศสถึงสามเท่า
โบยันหวังไว้ในอนาคตในการขยายขนาดของชิ้นงานให้สามารถเก็บกักสิ่งปฏิกูลได้ยาวนานถึงหนึ่งปีหรือกว่านั้น ก่อนการรวมรวมเพื่อนำมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลต่อไป
สุดท้ายการสร้างสรรค์นวัตกรรมเช่นนี้อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย เพราะความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติจะไม่ลดน้อยถอยลงถึงเพียงนี้ หากมนุษย์ผู้ได้รับประโยชน์จากธรรมชาติตระหนักและรู้เท่าทันถึงสาเหตุ
และยับยั้งไม่ให้เกิดความเสียหายตั้งแต่ต้นมือ.

 

ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

 

ค้นคว้าเพิ่มเติม

https://theoceancleanup.com

 

ภาพประกอบ 

ภาพ1: Shutterstock ID: 1074166649

ภาพ 2: https://enacademic.com/dic.nsf/enwiki/883377 [2 December 2019].

 

แหล่งค้นคว้าข้อมูล 

Boffey, Daniel. Ocean cleanup device successfully collects plastic for fist time [online]. 2019, https://www.theguardian.com/environment/2019/oct/03/ocean-cleanup-device-successfully-collects-plastic-for-first-time[2 December 2019].

Julius Bär Foundation. The Ocean Cleanup Pacific Ocean[online]. 2019,  https://www.juliusbaer.com/fileadmin/user_upload/your-private-bank/discover-julius-baer/foundation/documents/partners/EN/JBF_Factsheet_The_Ocean_Cleanup_Pacific.pdf[2 December 2019].

Slat, Boyan. How the oceans can clean themselves: a feasibility study. 2014. Delft: The Ocean Cleanup.